จากเวปไซต์พูลตาหลวงไฮโดร์โพนิกส์
โดย ดร.ยงยุทธ เจียมไชยศรี
ไนเตรทเป็นอนุมูลที่พบเสมอทั้งผักที่ปลูกในดินและผักไฮโดรโพนิกส์ในปริมาณที่ไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ ผักไฮโดรโพนิกส์ถูกเพ่งเล็งในเรื่องนี้เพราะปุ๋ยไนโตรเจนของผักไฮโดรโพนิกส์อยู่ในรูปไนเตรททั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ส่วนผักที่ปลูกในดินได้รับปุ๋ยในรูปอื่นด้วย เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียม ยูเรีย และสารอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ที่จริงแล้วผักในดินก็ได้ปุ๋ยไนโตรเจนส่วนใหญ่ในรูป ไนเตรทเช่นกัน เพราะในที่สุดจุลินทรีย์ในดิน (Nitrosomonas spp. และ Nitrobacter spp.) จะเปลี่ยนแอมโมเนียมไปเป็นไนเตรท เมื่อไม่นานมานี้มีบทความที่แสดงให้เห็นว่ามีไนเตรทตกค้างอยู่มากในผักบุ้งและผักคะน้าที่ปลูกในระบบไฮโดรโพนิกส์ แต่ไม่ได้กล่าวถึงสภาพของการปลูกและความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหาร
ไนเตรทเป็นปุ๋ยไนโตรเจนหลักที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการเปลี่ยนไปเป็นไนไตรท์โดยใช้เอนไซม์ไนเตรทรีดักเตสที่มีโมลิบดีนัมเป็นส่วนประกอบหรือเป็นโคแฟคเตอร์ ไนไตรท์จะถูกเปลี่ยนแปลงอีกสามขั้นตอนโดยใช้เอนไซม์อีกสามชนิดแล้วเป็นแอมโมเนีย แอมโมเนียจะถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนประกอบของกลูตามีนที่เป็นสารอินทรีย์ ต่อมาไนโตรเจนจะเข้าไปอยู่ในสารสำคัญที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบชนิดต่างๆ ของเซลล์พืช จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าไนเตรทเป็นแหล่งไนโตรเจนที่สำคัญและน่าจะถูกทดแทนได้ด้วยแอมโมเนียม เพราะไนเตรทถูกเปลี่ยนไปเป็นแอมโมเนียม แต่ตามความเป็นจริงแล้วแอมโมเนียมทดแทนไนเตรทได้เพียงบางส่วนที่เป็นส่วนน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในกรณีของผักสลัด พืชดูดซึมแอมโมเนียมได้ดี ดังนั้นถ้ามีแอมโมเนียมมากพืชจะดูดซึมแอมโมเนียมเข้าไปมากเกินกว่าที่พืชจะใช้ประโยชน์ได้ทัน ทำให้มีแอมโมเนียมในเนื้อเยื่อมากจนถึงขั้นเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อของพืช ในสภาพที่มีแอมโมเนียมอยู่ในสารละลายปลูกเลี้ยง การดูดซึมไนเตรทจะลดลง การมีแอมโมเนียมในสารละลายปลูกเลี้ยงมากในกรณีของผักสลัด นอกจากจะทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อพืชแล้ว ยังทำให้รากไม่หนาแน่น รากอ่อนแอและผักเติบโตแบบไม่ได้น้ำหนักอีกด้วย เมื่อพืชดูดซึมแอมโมเนียม พืชจะปล่อยกรดออกมาแลกเปลี่ยน ถ้ามีแอมโมเนียมมากพืชจะปล่อยกรดออกมามากจนถึงขั้นทำให้รากเสียความเป็นกรดของผิวรากที่สานกันแน่น การลดการดูดซึมไนเตรทโดยใช้แอมโมเนียมหรือยูเรียจึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและต้องพิจารณาถึงชนิดของพืชด้วยว่าต้านทานผลเสียได้มากน้อยเพียงใด ผู้เขียนเคยทดลองเติมยูเรียทีละน้อยในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดผลเสีย (ยกเว้นความหนาแน่นของรากลดลงเล็กน้อย) ปรากฏว่าวิธีนี้ลดไนเตรทในผักคอสได้ประมาณ 20%
นอกจากการลดไนเตรทโดยการลดการดูดซึมไนเตรท เช่น การใช้สารละลายปลูกเลี้ยงเจือจาง, การใช้น้ำเปล่า และการใช้แอมโมเนียมหรือยูเรียแล้ว เราอาจต้องพิจารณาทางด้านการเพิ่มความคล่องตัวของการนำไนเตรทไปใช้ประโยชน์ด้วย การจัดการทางด้านความคล่องตัวของการนำไนเตรทไปใช้ประโยชน์นั้น ได้พบว่าพืชจำเป็นต้องได้รับโมลิบดีนัมในปริมาณที่เพียงพอเพื่อให้เอนไซม์ไนเตรทรีดักเตสทำงานได้เต็มที่ การเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้ประโยชน์จากไนเตรทใช้พลังงานจากแสงมาก การได้รับแสงแดดเพียงพอจึงเป็นปัจจัยหนึ่งในการลดปริมาณไนเตรท ประเทศไทยมีแสงเข้มกว่าและมีวันที่ยาวกว่าบางฤดูในต่างประเทศ เราน่าจะมีปัญหาน้อยทางด้านการตกค้างของไนเตรท ถ้าเราจัดการทางด้านแสงให้ดีขึ้น
จากการบรรยายข้างต้นพอจะเห็นได้ว่าการจัดการเพื่อลดการตกค้างของไนเตรทในผักอาจทำได้ดังนี้
1. การเลี้ยงผักในน้ำเปล่าก่อนการเก็บเกี่ยว 2-3 วัน วิธีนี้เป็นคำแนะนำที่พบอยู่เสมอ แต่ในการปฏิบัติจริงอาจมีปัญหาอยู่บ้าง การใช้น้ำเปล่าจะไม่ลดไนเตรทอย่างมีนัยสำคัญใน 12 ชั่วโมงแรก การปลูกเลี้ยงผักในน้ำเปล่าเป็นเวลานานกว่านั้นอาจทำให้มีปัญหาทางด้านคุณภาพผักอยู่บ้าง ผักอาจแสดงอาการขาดธาตุอาหารรอง เช่น ใบคะน้าอาจเปลี่ยนสีไป ถ้าจะใช้วิธีนี้ควรเติมเหล็กและธาตุอาหารรองอื่น ๆ ให้มีความเข้มข้นที่ใกล้เคียงกับที่มีอยู่ในสารละลายธาตุอาหารเดิมที่เคยใช้ปลูกเลี้ยง
2. การเลี้ยงผักในสารละลายปุ๋ยเจือจางก่อนเก็บผักหนึ่งสัปดาห์ ในวิธีนี้อาจใช้สารละลายธาตุอาหารที่มีความเข้มข้น 1 ใน 4 ของความเข้มข้นที่เคยใช้ ถ้าจะใช้วิธีการนี้ควรเติมเหล็กและธาตุอาหารรองอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ความเข้มข้นที่ใกล้เคียงกับที่มีอยู่ในสารละลายธาตุอาหารเดิม
3. การเก็บผักในเวลาบ่ายของวันที่มีแดดดี จากผลการทดลองที่มีอยู่ในเอกสารได้พบว่าผักที่เก็บตอนบ่ายของวันที่มีแดดดี มีไนเตรทต่ำกว่าผักที่เก็บตอนเช้าของวันที่ไม่มีแดด 15-20% การที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากพืชดูดซึมไนเตรททั้งกลางวันและกลางคืน แต่การใช้ประโยชน์ของไนเตรทเกิดขึ้นในเวลากลางวันที่มีแสงแดด
4. การจัดการให้พืชได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ การจัดการเช่นนี้ทำให้พืชนำไนเตรท ไปเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ในการทำให้พืชได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอควรพิจารณารวมไปถึงการแก้ไขความหนาแน่นของการปลูกที่อาจทำให้ผักบังแดดซึ่งกันและกันด้วย
5. การเติมแอมโมเนียมโมลิบเดทหรือโซเดียมโมลิบเดทลงไปในสายละลายธาตุอาหารจนได้ปริมาณของโมลิบดีนัมที่เพียงพอที่จะทำให้พืชเปลี่ยนแปลงไนเตรทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปโมลิบดีนัมในระดับที่คิดตามสูตรมาตรฐานประมาณ 0.15 ppm ถึง 0.25 ppm เป็นระดับที่เหมาะสม ในสภาพการปลูกเลี้ยงในปัจจุบันที่มีทองแดงในสารละลายธาตุอาหารค่อนข้างสูงและมี pH ค่อนข้างสูงกว่าในอดีต (pH 6 ถึง pH 6.5) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่ปลูกเลี้ยงด้วยสารละลายธาตุอาหารที่มี EC ต่ำในช่วงท้าย เช่นในการปลูกเลี้ยงผักสลัดที่ EC 1.2 ซึ่งจะทำให้ความเข้มข้นของโมลิบดินัมอยู่ในช่วงประมาณ 0.08 ppm ถึง 0.13 ppm ปริมาณแอมโมเนียมโมลิบเดทที่เติมลงในชุดสารละลาย เช่น สูตรของคูเปอร์ที่ใช้แคลเซียมไนเตรท 1 กิโลกรัม ควรอยู่ในช่วง 1/3 ถึง 1/2 กรัม โดยที่เติมไว้ในสารละลาย B ในกรณีที่ใช้นิคสเปรย์ซึ่งมีโมลิบดินัมค่อนข้างต่ำเป็นแหล่งของธาตุอาหารรอง การใช้โซเดียมโมลิบเดทในช่วง 1/3 ถึง 1/2 กรัมก็ใช้ได้เพราะเปอร์เซนต์โมลิบดินัมในโซเดียมโมลิบเดทต่ำกว่าในแอมโมเนียมโมลิบเดทไม่มากนัก การชั่งสารเหล่านี้ควรทำด้วยความระมัดระวังเพราะช่วงความเข้มข้นของโมลิบดินัมจากระดับที่เพียงพอถึงระดับที่เป็นพิษต่อพืชค่อนข้างแคบ แอมโมเนียมโมลิบเดทในระดับ 1 กรัมต่อสารละลายธาตุอาหาร 1 ชุดอาจเป็นพิษต่อพืชได้ถ้าปลูกเลี้ยงที่ pH ต่ำหรือ pH ต่ำลงไปเองจากผลของการใช้แอมโมเนียม เช่น การปลูกผักจีน ผักอาจมีขอบใบขาวในบริเวณที่เส้นใบบรรจบกับขอบใบโดยเฉพาะอย่างยิ่งผักฮ่องเต้
6. การดัดแปลงสูตรสารละลายธาตุอาหารให้มีไนเตรทต่ำลง การทดลองใช้สูตรสารละลายธาตุอาหารที่มีไนเตรทต่ำลง 1ใน 3 ให้ผลที่เป็นการลดปริมาณไนเตรทตกค้างได้ แต่การเจริญเติบโตจะลดลงเหลือ 60-80 % ในสภาพที่มีแสงดี ส่วนในสภาพที่มีแสงน้อยการเจริญเติบโตลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับชุดควบคุมที่ปลูกในสภาพเดียวกัน วิธีนี้จึงควรได้รับการพิจารณานำมาใช้ในสภาพที่มีแสงน้อยเท่านั้นและควรใช้ด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียมากนัก
7. การดัดแปลงสูตรสารละลายธาตุอาหารให้มีไนโตรเจนจากไนเตรทน้อยและจากแอมโมเนียม มาก วิธีนี้มีอยู่ในเอกสารต่างประเทศที่เสนอให้ใช้สารละลายธาตุอาหารที่มีไนโตรเจนจากไนเตรท : ไนโตรเจนจากแอมโมเนียมเท่ากับ 1 : 3 เป็นเวลา 4-5 วันก่อนเก็บเกี่ยว การใช้แอมโมเนียมไนโตรเจนแทนไนเตรทไนโตรเจนถึง 3 ใน 4 เช่นนี้เขากล่าวว่าลดไนเตรทตกค้างได้เกือบครึ่งถึงเกินครึ่งแล้วแต่ชนิดของพืช ผู้เขียนมีความเห็นว่าไม่น่าจะทำได้โดยไม่มีผลเสียในประเทศไทยที่มีอากาศร้อน แอมโมเนียมในระดับสูงขนาดนี้น่าจะทำให้เกิดปัญหาทั้งที่รากและที่ใบ
8. การเติมเกลือแอมโมเนียมหรือยูเรีย (ในกรณีที่ใช้ยูเรียควรใช้ชนิดที่มีไบยูเรตต่ำ) ลงไปทีละน้อย สารเหล่านี้ลดการดูดซึมไนเตรทแต่ไม่ทำให้ผักขาดไนโตรเจน เพราะตัวสารเหล่านี้เป็นแหล่งไนโตรเจนที่มาทดแทน ผู้เขียนเคยทดลองเติมยูเรียทีละน้อยทุกๆ 2 วันในปริมาณที่สามารถรักษาระดับ pH ที่เหมาะสมไว้ได้โดยไม่ต้องเติมกรดตั้งแต่เริ่มลงรางปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เพราะผักจะปล่อยกรดออกมาเมื่อได้รับแอมโมเนียมหรือยูเรีย ผักคอสที่ได้มีไนเตรทต่ำกว่าผักจากรางเปรียบเทียบที่ใช้ไนเตรทที่มีความเข้มข้นเท่ากันประมาณ 20 % ผักในกลุ่มทดลองเติบโตดีพอๆ กัน แต่มีระบบรากบางกว่าเล็กน้อย การลดไนเตรทอาจไม่ต้องเริ่มทำตั้งแต่เริ่มปลูก ถ้าเริ่มก่อนเก็บเกี่ยว 1 สัปดาห์ก็น่าจะเพียงพอ
9. การปลูกเลี้ยงผักในสารละลายที่มี EC จากสูงมาหาต่ำ วิธีนี้เป็นวิธีการปลูกเลี้ยงผักเพื่อให้ได้ผักที่อร่อยที่ใช้อยู่ในกลุ่มของคุณอรรถพร สุบุญสันต์และผู้เขียน การใช้สารละลายธาตุอาหารที่ค่อนข้างเจือจางในช่วงท้ายทำให้ได้ผลดีทางด้านการลดไนเตรทตกค้างตามมาด้วย วิธีการนี้ประกอบด้วยการปลูกเลี้ยงต้นกล้าตั้งแต่งอกจนถึงการย้ายปลูกที่ EC สูง และแดดมากเป็นเวลา 2 สัปดาห์ครึ่งสำหรับผักสลัด ต่อจากนั้นย้ายไปลงรางปลูกเลย กลุ่มของเรามักไม่ใช้รางอนุบาล ผู้เขียนใช้รางอนุบาลในการปลูก rocket EC ของสารละลายของธาตุอาหารของโต๊ะเพาะกล้าอยู่ที่ 1.8 (ฤดูร้อน) ถึง 2 (ฤดูหนาว) เมื่อลงรางปลูกจะเริ่มเลี้ยงที่ EC 1.8 แล้วลดลงตามลำดับไปเป็น 1.2 ในสัปดาห์สุดท้าย ส่วนคะน้าอาจใช้ EC เท่ากับผักสลัดใน 7 วันแรกเพราะมักจะฝากไว้กับโต๊ะเพาะกล้าผักสลัด ต่อจากนั้นปลูกลงที่ EC 3.5 เป็นเวลา 15 วัน ตามมาด้วยการปลูกเลี้ยงที่ EC 3 อีก 10 วันแล้วลด EC ลงเหลือ 2.5 ช่วงนี้จะเติมเหล็กและธาตุอาหารรองอื่นๆที่ใช้ในการเตรียมสารละลายธาตุอาหารเพิ่มลงไป เมื่อใกล้เก็บเกี่ยวลด EC ลงตามลำดับและไปจบที่ 2 ช่วงนี้ก็ต้องเสริมเหล็กและธาตุอาหารรองเช่นกัน ผักสลัดและผักคะน้าที่ปลูกโดยวิธีนี้เติบโตดีรสชาติดีไม่แข็งกระด้าง เนื่องจากสารละลายปลูกเลี้ยงเจือจางในช่วงท้าย ธาตุอาหารรองซึ่งมีความสำคัญมากจะเจือจางตามไปด้วย จึงขอเสนอแนะให้เติมแต่งเหล็ก DTPA และธาตุอาหารรองผสมรวมสำเร็จรูปที่เติมแอมโมเนียมโมลิบเดทแล้ว เพื่อความสะดวกอาจเตรียมสารละลายเติมแต่ง ที่ประกอบด้วยสารดังกล่าวในรูปสารละลายเข้มข้นไว้เติมลงไปยังสารละลายปลูกเลี้ยงในช่วงท้าย วิธีการลดความเข้มข้นของสารละลายปลูกเลี้ยงลงตามลำดับเช่นนี้ไม่เหมาะสำหรับ rocket เพราะสารละลายธาตุอาหารที่เจือจางลงจะทำให้กลิ่นรสจางลงด้วย เนื่องจาก rocket ชอบแอมโมเนียม ควรใช้วิธีการเติมแอมโมเนียมเพื่อลดการดูดซึมไนเตรทแทน
เพื่อการลดปริมาณไนเตรทที่ตกค้างในผักไฮโดรโพนิกส์ ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ท่านพยายามใช้หลายวิธีรวมกันตามที่สามารถทำได้ เช่น ใช้การจัดการด้านแสง การเติมโมลิบดินัมให้พอเพียง และการปลูกเลี้ยงที่ EC สูงมาหาต่ำรวมกันเป็นต้น เมื่อมีการจัดการที่ดี ผู้เขียนคาดว่าปริมาณไนเตรทตกค้างในผักไฮโดรโพนิกส์น่าจะต่ำกว่าที่เคยวิเคราะห์กันมา