จากประชาชาติธุรกิจ
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม โดยนายสัจจาเขม้นงาน ตุลาการเจ้าของสำนวน และองค์คณะ ได้มีคำสั่งตามคดีหมายเลขดำที่ ส. ๙๐/๒๕๕๙ คดีหมายเลขแดงที่ ส. ๑๐/๒๕๖๐ ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ ๑ กับพวกรวม ๒๑ คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ ๑ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ ๒ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ที่ ๓ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ ๔ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย ที่ ๕ (ผู้ถูกฟ้องคดี) เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนยื่นฟ้องคดีต่อศาล รวม ๓ ข้อหา ดังนี้
ข้อหาที่หนึ่ง ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนฟ้องว่า กระบวนการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๗๙ หรือแผน PDP 2015 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่สะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โดยผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคน
เห็นว่า เมื่อปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลง ในการจัดทำแผน PDP 2015 ที่ถูกต้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าต้องปรับลดกำลังการผลิตไฟฟ้าหรือยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงของประเทศ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้ากลับร่วมกันจัดทำแผนดังกล่าวไป
ในทางตรงกันข้ามโดยมีการเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นให้จ่ายไฟได้เร็วขึ้นและการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ (ครั้งที่ ๒) เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีมติเห็นชอบแผน PDP 2015 ประกอบกับการที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘
มีมติรับทราบมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดังกล่าวตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเมื่อมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีมีมติเพียงรับทราบมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เท่านั้น โดยไม่ได้ลงมติอนุมัติหรือเห็นชอบแผนดังกล่าวจึงไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ไปดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จังหวัดกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง (โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ ๔ – ๗) ซึ่งเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามแผน PDP 2015 ดังกล่าว จึงเป็นการสร้างภาระทางงบประมาณแก่ประเทศโดยไม่จำเป็น อีกทั้งการใช้ถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ายังก่อให้เกิดมลพิษแพร่กระจายส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนและประชาชนโดยรอบพื้นที่ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนกระบวนการจัดทำแผน PDP 2015 และเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่เห็นชอบแผนดังกล่าวรวมทั้งเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่มีมติรับทราบมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กับให้เพิกถอนการประมูลหรือระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทุกแห่งทั่วประเทศจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำวินิจฉัยในข้อหาที่หนึ่งสรุปได้ว่า
กรณีตามคำฟ้องข้อหาที่หนึ่งนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้นั้นต้องเป็นไปตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่บัญญัติว่า
ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหาย
หรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา ๗๒ ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง
เมื่อกรณีตามคำฟ้องที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนอ้างว่า กระบวนการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๗๙ หรือแผน PDP 2015 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ นั้น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนมิได้แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า การกระทำดังกล่าวก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวอย่างไร
ทั้งโดยเหตุผลของเรื่องแล้วการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ก็มิใช่การกระทำที่ก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะก่อความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ประชาชนคนใดคนหนึ่งโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัวแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนอ้างว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ (ครั้งที่ ๒) เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีมติเห็นชอบแผน PDP 2015 และการที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ มีมติรับทราบมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ดังกล่าว ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๖ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี อันเป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น จึงยังไม่มีผลทางกฎหมายออกสู่ภายนอกไปกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคน ซึ่งหลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๕ยังจะต้องมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการนำแผน PDP 2015 ไปปฏิบัติให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม
ต่อไปอีก ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีดังกล่าว สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนอ้างว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ดำเนินการประกวดราคาเพื่อจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จังหวัดกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจังหวัดสงขลา และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง (โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่๔ – ๗) เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า ประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ เรื่องประกวดราคาจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสามแห่งมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ประเภทคำสั่งทางปกครองทั่วไป มีลักษณะเป็นการเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าเสนอราคาโดยมิได้เจาะจงตัวบุคคลผู้อยู่ในบังคับ ซึ่งเป็นการแจ้งให้ทราบเป็นการทั่วไป
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๙ และที่ ๑๐ มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ผู้ฟ้องคดีที่ ๕ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ และผู้ฟ้องคดีที่ ๘ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบคนมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าได้อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพหรือ
มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งสามแห่งดังกล่าว ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๑๑ ถึงที่ ๒๑ แม้จะมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นบริเวณสถานที่ที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง (โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ ๔ – ๗) ก็ตาม
แต่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑๑ ถึงที่ ๒๑ ก็มิใช่เป็นผู้ประกอบอาชีพก่อสร้างที่มีสิทธิเข้าร่วมประมูลและมิใช่ผู้สนใจเข้าร่วมเสนอราคาตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้ออกประกาศดังกล่าว อีกทั้งในขณะที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนยื่นฟ้องคดีนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่อาจก่อให้เกิดมลพิษแพร่กระจายหรือก่อความเสียหายใดๆ ต่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑๑ ถึงที่ ๒๑ ที่อาศัยอยู่ที่อำเภอแม่เมาะจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งต่อศาลปกครองได้ ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ข้อหาที่สอง ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติโดยมิได้ทบทวนแผน PDP 2015 เนื่องจากเมื่อปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศมีปริมาณลดลง การจัดทำแผน PDP 2015 ที่ถูกต้องควรต้องพยายามปรับลดปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้าแต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้ากลับร่วมกันจัดทำแผน PDP 2015 ไปในทางตรงกันข้าม โดยมีการเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีความจำเป็นให้จ่ายไฟได้เร็วขึ้น เป็นเหตุให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีภาระในการจ่ายเงินให้กับค่าสำรองไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าหรือหน่วยงานใดๆ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำแผน PDP 2015 ใหม่ ให้มีความเหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ
ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำวินิจฉัยในข้อหาที่สองสรุปได้ว่า
กรณีตามคำฟ้องข้อหาที่สองนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้... (๒) สั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนด ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่... เมื่อพิจารณาตามคำฟ้องและคำขอดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนแล้วเห็นว่าแม้กระทรวงพลังงานโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จะมีหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาการ
พลังงานของประเทศ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะมีหน้าที่เสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา ๖ (๑) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ก็ตาม แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จำเป็นต้องมีการติดตามการดำเนินการตามแผนและติดตามสภาวะเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาพรวม ซึ่งหากมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาถึงความเหมาะสม ความจำเป็นเร่งด่วน และผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านในการนำเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อพิจารณาปรับปรุงหรือทบทวนแผนให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา อันเป็นดุลพินิจภายในของฝ่ายปกครองโดยแท้ที่ศาล
ไม่อาจก้าวล่วงไปใช้อำนาจเข้าไปกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้
ฉะนั้น คำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนดังกล่าว จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนจึงมิใช่เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีในข้อหาที่สองต่อศาลปกครองได้ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ข้อหาที่สาม ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนฟ้องว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่มีการเร่งการเปิดใช้โรงไฟฟ้าให้เร็วขึ้นกว่าที่ระบุไว้ในแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๓ รวมถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ที่ไม่เคยถูกระบุไว้ในแผนดังกล่าว เป็นการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่เป็นการดำเนินการตามแผน PDP 2015 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ได้ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่ไม่จำเป็น มีการเบิกใช้งบประมาณของประเทศอันเป็นการสร้างภาระทางงบประมาณก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน รวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหรือระงับการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ กับโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ดังกล่าว
ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำวินิจฉัยในข้อหาที่สามสรุปได้ว่า
กรณีตามคำฟ้องข้อหาที่สามนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในสำนวนคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนเป็นคู่สัญญา
ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ กับโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๓ หรือโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2015 ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ว่า กรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จังหวัดกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจังหวัดสงขลา ปัจจุบันอยู่ในระหว่างกระบวนการประกวดราคา จึงยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ส่วนกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จจึงยังไม่อาจจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ ฉะนั้น จึงย่อมไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนจะมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลเพิกถอนหรือระงับการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ดังกล่าวได้
ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีในข้อหาที่สามต่อศาลปกครองได้ ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เช่นเดียวกัน อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบเอ็ดคนมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น เมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ทั้งสามข้อหาไว้พิจารณาแล้ว จึงไม่จำต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอดังกล่าว
สำนักงานศาลปกครอง
๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส