สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนไทยในปัญหาน้ำท่วม

จาก โพสต์ทูเดย์

เดือน ต.ค.นี้ ถ้านับตามแบบไทยหรือจันทรคติก็จะเป็นเดือน 11 ซึ่งคนไทยตั้งแต่โบราณก็ต้องเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องน้ำนี้เป็นอย่างดี.....

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

"เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง ถึงเดือนอ้ายเดือนยี่น้ำก็รีไหลลง"

*******************

เดือน ต.ค.นี้ ถ้านับตามแบบไทยหรือจันทรคติก็จะเป็นเดือน 11 ซึ่งคนไทยตั้งแต่โบราณก็ต้องเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องน้ำนี้เป็นอย่างดี ว่าพอถึงเดือนนี้น้ำก็ต้องมากหรือ “นอง” เป็นปกติ แต่มาปีนี้ เดือน 11 กลับเป็นเดือนที่คนไทยในหลายๆ จังหวัดต้องทุกข์ทรมาน เพราะน้ำนองจนผิดปกติ และนองไปในภูมิภาคที่ไม่เคยนองมาก่อน อย่างโคราชและชัยภูมิ ซึ่งเป็นที่ราบสูง

คนไทยแต่ไหนแต่ไรเป็นคนอารมณ์ดี มักจะมองโลกในแง่ดีเสมอ อย่างน้ำท่วมเอ่อขังเต็มทุ่งเต็มท่าอย่างนี้ท่านก็ไม่เดือดร้อน เรียกเสียน่ารักว่าน้ำนอง และท่านก็ใช้ประโยชน์จากน้ำนองนี้ทำกิจกรรมที่มีความสุข กอปรทั้งเป็นหน้ากฐินพอดีก็เลยมีการละเล่นทางน้ำ เช่น เพลงเรือ แข่งเรือ ฯลฯ เข้ามาเพิ่มเติม ก็ยิ่งสนุกกันไปใหญ่

อนึ่ง ก่อนที่น้ำจะนองหรือท่วม ก็จะมีน้ำหลากไหลลงมาจากที่ต่างๆ พัดเอาปลานานาชนิดมากักขังไว้บริเวณที่น้ำนองนั้น มันก็กินอาหารที่ข้นคลั่กอยู่ในน้ำเป็นเดือนๆ เพราะน้ำจะขังอยู่จนถึงเดือน 12 ถึงตอนนี้น้ำก็จะตกตะกอนจนใสสวย แต่ยังนองอยู่เต็มทุ่งเต็มท่า หน้าฝนผ่านไปกลางคืนฟ้าก็ใสกระจ่าง บังเอิญกับจันทร์เพ็ญของเดือน 12 ก็ดวงโต ลอยสว่างสดใสกว่าทุกเดือน ท่านก็ลอยกระทงขอบคุณน้ำท่าและพระแม่คงคานั้น ส่วนปลาก็กำลังอวบอ้วนหวานมัน พร้อมกับข้าวที่ปลูกไว้ตั้งแต่ตอนเข้าพรรษาก็ออกรวงพอดี อาหารการกินในฤดูนี้จึงอุดมสมบูรณ์ อย่างที่โบราณท่านว่า “ข้าวเต็มนา ปลาเต็มหนอง” อีกไม่นานในเดือนอ้ายเดือนยี่ข้าวก็จะแก่เหลืองสุกพอเก็บเกี่ยวได้ บ้างก็ขายข้าวเอาเงินมาแต่งเมีย ในฤดู “ข้าวใหม่ปลามัน” นี้เอง

คนไทยแต่โบราณท่านไม่ใคร่จะเดือดร้อนเกี่ยวกับน้ำท่วม และปรับตัวเข้ากับปัญหานี้ได้อย่างกลมกลืน นักมานุษยวิทยาฝรั่งบางท่านจึงบอกว่า ที่จริงแล้วคนไทยก็คือ “น้ำ” นั่นเอง โดยเริ่มต้นว่าน้ำในธรรมชาติเป็นของเหลวที่ใสสะอาด ไหลเลื่อนจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ สามารถเปลี่ยนรูปร่างไปตามภาชนะต่างๆ และเคลื่อนที่ไปได้ในทุกสภาพพื้นที่ เมื่อเจอทางแคบก็บีบตัวเล็ดออกไป ครั้นพบทุ่งกว้างก็กระจายตัว ออกไปจนเต็มบริเวณ หากท้องฟ้าเป็นสีใดก็สะท้อนเป็นสีท้องฟ้าในยามนั้น บางครั้งอาจจะมีตะกอนข้นขุ่น แต่ถ้ารอให้ตกตะกอน น้ำก็จะกลับใสดังเดิม

คำกล่าวนี้ผู้เขียนรับฟังมาจากท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อีกทีหนึ่ง สาระจริงๆ จึงอาจจะไม่ถูกต้องทุกตัวอักษร แต่จำได้ว่าฝรั่งที่กล่าวในเรื่องนี้ชื่อนายหลุยส์ ฟีโน ที่แกสรุป “ความเป็นคนไทย” นี้ จากประวัติศาสตร์ที่คนไทยอพยพมาจากตอนเหนือของจีน แล้วฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ มาเป็นพันๆ ปี เหมือนการเคลื่อนที่ของน้ำที่สุดท้ายมาก็นองเอิบอาบอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้

บรรพบุรุษไทยโดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรีท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ที่ควรจะกล่าวถึงพระองค์หนึ่งก็คือสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 และด้วยเหตุที่ผู้เขียนเป็นนักรัฐศาสตร์ จึงอยากจะกล่าวถึงการจัดการปัญหาน้ำของพระองค์ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองการปกครอง และส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านอื่นๆ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นเรื่องที่หลายท่านไม่ค่อยจะพูดถึงหรือยังไม่รู้

ดังที่กล่าวมาแล้วก็คือ คนไทยไม่ใคร่จะเดือดร้อนเรื่องน้ำไม่ว่าจะมากหรือน้อยมาแต่ไหนแต่ไร ทั้งยังได้ปรับตัวเข้ากับปัญหาเหล่านั้นมาได้ด้วยดีเป็นปกติ จนเมื่อฝรั่งมาล่าเมืองขึ้นและเรียกร้องเอาผลประโยชน์ต่างๆ กับไทยมากมาย สิ่งหนึ่งก็คือ “ข้าว” ที่คนไทยไม่คิดว่าจะเป็นที่ต้องการของฝรั่ง แต่ที่ฝรั่งมาเรียกร้องเอาก็เพื่อเอาไปเจือจานประเทศที่เป็นอาณานิคมของฝรั่ง รวมทั้งเอาไปขายในบางประเทศ อย่างเช่นประเทศจีน ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีวิสัยทัศน์รู้ทันฝรั่ง จึงทรงจัดสำเภาไปค้าขายกับจีนเสียเอง ทรงเป็น “เจ้าสัวสำเภา” นำความมั่งคั่งเข้าประเทศ จนฝรั่งอิจฉาจึงมาบีบบังคับไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เลิกระบบผูกขาดนั้นเสีย

ความพยายามของฝรั่งมาสำเร็จด้วยการบังคับให้ไทยลงนามในสนธิสัญญาบาวริงตอนต้นรัชกาลที่ 4 ที่มีข้อหนึ่งระบุให้การเก็บภาษีสินค้าและค่าผ่านด่านจากเรือที่นำสินค้ามาค้าขายจะต้องมีเพียง “หนึ่งมาตรฐาน” ซึ่งทำให้มีเรือฝรั่งชาติต่างๆ มาค้าขายมากขึ้น และโดยที่ความต้องการข้าวยังคงมีอยู่มากและมีแต่จะเพิ่มขึ้น จึงทำให้การปลูกข้าวของคนไทยขยายตัวอย่างมโหฬาร บริเวณที่ใกล้ท่าเรือก็มีคนจีนและฝรั่งไปตั้งโรงสีข้าวอย่างที่บริเวณย่านสีลม ก็ได้ชื่อมาตามโรงสีที่ใช้พลังลม (คนที่เกิดทันบอกว่าหน้าตาเหมือนโรงวิดน้ำที่ใช้ใบพัดใหญ่ๆ แบบที่มีอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์) ที่มาตั้งอยู่ในย่านนี้เมื่อครั้งนั้น

ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวไปในพื้นที่ภาคกลาง ตามประวัติของเมืองที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯ ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา และนครนายก ทราบว่าในสมัยนั้นเจ้าเมืองเหล่านี้ได้รับคำสั่งจากส่วนกลางให้บุกเบิก รวมทั้งอนุญาตให้ราษฎรแผ้วถางที่ทำกินออกไปให้มาก รวมทั้งเพิ่มแปลงนาเพื่อการเพาะปลูกข้าว ในบางพื้นที่ก็ให้อพยพผู้คนมาจากที่อื่นเพื่อเพิ่มแรงงานในการทำนา รวมทั้งเจ้านายและข้าราชการทั้งหลายก็ออกมามีบทบาทเป็น “นายทุน” ในการส่งเสริมอาชีพการทำนานี้ร่วมด้วย

พระมหากรุณาธิคุณที่โดดเด่นที่สุดและแสดงถึงพระราชวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ก็คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงให้มีการวางระบบ“ชลประทาน” หรือการวางแผนเรื่องน้ำเพื่อเรื่องการทำนานี้โดยเฉพาะ ดังจะเห็นได้จากการขุดคลองชลประทานบริเวณทุ่งรังสิตและการวางแผนการจัดการน้ำในที่ลุ่มภาคกลางที่รวมถึงการสร้างเขื่อนต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันก็คงจะทรงทราบถึงพระราชปณิธานของสมเด็จพระอัยกา จึงทรงได้ศึกษาเรื่องน้ำจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ และทรงสร้างคุณูปการในเรื่องน้ำให้แก่คนไทยไว้อย่างมากมายเช่นกัน

วันนี้เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา คือ วันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต การระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณทั้งหลายคงไม่มีสิ่งใดเกินไปกว่า การช่วยกันแก้ไขปัญหาทั้งหลายด้วยสติปัญญา ไม่ตื่นตระหนก อย่างมุ่งมั่นและไม่ท้อแท้

มองอนาคตให้ไกลจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่สำคัญที่สุดนั้นคือทำให้เกิดประโยชน์เพื่อคนทุกคน ไม่ใช่เพื่อพวกพ้องแบบผู้นำในยุคปัจจุบันนี้

ผู้ปกครองที่ควรจดจำคือผู้นำที่ไม่คิดคดโกงประชาชน!

Tags : คนไทย ปัญหาน้ำท่วม

view