ปุ๋ยและน้ำหมักจากไส้เดือนดินกับการแก้ปัญหาน้ำของกรมชลประทาน
จาก เวปไซต์ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ
ที่มา:หนังสือพิมพ์แนวหน้าฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2552
กรม ชลประทานไม่ได้มีภาระหน้าที่ในการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ ป้องกันภัยจากน้ำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเท่านั้น ตามยุทธศาสตร์ของกรมชลประทานยังให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพน้ำจะต้องได้ มาตรฐานสำหรับกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย ซึ่งการรักษาคุณภาพน้ำนั้น วิศวกรชลประทานรุ่นใหม่อย่างเช่น ดร. วัชระ เสือดี ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการชลประทานมองว่า
"การ แก้ปัญหาเรื่องน้ำในอนาคตนั้น จะต้องเน้นการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ให้ครอบคลุมทุกๆ ด้าน ทั้งปริมาณและคุณภาพที่สำคัญจะต้องให้เกิดผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรต่อสิ่ง แวดล้อมน้อยที่สุดโดยเฉพาะผลกระทบต่อมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม อีกด้วย" จากมุมมองดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ "งานวิจัยและศึกษาการทำปุ๋ยและน้ำหมักจากไส้เดือนดิน" ดร.วัชระเล่าว่า เศษขยะทั้งประเภทเศษอาหาร หญ้าที่ตัด กิ่งไม้ ซากพืช ซากสัตว์ วัชพืช หากปล่อยทิ้งลงในแม่น้ำ ลำคลองก็จะสร้างมลพิษทางน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ทั้งการอุปโภคบริโภค และการชลประทานได้ หากนำไปเผาก็จะสร้างมลพิษทางอากาศ ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกซึ่งเป็น สาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน กรมชลประทานโดยสถาบันพัฒนาการชลประทาน สำนักวิจัยและพัฒนา จึงได้ศึกษาหาแนวทางการในการแก้ปัญหาดังกล่าวแบบยั่งยืน
สืบ เนื่องจากสถาบัน ได้เล็งเห็นองค์ความรู้ของ นายชวกร ริ้วตระกูลไพบูลย์ วิศวกรชลประทาน ประจำสำนักชลประทานที่ 11 และเป็นอาจารย์พิเศษวิทยาลัยการชลประทาน ซึ่งเคยไปฝึกอบรม การนำขยะมาผลิตเป็นปุ๋ยและน้ำหมักจากไส้เดือน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ทำการศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติม ลองผิดลองถูกมากว่า 4 ปี โดยสถาบันเห็นว่า น่าจะนำความรู้ ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวมาต่อยอดการควบคุมคุณภาพเพื่อขยายผลการทำ ปุ๋ยและน้ำหมักจากไส้เดือนดินให้เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ต่อกรมชลประทานและต่อสังคมมากยิ่งขึ้น
โครงการ ดังกล่าวเริ่มเมื่อต้นปี 2552 โดยได้รับการสนับสนุนและให้คำปรึกษาจากผู้บริหารระดับสูงไม่ว่าจะเป็นอธิบดี กรมชลประทาน อาจารย์วสันต์ บุญเกิด (ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันพัฒนาการชลประทาน) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงสร้างและระบบบริหารงานบุคคล รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ที่ปรึกษาสถาบันฯ) ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 11 และประธาน KM กรม ชลประทาน กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่สถาบัน นิสิตวิทยาลัยการชลประทาน โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม เริ่มจากการศึกษาดูงาน นำมาปฏิบัติ ติดตามประเมินผล ปรับปรุง ต่อยอดแบบร่วมกันคิดร่วมกันทำ
สำหรับ ขั้นตอนการทำปุ๋ยและน้ำหมักจากไส้เดือนดินนั้น เริ่มจากการนำขยะใส่ในบ่อหมักในอัตราส่วนขยะ 1 ตารางเมตร ต่อไส้เดือน 1 กิโลกรัม โดยบ่อหมักที่สร้างขึ้นจะมีขนาด 6x10x0.8 เมตร จากนั้นทิ้งไว้เป็นเวลา 45 วัน ไส้เดือนจะกัดกินขยะแล้วถ่ายมูลเป็นเม็ดสีดำ ซึ่งจะมีธาตุอาหารสำหรับพืชและจุลินทรีย์สูง ทำให้ได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนชั้นดี มีแร่ธาตุครบถ้วน รวมทั้งยังได้น้ำหมักหรือฉี่ไส้เดือนซึ่งเป็นน้ำหมักชีวภาพ ที่เกิดจากกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน ซึ่งมีธาตุอาหารและฮอร์โมนพืชและจุลินทรีย์หลากหลายชนิดในปริมาณมาก ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้ง นี้ ปุ๋ยมูลไส้เดือนจะนำไปใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินและให้ธาตุอาหารแก่พืช ส่วนน้ำหมักมูลไส้เดือนดินนอกจากใช้เป็นธาตุอาหารสำหรับพืชแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการบำบัดน้ำเสีย บำรุงต้นไม้ ใช้เป็นน้ำยาล้างห้องน้ำ ถูพื้น กำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและไม่สร้างมลพิษทางน้ำอีกด้วย
นอก จากนี้สถาบัน ยังได้ริเริ่มในการควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อให้ได้คุณภาพผลิตผล อาทิ ธาตุอาหารต่างๆ ความเข้มข้น ฯลฯ โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งคิดค้นโดย ดร.วิชญ์ ศรีวงษา เจ้าหน้าที่ประจำสถาบันพัฒนาการชลประทาน ดร.วิชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสถาบัน ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของปุ๋ยและน้ำหมัก จากไส้เดือน เพื่อให้ได้มาตรฐานและมีธาตุอาหารสำหรับพืชครบถ้วน พร้อมทั้งยังได้ทำการศึกษาว่า อุณหภูมิ ความชื้นระดับไหนที่ไส้เดือนดินเจริญเติบโตได้ดี เพราะถ้าหากไส้เดือนดินเจริญเติบโตดีแสดงว่า ไส้เดือนมีความสุข กินดี อยู่ดี สามารถผลิตมูลไส้เดือนและน้ำหมักหรือฉี่ไส้เดือนได้จำนวนมาก และมีคุณภาพธาตุอาหารครบถ้วน
ทั้ง นี้ ในปัจจุบันสถาบันพัฒนาการชลประทานสามารถผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนได้ประมาณเดือน ละ 500 กิโลกรัม และน้ำหมักมูลไส้เดือนอีกประมาณ 500 ลิตร ซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ภายในสถาบันฯ ที่เหลือมีแนวคิดที่จะจัดทำเป็นสวัสดิการให้เจ้าหน้าที่โดยจำหน่ายปุ๋ยมูล ไส้เดือนกิโลกรัมละ 30 บาท และน้ำหมักมูลไส้เดือนลิตรละ 30 บาทเช่นกัน ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ได้หวังผลกำไร เนื่องจากสถาบันฯ ไม่ได้ทำในเชิงพาณิชย์แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อบริการวิชาการ เผยแพร่สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคม
สำหรับ วิธีการใช้นั้น ปุ๋ยมูลไส้เดือนจะนำไปตากให้แห้งหรือนำไปใช้เลยก็ได้ โดยโรยรอบๆต้นไม้ที่ปลูก ในอัตราที่พอเหมาะ และถ้าเป็นพืชผักสามารถโรยบางๆ ทั่วแปลงได้ ส่วนน้ำหมักมูลไส้เดือนให้นำไปผสมกับน้ำสะอาดอัตราส่วน 1:20 เทลงในน้ำเสียเพื่อบำบัดน้ำเสีย ใช้ทำความสะอาด หรือนำไปรดต้นไม้ พืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นไม้ พืชผักเจริญเติบโตได้ดีโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีอีกต่อไป
นอก จากนี้ ในอนาคตจะทำการศึกษาการนำปุ๋ยและน้ำหมักจากไส้เดือนไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับ สถานีทดลองการบริหารจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในบริเวณพื้นที่ 10 ไร่ ของสถาบันฯ ที่สร้างเพื่อใช้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ฝึกปฏิบัตินิสิตวิทยาลัยการชลประทานฯลฯ สถานีดังกล่าวดำเนินการโดยกรมชลประทาน คาดว่าจะทำพิธีเปิดในวันเกิดกรมชลประทานครบรอบ 108 ปี (13 มิ.ย. 2553) โดยนำผลิตภัณฑ์ไปทดลองใช้กับพืชในแปลงเพาะปลูกที่มีการให้น้ำแบบต่างๆ เช่น การให้น้ำผ่านทางระบบน้ำหยด ระบบฉีดฝอย ตลอดจนใช้กับการปลูกผักแบบไร้ดิน ศึกษาคุณภาพน้ำที่ผ่านการใช้แล้วจากแปลงเพาะปลูกดังกล่าว เพื่อเป็นการนำร่องเป็นตัวอย่างก่อนที่จะขยายผลไปสู่เกษตรกร ซึ่งสนับสนุนนโยบายของกรมชลประทานที่ต้องการให้มีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์อีกด้วย ดร.วัชระกล่าวในตอนท้ายด้วยว่า สถาบันพัฒนาการชลประทานพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการนำขยะมาผลิตเป็นปุ๋ย และน้ำหมักจากไส้เดือนให้กับผู้ที่สนใจ โดยขณะนี้เตรียมที่จะขยายผลให้กับสำนักชลประทานและโครงการชลประทานต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในหน่วยงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยัง เกษตรกรและผู้ที่สนใจในพื้นที่ต่อไป