จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว
สิงคโปร์เป็น ประเทศหนึ่งซึ่งคนในชาติให้ความสำคัญกับคำว่า “วินัย” สูงมาก โดยมีกฎทางสังคมกำกับไว้อย่างแน่นหนา และมีกฎหมายที่เอาจริงแบบไม่ไว้หน้า
ซึ่ง หลายท่านคงเคยได้ยินได้ฟัง หรืออาจได้พบเห็นมากับตา สำหรับข้อห้ามที่ไม่ควรกระทำในที่สาธารณะต่างๆ แม้ว่าเราจะไม่เห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือตำรวจออกมาปรากฎกายให้เห็นมากมาย เหมือนในบ้านเราก็ตาม แต่การเคารพในสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองที่ดี ที่ทุกคนเชื่อตรงกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้นถ้าต้องการสังคมแบบไหนทุกคนก็ต้องช่วยกันสร้าง สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปหรือแม้แต่คนที่ได้มีโอกาสไปทำงานในสิงคโปร์คงจะ พบเห็นได้ชัดจากการเข้าคิว ซึ่งสะท้อนความมีวินัยและเคารพสิทธิผู้อื่นได้ชัดเจนที่สุด
ไม่ว่าใครก็ตามที่คิดจะแซงคิวเพื่อจับจ่ายซื้อของหรือชำระค่าสินค้าตาม ร้านต่างๆ ทั้งที่โดยไม่ตั้งใจหรือตั้งใจก็ตาม อาจจะได้รับการบอกกล่าวทั้งที่สุภาพและไม่สุภาพจากลูกค้ารายอื่น หรือแม้แต่พนักงานขายของร้านค้าแห่งนั้นเองก็ตาม ตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมประสบด้วยตัวเองเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อต้องไปประชุมสั้นๆไม่กี่วันที่สิงคโปร์ ในช่วงพักกลางวันหลังจากทานอาหารเสร็จแล้ว ผมและเพื่อนชาติอื่นที่เดินทางมาร่วมประชุมด้วยกันก็ออกมายืนชมวิว ดูอาคารบ้านเรือนอยู่ริมถนน สายตาผมก็เหลือบไปเห็นหญิงสาวชาวสิงคโปร์ท่านหนึ่งท่าทางลุกลี้ลุกลน หันซ้ายหันขวาเหมือนว่าจะรีบทำอะไรบางอย่างแต่ก็ไม่ไปไหนเสียที สักพักเธอก็เดินตรงมาที่ผม และถามด้วยคำพูดสุภาพว่า “คุณกำลังรอเรียกแท็กซี่อยู่หรือเปล่าค่ะ” ผมได้ยินดังนั้นก็ตอบปฎิเสธกลับไปว่า “เปล่าครับ ผมยืนชมวิวข้างทางอยู่” หลังจากนั้นเธอก็รีบเดินไปริมถนนและโบกมือเรียกแท็กซี่ทันที
ผมหยุดคิดพักหนึ่งหลังจากที่มองตามหลังรถแท็กซี่คันนั้นไปได้สักพัก แล้วก็คิดได้ในทันทีว่า “อ๋อ เธอคงกลัวว่าจะแซงคิวผม ถ้าเธอเดินตรงไปเรียกแท็กซี่แล้วขึ้นไปทันที” แบบนี้ต้องเรียกว่าเคารพกฎสังคมแบบเข้าเส้นทีเดียว
ตัวอย่างลักษณะเดียวกันนี้จะสามารถมองเห็นได้อย่างเข้มข้นมากๆได้อีกใน ญี่ปุ่น ประเทศที่ได้ชื่อว่าคนมีคุณภาพสูงมาก และที่สำคัญให้ความสนใจและใส่ใจต่อกติกาสังคมสูงเสียยิ่งกว่าตัวเองเสียอีก เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามถึงแม้ว่าจะตอบสนองความต้องการส่วนตน แต่ถ้าละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือละเมิดกฎระเบียบของชุมชนแล้ว ไม่มีทางทำเด็ดขาด สำหรับคนไทยหลายคนที่ได้มีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่น มักมีเรื่องเล่าถึงความมีวินัยและเอื้ออาทรของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนสูงวัยที่มีน้ำใจต่อชาวต่างชาติอย่างมาก แม้ว่าจะไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่ก็แสดงออกถึงความมีน้ำใจและความเป็นเจ้าบ้านได้เป็นอย่างดี
มีกลุ่มเพื่อนที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นมาแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ อาทิ ของหายแล้วเจอ นั่นคือถ้าคุณลืมสิ่งของไว้ไม่ว่าตรงที่ใดก็ตาม มันก็จะยังอยู่ตรงนั้นโดยไม่มีใครเอาไปในระยะเวลานานพอสมควร ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ของสถานที่นั้นๆมาเก็บไป เพื่อส่งต่อให้เจ้าของ การบริการที่มาจากใจที่ไม่เพียงแค่รอยยิ้ม และความปลอดภัยสุดๆชนิดเดินเล่นดึกดื่นค่ำคืนได้โดยไม่ต้องกังวล
สำหรับประเทศไทยที่ชูธงว่าที่นี่คือสถานที่ท่องเที่ยวที่สุดยอดที่สุดใน ภูมิภาคนี้ เพราะจากผลการสำรวจหรือแสดงความคิดเห็นจากหลายสำนักรวมถึงวารสารท่องเที่ยว ชั้นนำ สำรวจกี่ครั้งกี่รอบต้องมีประเทศไทยหรือเมืองใดเมืองหนึ่งติดโผในอันดับต้นๆ เสมอ นอกจากตำแหน่งที่ตั้ง วัฒนธรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ ธรรมชาติ ยิ้มสยาม และความมีน้ำใจของคนไทยเองก็ตาม ล้วนเป็นจุดขายที่เกิดจากความเป็นไทยในอดีตที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ให้ แต่หลายสิ่งกำลังจะถูกละทิ้งหรือทำลายไปโดยไม่รู้ตัว
ที่สำคัญที่สุดคือการมุ่งแต่ตัวเอง และละเลยกติกาทางสังคม รวมถึงการเคารพสิทธิผู้อื่น แต่สิ่งนี้ไม่สายเกินแก้แต่ถ้าปล่อยแบบนี้นานไปไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะฟื้น คืนกลับได้หรือไม่ เพียงแค่เราคิดก่อนทำ และไม่ทำผิดซ้ำซาก อะไรที่ทำแล้วส่งผลกระทบต่อส่วนร่วมก็ควรที่จะเลี่ยง เลิก หรือลดมันลงซะ
ถ้าเราติดตามข่าวอาชญากรรม ก่อการร้าย หรือเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆที่เกิดมากขึ้นในประเทศไทยเราทุกวันนี้ ผมเชื่อโดยไม่ต้องมีใครนำข้อมูลมายืนยัน หรือรายงานสนับสนุนจากสำนักวิจัยใดๆว่า เกิดขึ้นจากคนเห็นแก่ได้ส่วนน้อยมากๆในสังคมไทย แต่ที่มันส่งผลเสียหายกว้างไกลไปในระดับประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะคนในกลุ่มน้อยนิดที่ว่ามีออำนาจอยู่ในมือไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อีกส่วนหนึ่งของคนกลุ่มน้อยดังกล่าว ขาดจิตสำนึกของความเป็นคนไทย
แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับคนส่วนใหญ่ที่เหลือนิ่งนอนใจ ไม่ใส่ใจ และไม่ได้พยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัจจัยเกื้อหนุนดังกล่าว ยกตัวอย่างทุกครั้งที่เราอ่านข่าวการพิสูจน์หลักฐาน หรือการค้นหาสาเหตุในที่เกิดเหตุทุกครั้งที่คนร้ายไปแฝงตัว ฝังตัว หรือไปพำนักอาศัยในห้องเช่า บ้านเช่า แมนชั่น หรือแม้แต่คอนโด มักจะได้แต่ชื่อเล่น หรือชื่อจริงแต่ไม่ทราบนามสกุล และมักไม่มีเอกสารหลักฐานว่าหน้าตาผู้เช่าเป็นอย่างไร ทำมาหากิน หรือประกอบอาชีพอะไร ทั้งๆที่มาตรฐานของการเปิดให้เช่าไม่ว่าจะเป็นแค่ห้องเช่าที่แค่หารายได้ พิเศษเพิ่มเติม จนถึงโรงแรมที่ทำธุรกิจอย่างจริงจัง เมื่ออยู่ในลักษณะของการให้เช่าแล้ว ควรหรือไม่ที่ผู้ให้เช่าควรจะต้องขอเอกสารหลักฐาน โดยเฉพาะสำเนาบัตรประชาชน เพื่อเป็นหลักฐานเมื่อเกิดกรณีที่อาจเกิดเหตุที่ไม่ดี อย่างน้อยตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้ทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่าที่ญี่ปุ่นบ้านเช่าที่แบ่งเป็นห้องๆ ไม่ว่าจะค้างกี่คืนหรือเหมาเป็นเดือน จนถึง Home Stay (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Minshuku) ที่เจ้าของบ้านหารายได้พิเศษด้วยการแบ่งห้องให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก และสัมผัสวิถีชีวิตแบบชาวบ้านญี่ปุ่นแท้ๆ ก็จะมีมาตรฐานเฉกเช่นเดียวกับโรงแรมทั่วไป นั่นคือต้องขอรายละเอียดและหลักฐานของผู้เช่า
ผมจึงคิดว่าการปฏิบัติที่หลายคนอาจมองข้าม และไม่เห็นความสำคัญ อีกทั้งบางแห่งยังคิดว่านั่นมันใช้ในโรงแรมเท่านั้น แต่ความจริงแล้วถ้าทุกคนเห็นแก่สังคมส่วนรวม ปฏิบัติให้เป็นการทั่วไปน่าจะช่วยสร้างความเป็นระเบียบได้มากที่เดียว ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆในอีกหลายสิ่งที่เราคนไทยน่าจะช่วยกันทำ เพียงแต่คิดสักนิด และลงมือทำ เชื่อว่าปัญหาซ้ำซากเหล่านี้น่าจะลดหายลงไปพอสมควร เริ่มต้นง่ายๆที่ตัวเราช่วยกันสอดส่องและไม่ละเมิดเสียเอง Do the Right Things Right the First Time.