จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย โรม บุนนาค
ในจำนวนพระเครื่องยอดนิยมนั้น “สมเด็จวัดระฆัง” คงครองความเป็นอันดับหนึ่งมาตลอดเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว อีกทั้งผู้ให้กำเนิดพระพิมพ์นี้คือ สมเด็จพุฒาจารย์(โต) ก็มีเรื่องให้เล่าถึงท่านอยู่มากมาย แต่เมื่อกล่าวถึงบิดาผู้ให้กำเนิด กลับบอกกันว่า “ไม่ปรากฏ” แต่ในหนังสือ “ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)” จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันท์) กลับระบุชาติกำเนิดของท่านไว้อย่างละเอียด พระยาทิพโกษาได้หาข้อมูลเขียนประวัติสมเด็จโต โดยสอบถามจากบรรดาผู้ใกล้ชิดท่าน เช่น นายพร้อม สุดดีพงศ์ จากตลาดไชโย เมืองอ่างทอง ซึ่งสมเด็จโตไปสร้างพระพุทธรูปใหญ่ไว้ที่นั่น และ ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีวงศ์ วัดสระเกศ ที่สำคัญ คือ เจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช้าง) ผู้เป็นเหลนสมเด็จโต และจำพรรษาอยู่ที่วัดระฆังกับสมเด็จโตมาตลอดตั้งแต่เป็นเณร พระยาทิพโกษาได้เริ่มสอบหาประวัติสมเด็จโตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวรมีอายุ ๘๘ ปีแล้ว เจ้าคุณพระธรรมถาวรได้เล่าเรื่องน่าพิศวงของสมเด็จโตให้ฟังหลายเรื่อง ส่วนเรื่องญาติวงศ์พงษ์พันธุ์ ภูมิสถานบ้านเดิมนั้น ท่านเจ้าคุณได้แนะนำให้ไปดูจากภาพเขียนที่สมเด็จโตให้ช่างเขียนภาพประวัติของท่านไว้ที่ผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม คณะผู้ค้นหาประวัติสมเด็จโตจึงไปดูภาพเหล่านั้นซึ่งมีอยู่ ๑๒ ฉาก แต่ก็ไม่ได้บอกเรื่องราวกระจ่างชัดนัก จึงยึดเอาภาพจากผนังโบสถ์วัดอินทร์ฯเป็นหลัก แล้วสอบหาเรื่องราวจากที่อื่นมาเชื่อมโยงภาพในการเขียนประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ขึ้น แต่น่าเสียดายที่วันนี้ภาพเหล่านั้นเสื่อมสลายไปหมดแล้ว ภาพผนังโบสถ์ปัจจุบันเป็นภาพที่เขียนขึ้นใหม่ สมเด็จโตให้คนเขียนภาพประวัติของท่านฉากที่ ๑ เป็นรูปกำแพงเมืองกำแพงเพชร ว่างเปล่าไม่มีผู้คน มีแต่ขุนนางขี่ม้าออกจากเมือง เขียนวัดบางลำพูบนติดกับกำแพงเมืองเพชร มีรูปเด็กอ่อนนอนแบเบาะอยู่มุมโบสถ์วัดบางลำพู นางงุด กกลูก อาจารย์แก้ว กำลังกวาดลานวัด ตาทอง ยายเพียร นั่งยองๆยกมือไหว้อาจารย์แก้ว อาจารย์แก้วพูดกับตาผล บนกุฏิ และมีรูปเรือจอดที่ท่าบางขุนพรหม คณะสอบประวัติสมเด็จพุฒาจารย์โต ขยายความในฉากที่ ๑ นี้ว่า ในศึกพม่าที่อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือในสมัยกรุงธนบุรีนั้น เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพออกไปรับศึก โดยพา คุณชายฉิม บุตรชายวัย ๘ ขวบติดตามไปในกองทัพด้วย หลังจากที่ขับไล่กองทัพพม่าออกไปพ้นดินแดนไทยแล้ว ได้ตั้งทัพอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร เช้าวันหนึ่งเจ้าพระยาจักรีในวัยเพียง ๓๐ เศษได้ขี่ม้าตระเวนดูกองทัพ ม้าได้พาท่านเข้าป่าฝ่าพงไปจนถึงบ้านปลายนาหลังหนึ่งใต้เมืองกำแพงเพชรเมื่อเวลาเย็น เห็นหญิงสาวคนหนึ่งเดินออกมา เจ้าคุณแม่ทัพจึงร้องบอกว่ากระหายน้ำเหลือเกิน ขอน้ำกินสักขันหนึ่งเถิด หญิงสาวก็ตักน้ำให้ แต่ได้เด็ดเกสรดอกบัวโรยมาด้วย เจ้าคุณแม่ทัพกินน้ำด้วยความลำบากเพราะต้องเป่าเกสรบัวออกไปก่อน ดื่มน้ำได้หน่อยเดียวก็ต้องคอยเป่าเกสรบัวอีก จนดื่มเสร็จจึงได้ถามนางว่า เหตุใดจึงเอาเกสรบัวโรยมา จะแกล้งทำเล่นกับเราหรือ หญิงสาวก็บอกว่า เห็นท่านเหนื่อยมาและกระหายน้ำมาก หากให้ดื่มตามความกระหายก็อาจจะเกิดอันตรายจากการจุกแน่นได้ จึงเอาเกสรบัวโรยลงไปเพื่อให้ดื่มได้พอประมาณเป็นระยะ เจ้าคุณแม่ทัพฟังนางตอบด้วยความฉลาด แถมยังพูดจาอ่อนหวานไพเราะ จึงลงจากหลังม้ามาสนทนา และรอจนตาผลกับยายลา พ่อแม่ของหญิงสาวที่ชื่อ งุด นี้กลับมา เจ้าคุณแม่ทัพก็รวบรัดสู่ขอลูกสาวเสียเลย เสนอสินสอดเป็นเงิน ๒๐ ชั่ง โดยถอดแหวนวางไว้ให้เป็นประกัน จะเอาเงินมาไถ่ทีหลัง สองตายายรู้ว่าผู้สู่ขอเป็นขุนนางมาจากบางกอกก็ยกให้ทันที และทำพิธีแต่งงานกันตามประเพณีชาวกำแพงเพชรในคืนนั้น โดยไม่ต้องมีแขกเหรื่อมาร่วม รุ่งเช้าเจ้าคุณแม่ทัพก็กลับไปบัญชาการค่าย พอตกเย็นก็ห่อเงิน ๘๐ ชั่งมายังบ้านปลายนาไถ่แหวน และกลับไปในตอนเช้า เป็นเช่นนี้ตลอดมา ส่วนบุตรชายวัย ๘ ขวบของเจ้าคุณแม่ทัพก็เข้าใจว่าบิดาไปตรวจตราบัญชาการทัพ ประมาณเดือนเศษจึงมีท้องตรามาจากกรุงธนบุรีเรียกให้กองทัพกลับ ขณะสังเกตว่านางงุดตั้งครรภ์แล้ว เมื่อมีเงินมีทอง นางงุดก็ปรึกษาพ่อแม่ว่าจะคิดค้าขายขึ้นล่องเมืองเหนือกับกรุงธนบุรี เมื่อตกลงกันแล้วก็ให้เช่าที่ไร่ ซื้อเรือลำใหญ่เป็นที่อยู่ และขนสินค้าเมืองเหนือล่องมาอาศัยจอดท่าหน้าบ้านนายทองนางเพียน ที่บางขุนพรหม เมื่อขายสินค้าหมดก็ซื้อสินค้าจากบางกอกขึ้นไปขายที่นครสวรรค์จนถึงกำแพงเพชร ขึ้นล่องอยู่เช่นนี้ จนนางงุดครรภ์แก่ จึงได้ปลูกเรือนแพสองหลังแฝด และซื้อที่เหนือบ้านนายทองนางเพียนขึ้นไปเพื่อเป็นที่อาศัยคลอดลูกและพักสินค้า ครั้นถึงวันพุธ เดือนหก ปีวอก จุลศักราช ๑๑๓๘ หรือ พ.ศ. ๒๓๑๙ นางงุดก็คลอดบุตรเป็นชายบนเรือนใหม่ที่บางขุนพรหมนั้น ประมาณเดือนเศษต่อมา ญาติมิตรที่มาอุ้มทารกน้อยเชยชม ก็สังเกตและคลำแขนดู ต่างก็แปลกใจที่แกนกระดูกแขนของทารกนั้นเป็นท่อนเดียว ทั้งยังมีปานดำที่กลางหลัง ต่างพูดกันไปต่างๆนานา จนนางงุดเกรงว่าตัวเองบุญน้อยจะเลี้ยงลูกคนนี้ให้รอดยาก จึงปรึกษาบิดามารดาว่าจะหาพระสงฆ์ที่ประพฤติดีเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเพื่อจะยกลูกให้ท่าน นายทองนางเพียนจึงแนะนำให้ไปถวาย อาจารย์แก้ว วัดบางลำพูบน (วัดสังเวศวิศยาราม) พระอาจารย์แก้วกำลังกวาดลานวัด เมื่อรับทารกที่ตาผลมาวางบนตักให้แล้ว พิจารณาดูก็รู้ว่าเด็กคนนี้มีปัญญาเฉลียวฉลาด จะเป็นคนที่เปรื่องปราชญ์ มีอิสริยยศบริวารมากต่อไป จึงผูกข้อมือเสกเป่าไม่ให้ตาล ทราง หละ ละลอก ทรพิษ มารบกวนทารกได้ และฝากตาผลกลับไปให้นางงุดเลี้ยงจนกว่าจะได้ ๓ ขวบ พร้อมทั้งจะจ่ายค่าจ้าง ค่าข้าว ค่านมให้อีกปีละ ๑๐๐ บาท ตาผล ยายลา นางงุด พ่อแม่ลูกค้าขายมีกำไรมั่งคั่ง จึงย้ายภูมิลำเนาลงมาสร้างเรือนหลังใหญ่ที่เมืองพิจิตร มีทั้งโรงสี โรงพักสินค้าอยู่ในบ้าน ครั้นปีขาล ร.ศ. ๑๑๔๔ หรือ พ.ศ. ๒๕๒๕ สิ้นแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรีที่ไปทำศึกกับอะแซหวุ่นกี้ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และทรงสถาปนาคุณชายฉิม พระราชโอรสขณะพระชนมายุ ๑๖ พรรษาขึ้นเป็น เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ส่วนหนูโตก็เจริญวัยเข้า ๗ ขวบ นางงุดจึงนำไปถวายท่านพระครูใหญ่ วัดใหญ่ในเมืองพิจิตร ให้เรียนหนังสือทั้งไทยและขอม ท่านพระครูใหญ่นอกจากจะรอบรู้ในเรื่องคัมภีร์แล้ว ยังเก่งกล้าทางด้านคาถาอาคม อยู่ยงคงกระพัน เสกเป่าให้คนร้ายและสัตว์ร้ายยืนงงจังงังได้ เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนเป็นจำนวนมาก เมื่อหนูโตอายุได้ ๑๓ ปีทำพิธีโกนจุกแล้ว นางงุดก็จัดบริขาร ไตรจีวร ย้อมรัดประคตที่บิดามอบไว้ให้ พาไปขอให้ท่านพระครูเป็นอุปัชฌาย์บวชเณร สามเณรโตใส่ใจการเล่าเรียน จดจำคัมภีร์มูล และบาลีไวยกรณ์ได้อย่างแม่นยำ ตกค่ำก็จุดตะเกียงถวายพระครูอุปัชฌาย์ และบีบนวดแข้งขาปรนนิบัติ พร้อมทั้งไต่ถามเรื่องราวต่างๆตามประสาเด็ก ท่านพระครูมีเมตตาก็แนะนำธรรมปริยาย และสอนเวทย์มนต์คาถาสำหรับสะกดสัตว์ร้าย อย่าง แรด หมี เสือช้าง จระเข้ ให้ พออายุได้ ๑๕ ปี สามเณรโตก็เรียนคัมภีร์มูลจบสิ้น มีความกระหายใคร่จะเรียนคัมภีร์พระปริยัติศาสนาที่สูงขึ้น จึงอ้อนวอนพระอุปัชฌาย์ให้ช่วยสอน พระครูใหญ่ก็บอกตรงๆว่าคัมภีร์พระปริยัติธรรมป่นปี้ตั้งแต่พม่าเข้ามาตีกรุง ครั้งสังฆราชเรืองอยากเป็นใหญ่ตั้งตัวเป็น เจ้าพระฝาง ชุมนุมหนึ่งที่ถูกพระเจ้าตากสินปราบ สมบัติของวัดก็เสียหายเป็นคำรบ ๒ ไม่มีตำรับตำราจะสอนให้ จึงแนะนำให้ไปเรียนกับ พระครูจังหวัด วัดเมืองชัยนาท สามเณรโตจึงกลับมาอ้อนวอนตาผลและนางงุดให้ช่วยพาไป พระยาทิพโกษาเล่าว่า รูปที่สามเณรโตมาเรียนพระปริยัติธรรมกับพระครูวัดเมืองชัยนาท เขียนเป็นรูปเรือของท่านจอดท่าหน้าวัด จระเข้ตัวหนึ่งโผล่ขึ้นมาทางหัวเรือ คนหัวเรือนอนหลับ คนเรือที่สองตกใจ ลุกขึ้นโยงโย่ฉุดคนหัวเรือเข้ามาให้พ้นปากจระเข้ คนแจวนั่งไขว่ห้างหัวเราะดูคนบนบ้าน ๓ คนแม่ลูกยายเหนี่ยวรั้งกันขึ้นบ้านหนีจระเข้ ตาผลยืนตัวแข็งอยู่ที่เรือ มีรูปสามเณรโตเรียนคัมภีร์กับพระครูจังหวัด วัดเมืองชัยนาท คณะตีความภาพประวัติสมเด็จโตบรรยายว่า ครั้นแจวเรือมา ๒ คืนก็ถึงท่าวัดเมืองชัยนาทกลางดึก จอดเรือเรียบร้อยแล้วคนแจวเรือทั้งสามคนก็อาบน้ำดำหัวแล้วนอนกันในเรือ ครั้นรุ่งเช้าตอนสว่าง จระเข้ตัวใหญ่เสือกตัวขึ้นมาจะคาบคนหัวเรือ แม่ลูกและหญิงผู้ใหญ่อาบน้ำหน้าบันไดบ้านเห็นจระเข้ก็ตกใจร้องเอะอะโวยวาย คนเรือที่สองตกใจตื่นเห็นจระเข้ก็ลุกขึ้นโยงโย่จับเอวคนหัวเรือให้พ้นปากจระเข้ คนที่สามเห็นหญิงสามคนหนีจระเข้ขึ้นบ้าน ผ้าผ่อนหลุดลุ่ยเลยหัวเราะชอบใจ ส่วนตาผลนั้นทำอะไรไม่ถูก ได้แต่ยืนตะลึง ฝ่ายสามเณรโตนั่งภาวนาอยู่ในประทุนเรือ จระเข้ขึ้นมาก็อ้าปากไม่ออก จมก็ไม่ลง ด้วยคาถาที่พระครูใหญ่ให้มา เมื่อขึ้นหลักสูตรใหม่ สามเณรโตก็เล่าเรียนอย่างตั้งใจเช่นเคย ถึงเวลาเรียนก็เรียน ถึงเวลาฟังก็ฟัง แล้วจดจำไว้แม่น กลางคืนก็เข้ารับโอวาทปริยายจากท่านพระครูอีก สิ่งใดไม่รู้ก็ถาม ไม่เข้าใจก็ซัก ติดขัดตรงไหนก็หารือ การเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎกของสำนักนี้ ทุกวันต้องเรียนแปลเป็นภาษาลาวบ้าง ภาษาเขมรบ้าง ภาษาพม่าบ้าง จนเวลาล่วงมาได้ ๓ ปี ก็จบถึงแปดขั้นบาลี เมื่อสามเณรโตปรารภว่าอยากจะไปศึกษายังสำนักพระเถระในกรุงเทพมหานครบ้าง พระครูจังหวัดก็เห็นดีเห็นชอบด้วยทันที เพื่อจะให้ศิษย์เอกปราดเปรื่องผู้นี้ช่วยไปแพร่เกียรติคุณของสำนักท่านในกรุงเทพฯด้วย เมื่อพระครูกำหนดวันว่าจะพาไปส่งถึงโยมแม่และตาที่พิจิตร สามเณรโตก็พายเรือสำปั้นที่บิณฑบาตไปถึงบ้านที่สุดเหนือน้ำและสุดใต้น้ำ ล่ำลาญาติโยมที่อุปัฏฐากทั้ง ๒ ฝั่ง ฝ่ายลูกศิษย์วัดทั้งหลายเมื่อรู้ว่าหลวงพี่เณรจะลงไปอยู่บางกอก ก็พากันใจหายอาลัยอาวรณ์ไปตามกัน ท่านพระครูให้พระปลัดและพระสมุห์พาสามเณรโตพร้อมด้วยจดหมายส่งถึงเมืองพิจิตร เมื่อตาผล ยายลา นางงุดทราบความจากจดหมายก็เห็นดีเห็นชอบ และพาพระปลัดพระสมุห์พร้อมสามเณรโตไปกราบพระครูใหญ่ พร้อมถวายลิขิตของพระครูวัดเมืองชัยนาทให้ดู ท่านพระครูใหญ่ก็สนับสนุนด้วยอีกราย จากนั้นตาผล นางงุด จึงจัดเรือนำสามเณรโตล่องเข้ากรุงเทพฯ และผ่านมาทางเมืองพิษณุโลก แวะนมัสการพระพุทธชินราชขอให้ท่านคุ้มครอง จนมาถึงวัดบางลำพูบนตอนเช้าของวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๑๒ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตาผลเข้ารายงานการเรียนของสามเณรโต ตลอดจนความเห็นชอบของพระครูสองจังหวัด กับอาจารย์แก้ว ที่จะให้เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ อาจารย์แก้วก็เห็นพ้องกับพระครูทั้งสองนั้น สมจริงดังคำทำนายตั้งแต่ยังแบเบาะและรับไว้เป็นลูก ทั้งนึกขึ้นมาได้ว่าสัญญาจะให้ค่าจ้างแม่มันเลี้ยงปีละ ๑๐๐ บาท ๓ ปีแล้วไม่ได้จ่าย จึงให้ไวยาวัจกรหยิบเงินมา ๓๐๐ ส่งให้ตาผลไปมอบให้นางงุดเป็นค่าน้ำนมค่าป้อนข้าว ก่อนกลับตาผลก็ถวายคืนและยังถวายเพิ่มอีก ๑๐๐ บาท อาจารย์แก้วจัดให้สามเณรโตอยู่ที่วัดบางลำพูบนนั้น และเมื่อเห็นว่าฤกษ์ดีแล้วจึงพาไปฝาก พระโหราธิบดี และ พระวิเชียร กรมราชบัณฑิต ให้ช่วยแนะนำสั่งสอนสามเณรโต พระโหราธิบดี พระวิเชียร บ้านอยู่หลังวัดบางลำพูบน เสมียนตราด้วง และ ขุนพรหมเสนา บ้านอยู่บางขุนพรหม ปลัดกรมนุท บ้านอยู่บางลำพูบน เสมียนบุญ และ พระกระแสร์ ทั้ง ๗ ท่านล้วนเป็นคนมั่งคั่งหลักฐานดี มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อเห็นจรรยาอาการของสามเณรโตที่หมั่นเรียนพากเพียร มารยาทก็ละมุนละม่อม ท่านทั้ง ๗ จึงร่วมกันเป็นโยมอุปัฏฐากอุปถัมภ์บำรุง หมั่นไปหาที่วัดบางลำพูเสมอ สัปบุรุษอื่นๆก็เลื่อมใส บางคนก็นิมนต์แสดงธรรมเทศนา ถึงฤดูหน้าเทศน์มหาชาติ ตามวัดแถวนั้นคนก็นิยมนิมนต์สามเณรโตเทศน์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ทำเสียงเล็กแหลมก็ได้ ทำเสียงหวานแจ่มใสก็ได้ ทำเสียงโฮกฮากก็ได้ มีกลเม็ดแพรวพราว เสียงเสนาะน่าฟังทุกกัณฑ์ แต่สามเณรโตก็มิได้หลงใหลกับความรวยจากเทศน์มหาชาติ และมิได้มัวเมาด้วยอุปัฏฐากมาก เอาใจใส่แต่การเรียนการปฏิบัติทางเพลิดเพลินเจริญธรรม จึงเป็นที่รักใคร่ของผู้ที่อุปถัมภ์ทั่วไป ครั้นถึงเดือน ๕ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๓๗ เป็นปีที่ ๑๓ ในรัชกาลที่ ๑ สามเณรโตอายุได้ ๑๘ ปีบริบูรณ์ในเดือนนี้ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรย่างขึ้น ๒๘ พรรษา พระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วง จึงเห็นสมควรจะพาสามเณรโตเข้าเฝ้า พระองค์ท่านทรงโปรดพระเณรที่ร่ำเรียนในพระธรรมทั้ง ๒ คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ บางทีพ่อเณรผู้มีหน่วยก้านดีสติปัญญาหลักแหลมผู้นี้ อาจจะมีวาสนาดีได้เป็นพระหลวงก็ได้ เมื่อสามเณรโตรู้ตัวว่าจะได้เข้าเฝ้า จึงเตรียมตัวย้อมผ้า ย้อมรัดประคตหนามขนุนที่โยมแม่ให้มา ทั้งยังกระซิบความลับมาด้วย ครั้นถึงวันกำหนด ผู้นำเข้าเฝ้าทั้ง ๓ ยังพร่ำสอนสามเณรโตทางขนบธรรมเนียมท่าจะเดิน นั่งและคำพูดจากับเจ้านายใหญ่โต เมื่อทรงถามอะไรมาก็ให้มีสติระวังระไว พูดมากเป็นขี้เมาก็ใช้ไม่ได้ พูดน้อยจนต้องซักต่อก็ใช้ไม่ได้ เมื่อพูดอย่าจ้องพระพักตร์หรือเมินเหม่อไปทางอื่น ตั้งอกตั้งใจเพ็ดทูลด้วยถ้อยคำเหมาะและชัดเจน อย่าหัวเราะ อย่าตกใจ อย่ากลัว จงทำหน้าให้ดีและห่มจีวรให้เรียบร้อย แต่ที่คาดรัดประคตหนามขนุนนั้น ท่านทั้ง ๓ จะทักถามก็ใช่เหตุ ได้แต่เก็บความแปลกใจไว้ พระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วง พาสามเณรโตลงเรือออกจากวัดบางลำพูมาจอดที่ตำหนักแพ หน้าพระราชวังเดิม ซึ่งเป็นที่ประทับ เมื่อเจ้าพนักงานท้องพระโรงนำความขึ้นกราบทูลว่า พระโหราธิบดีพาสามเณรมาเฝ้า จึงเสด็จออกท้องพระโรง ทรงปราศรัยซักถามพระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วง ซึ่งกราบทูลคุณสมบัติของสามเณรโตขึ้นก่อนให้ทรงทราบ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทอดพระเนตรเห็นสามเณรโตเปล่งปลั่งรังสี รัศมีกายงามมีราศี และมีรัดประคตหนามขนุนอย่างของขุนนางนายตำรวจใหญ่คาดเป็นบริขารมาด้วย ทรงโสมนัสยิ่งนัก เสด็จตรงเข้าจับมือสามเณรโต จูงมาให้นั่งพระเก้าอี้เคียงพระองค์ แล้วทรงถามว่าอายุเท่าไหร่ ทูลว่าขอถวายพระพรอายุได้ ๑๘ เต็มในเดือนนี้ ทรงถามว่าเกิดปีอะไร ทูลว่าปีวอกอัฐศก รับสั่งถามว่าบ้านเกิดที่ไหน ทูลว่าอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร แล้วย้ายลงมาอยู่เหนือเมืองพิจิตร รับสั่งถามว่าโยมผู้ชายชื่ออะไร ทูลว่าไม่รู้จัก รับสั่งถามว่าโยมผู้หญิงชื่ออะไร ทูลว่าชื่อแม่งุด รับสั่งถามว่า ทำไมโยมผู้หญิงไม่บอกตัวโยมผู้ชายให้เจ้ากูรู้จักบ้างหรือ ทูลว่าโยมผู้หญิงเพียงแต่กระซิบบอกว่า เจ้าของรัดประคตนี้เป็นเจ้าคุณแม่ทัพ ขอถวายพระพร เมื่อได้ทรงฟังตระหนักพระทัยแล้ว ทรงปราโมทย์เอ็นดูสามเณรยิ่งขึ้น รับสั่งว่า “แน่ะคุณโหรา ฟ้าจะทึกทักเอาเป็นพระโหรานำช้างเผือกมาถวาย จงเป็นเณรของฟ้าต่อไป ฟ้าจะเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงเอง แต่พระโหราต้องเป็นผู้ช่วยเลี้ยงช่วยสอนแทนฟ้า ทั้งพระวิเชียรและเสมียนตราด้วย ช่วยฟ้าบำรุงเณร เณรก็อย่าสึกเลย ไม่ต้องอนาทรอะไร ฟ้าขอบใจพระโหรามากทีเดียว แต่พระโหราอย่าทอดธุระทิ้งเณร ช่วยเลี้ยงช่วยสอนต่างหูต่างตาช่วยดูแลให้ดีด้วย และเห็นจะต้องย้ายเณรให้มาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชมี จะได้ใกล้ๆกับฟ้า ให้อยู่วัดนิพพานารามจะดี” (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ในปัจจุบัน) รับสั่งแล้วจึงมีลายพระราชหัตถเลขามอบสามเณรโตแก่สมเด็จพระสังฆราช (มี) ส่งให้พระโหราธิบดีนำไปถวาย พระสังฆราชคลี่ลายพระหัตถ์ออกอ่านดูก็รู้ความในกระแสรับสั่ง จึงให้ไปตามพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำพูบน ซึ่งเป็นเจ้าของสามเณรโตมาเฝ้า อาจารย์แก้วมาเห็นลายพระหัตถเลขาก็ชื่นชมยินดี อนุญาตให้สามเณรโตอยู่วัดนิพพานารามต่อไป ได้รับนิสัยจากสมเด็จพระสังฆราชด้วยตั้งแต่วันนั้นมา ด้วยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูสมเด็จพระพุฒาจารย์โตมาตลอดรัชกาลตั้งแต่เป็นเณรนี้ บางคนจึงเชื่อว่า สมเด็จโตเป็นโอรสของท่าน อย่างในหนังสือชุดภาษาไทย ของคุรุสภา เรื่อง “สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)” แต่งโดย “ฉันทิชัย” เล่ม ๒ พิมพ์ครั้งที่ ๒ใน พ.ศ. ๒๕๓๓ กล่าวไว้ในหน้า ๑๕๗ ว่า “ข้าพเจ้าได้พบ มหาพรหม ขะมาลา เปรียญสำนักวัดพระเชตุพน กรุณาเล่าให้ฟังถึงประวัติของสมเด็จฯ ในฐานะที่เคยทราบมาว่าข้าพเจ้ากำลังค้นประวัติของสมเด็จฯอยู่ จึงได้สนทนาถึงประวัติสมเด็จฯกันขึ้น เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน มหาพรหม ขะลามา เป็นข้าราชการเก่าแก่ของกรมศิลปากร และได้เคยรวบรวมประวัติของสมเด็จฯไว้เป็นอันมาก รวมทั้งเคยได้ฟังคำเล่าจาก เจ้าคุณมงคลทิพมุนี (มุ้ย) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิฯ ผู้เป็นอาจารย์ สมัยมหาพรหม ขะมาลา ยังเป็นภิกษุอยู่นั้นได้ยินได้ฟังท่านอาจารย์เล่าให้ฟังอย่างละเอียด ซึ่งเป็นการแน่นอนเหลือเกินว่าอาจารย์ของมหาพรหม ขะมาลาต้องทันได้พบเห็นสมเด็จฯ ด้วยว่าแม้ขณะนี้มหาพรหม ขะมาลาเองก็มีอายุเกือบถึง ๘๐ ปีแล้ว ขาดอยู่อีก ๑ ปีเท่านั้น ปัญหาเกิดขึ้นระหว่างข้าพเจ้ากับมหาพรหม ขะมาลา ในเรื่องประวัติของสมเด็จฯ ข้าพเจ้าเห็นไปทางหนึ่ง มิอาจตกลงกันได้ มหาพรหม ขะมาลา จึงให้ข้าพเจ้าอ่านถ้อยคำที่ท่านเรียบเรียงประวัติของสมเด็จฯไว้ ด้วยความกรุณาแก่ข้าพเจ้าเป็นพิเศษในฐานะที่ครั้งหนึ่งเคยรับราชการร่วมกันมาที่กรมศิลปากร เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๗-๗๘ ข้อความที่มหาพรหม ขะมาลา ได้เรียบเรียงไว้นั้น พลความเหมือนกับที่เคยโจษขานเล่ากันอยู่แล้วแต่แรก ว่าสมเด็จฯเป็นโอรสลับของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ข้อความตามที่มหาพรหม ขะมาลา เรียบเรียงไว้สละสลวยน่าอ่านพอจะเก็บความมาเล่าได้ดังนี้ “ชาติภูมิดั้งเดิมของสมเด็จฯนั้น พระอาจารย์ของมหาพรหม ขะมาลา เล่าว่า อยู่ที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอมหาโพธิ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ แต่เมื่อทำมาหากินไม่ได้ผล ก็อพยพครอบครัวลงมาอยู่ที่ตำบลไชโย และมารดาของสมเด็จฯเป็นสาวสวย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นไปทัพทางภาคเหนือไปได้มารดาของสมเด็จฯเป็นบาทบริจาริกา และเมื่อเสด็จกรีฑาทัพไปแล้วแม้ตอนเสด็จกลับก็มิได้มารับมารดาของสมเด็จฯไปด้วย อยู่ต่อมามารดาของสมเด็จฯตั้งครรภ์ โดยที่ไม่ทราบว่าบิดาของสมเด็จฯเป็นใคร นอกจากทราบว่าเป็นแม่ทัพใหญ่ เมื่อครบกำหนดก็คลอดสมเด็จฯ และให้นามว่า “โต” เป็นที่น่าเสียดายที่ตามคำบอกเล่าของอาจารย์ของมหาพรหม ขะมาลา นั้นไม่ได้ระบุ วัน เดือน ปี ที่สมเด็จฯ ชาตะไว้ด้วย เพราะจะอาศัยเป็นหลักฐานพิสูจน์ข้อความต่างๆที่เล่ากันมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่เมื่ออาศัยตำนานพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสมมติอมรพันธุ์ ทรงนิพนธ์ไว้แล้ว ก็ทราบว่าสมเด็จท่านชาตะ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๕๐ ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ ข้าพเจ้าเคยพิสูจน์ไว้ครั้งหนึ่งแล้วว่า ปี พ.ศ. ๒๓๓๐ – ๒๓๓๑ เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตามเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระชนกาธิราช ไปงานพระราชสงคราม ณ เมืองทวาย กรำงานพระราชสงครามอยู่ถึง ๒ ปีเศษ ถ้าพิเคราะห์ตามนี้ก็รู้สึกว่าคำกล่าวนั้นจะห่างไกลต่อข้อเท็จจริงมาก ในข้อที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะมาให้กำเนิดสมเด็จฯได้ แต่เพื่อให้เป็นการพิสูจน์ด้วยเหตุผลและหลักฐานจะขอนำถ้อยคำที่เล่ากันมาแต่ก่อน ซึ่งมหาพรหม ขะมาลาได้บันทึกไว้มาเป็นหลักวินิจฉัยดังนี้ “เมื่อข้าพเจ้ายังบวชและสำนักอยู่ ณ วัดพระเชตุพนฯ ในคณะของ ท่านเจ้าคุณมงคลทิพมุนี (มุ้ย) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิฯ ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็น พระธรรมวิหารีเถระ อยู่ ณ วัดพระเชตุพนฯ นั้น เมื่อถึงวันว่างเวลากลางคืน ข้าพเจ้ามักไปนวดท่านเสมอมิได้ขาด แล้วท่านได้เล่าประวัติของ เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตารามให้ข้าพเจ้าฟัง และทั้งข้าพเจ้าได้ฟังมาจากทางอื่นบ้างเท่าที่จำได้ว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านเป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งยังทรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธออยู่นั้น แต่หากถูกปิดเสีย ส่วนโยมผู้หญิงของท่าน เป็นชาวบ้านตำบลท่าอิฐ อำเภอบางโพธิ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ แต่จะมีนามชื่อไรไม่ปรากฏ แต่เจ้าพระคุณสมเด็จฯนั้นท่านว่าเกิดที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง แต่จะเกิดในวัน เดือน และปีใดไม่ปรากฏ “เรื่องพิสดารนั้นกล่าวว่า คราวหนึ่งที่ตำบลท่าอิฐบังเกิดฝนแล้ง และน้ำน้อยติดๆกันมาหลายปี ชาวนาในตำบลนั้นทำนาไม่ได้ผล ถ้าใครมีนาลุ่มก็พอได้รับประทานบ้าง ส่วนจำพวกที่นาดอนไม่ได้รับผลเลยแม้แต่น้อย นาบิดามารดาของโยมผู้หญิงของเจ้าพระคุณสมเด็จฯอยู่ในจำพวกนาดอนเหมือนกัน ฉะนั้นจึงได้ยกครอบครัวอพยพพากันลงมาหากินอยู่แถวอำเภอไชโย เป็นต้นว่า ทำขนมขายบ้าง และแลกข้าวบ้าง “ในปีนั้น หรือจะเป็นปีต่อมาอีกกี่ปีไม่ปรากฏว่า มีศึกมาติดทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ แต่จะเป็นเมืองใดไม่ปรากฏ กรรมการเมืองได้มีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อกราบทูลให้ทรงทราบ เสนาบดีผู้ใหญ่จึงได้นำเอาใบบอกนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นการด่วน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธออยู่นั้น เป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ขึ้นไปปราบ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอองค์นั้นได้รับพระบรมราชโองการแล้ว จึงให้ยกพยุหโยธาทัพ พร้อมสรรพด้วยเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เสร็จ ครั้นได้มหาพิชัยฤกษ์มหุติวารแล้ว จึงให้ยกพยุหโยธาทัพออกจากพระนคร เดินทัพรอนแรมไปตามระยะทาง” “ครั้น ณ วันหนึ่งเดินทัพไปถึงวัดไชโยพอเป็นเวลาตะวันบ่ายอักโขอยู่ จึงให้หยุดทัพเพื่อพักแรม ณ ที่นั้น เมื่อหยุดทัพให้พักเรียบร้อยแล้ว พอตกเวลาค่ำลงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น จึงรับสั่งให้พวกมหาดเล็กไปเที่ยวหาหญิงสาวที่มาขายของและเที่ยวเตร่ในบริเวณกองทัพนั้น ซึ่งให้มีรูปลักษณะสมควรจะเป็นบาทบริจาริกาได้ไปถวาย ส่วนโยมผู้หญิงของเจ้าพระคุณสมเด็จฯนั้น ก็มาขายขนมอยู่ในบริเวณนั้นด้วย เมื่อพวกมหาดเล็กรับคำสั่งแล้ว จึงพากันไปเที่ยวหา ครั้นเห็นโยมของเจ้าคุณสมเด็จฯ ซึ่งเป็นหญิงมีรูปสมบัติสะสวยหมดจดงดงามกว่าบรรดาหญิงสาวที่มาในนั้นเข้า ก็พากันนำไปถวาย พอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นทอดพระเนตรเห็นเข้าก็พอพระทัยยิ่งนัก จึงให้นางพักอยู่ ณ ค่ายนั้นคืนหนึ่ง ฝ่ายบิดามารดาของนางอยู่ทางบ้านได้ทราบว่า ธิดาของตนถูกทหารพาเอาไปดังนั้น จึงรีบพากันมาเที่ยวหาในที่ต่างๆตามบริเวณนั้น ก็ไม่พบเห็น และทราบว่าเขาพาเข้าไปในค่าย ครั้นจะตามเข้าไปก็กลัว เพราะมีทหารรักษาการณ์อยู่โดยรอบ เป็นอันหมดทางที่จะเที่ยวหา จึงพากันกลับยังที่อยู่ของตนด้วยความวิปโยค” “ครั้นเวลารุ่งเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นจึงรับสั่งให้พวกมหาดเล็กพานางไปส่งจนถึงบ้านตามที่นางบอกให้นั้น” “พอเวลาได้มหาพิชัยฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น จึงให้ยกทัพออกจากวัดไชโยเดินทัพรอนแรมไปตามระยะทางต่อไป” ส่วนนางนั้นครั้นกลับไปถึงบ้านแล้ว ให้มีความโทมนัสน้อยใจเป็นกำลังเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ครั้นค่อยหายคลายความเศร้าโศกลงบ้างแล้ว บิดามารดาจึงได้ไต่ถามถึงเหตุการณ์กับธิดาที่ไปนั้น ก็ได้รับตอบว่าพวกทหารเขาพาเอาตัวไปให้กับใครคนหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นนายของเขา เมื่อบิดาได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็มิได้ไต่ถามอีกต่อไป แล้วจึงช่วยพูดจาเล้าโลมเอาใจด้วยถ้อยคำมีประการต่างๆ จนธิดานั้นหายความโทมนัสน้อยใจลงได้ “ครั้นอยู่ต่อมาจะนานเท่าไรไม่ปรากฏ นางก็เริ่มตั้งครรภ์ขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงแล้ว นางจึงอุตส่าห์บริหารรักษาครรภ์นั้นเช่นกับหญิงมีครรภ์ทั้งหลาย ครั้นครบกำหนดคลอดแล้วนางจึงคลอดบุตรออกมาเป็นชาย มีรูปลักษณะเป็นที่น่ารักใคร่ยิ่งนัก แล้วนางจึงเฝ้าถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูจนเต็มความสามารถ แม้เวลาไปค้าขายทางเรือก็สู้เอาไปด้วย โดยให้นอนบนเบาะในประทุนเรือ จนทารกนั้นเจริญใหญ่กล้า มีอายุราว ๑ ปี จึงตั้งชื่อให้ตรงกันข้ามว่า “โต” เพราะเหตุที่ทารกนั้นมีร่างเล็ก” สำหรับเรื่องนี้คงเป็นไปไม่ได้ เพราะสมเด็จพุฒาจารย์โต เกิดเมื่อ วันพุธ เดือนหก ปีวอก จุลศักราช ๑๑๓๘ หรือ พ.ศ. ๒๓๑๙ แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติเมื่อวันพุธ เดือนสี่ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙ หรือ พ.ศ. ๒๓๑๐ ห่างกันเพียง ๙ ปีเท่านั้น “ฉันทิชัย” ที่ค้นคว้าเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง ก็ได้กล่าวไว้ในหน้า ๑๖๔ ว่า “แต่อย่างใดก็ตาม เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องก่อนคนรุ่นนี้เกือบ ๑๐๐ ปีแล้ว ฉะนั้นประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จักควรเชื่อประการใดและอย่างไรจะสมแก่เหตุผลนั้น ควรเป็นสิทธิของผู้อ่านทุกคนพึงศรัทธา ข้าพเจ้าขอเป็นแต่นำเสนอในด้านค้นคว้ามาสู่กันฟังเท่านั้น แม้จะมีความเห็นบ้าง ก็ตามวิสัยของผู้ที่ควรเลือกเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อโดยอาศัยเหตุผลเท่านั้น” คนในสมัยก่อนมักจะนิยมให้สิ่งที่ตนเคารพนับถือนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งสูงค่า มีชาติตระกูลสูงส่ง บางทีก็เอาเรื่องที่แต่งเติมเสริมขึ้นและเล่าต่อกันมา จนทึกทักว่าเป็นเรื่องจริง ความจริงสมเด็จพุฒาจารย์โตท่านอาจจะไม่ได้เกี่ยวดองกับสองพระองค์นั้นก็เป็นได้ ฉะนั้นก็ควรเชื่ออย่างที่ “ฉันทิชัย” กล่าวไว้ คือ “ควรเลือกเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อโดยอาศัยเหตุผลเท่านั้น” ความจริงเกียรติคุณของสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ก็มีเหลือคณานับ แม้ท่านจะมรณภาพมาตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๑๕ เป็นเวลากว่า ๑๔๕ ปีมาแล้ว ความเคารพนับถือของผู้คนทั้งหลายก็ยังไม่เสื่อมคลาย เช่นเดียวกับพระพิมพ์ที่ท่านสร้างไว้ ก็ยังครองความนิยมเป็นอันดับหนึ่งตลอดมา และชื่อของท่านก็ยังถูกกล่าวขานถึงไม่จางหาย เชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน
|
|
|
eosgear,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต