โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
|
|
ปางอุ๋ง กับบรรยากาศอ่างเก็บน้ำยามเช้าที่มีสายหมอกลอยระเรี่ยท่ามกลางแวดล้อมของทิวสน ขุนเขา ป่าไม้ |
|
|
“...ให้มีการปรับปรุงสภาพป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำปางตองใหม่และฝายปางอุ๋ง ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม...” พระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2527
|
|
ฝูงแกะ และเล็มหญ้าที่ ศูนย์ฯปางตองตามพระราชดำริ |
|
|
หลังจากนั้น “โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปีเดียวกันนี้ ก่อนจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้นอกจากสร้างประโยชน์สุขให้กับชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ยังเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัด“แม่ฮ่องสอน” ที่ในช่วงฤดูหนาวจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัสในความงามของทะเลสาบ สายหมอก หงส์ ทิวสน อันน่ายลและงดงามกระไรปานนั้น ปางตอง
|
|
ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ |
|
|
“โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)” เป็นส่วนหนึ่งของ“ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ” โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีฯ ซึ่งทรงเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่อันตราย อยู่ติดแนวชายแดนพม่า มีกองกำลังต่างๆ มีการขนส่ง ปลูกพืชเสพติด และบุกรุกพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าอยู่เสมอ พระองค์จึงมีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรกลุ่มน้อยบริเวณนั้นให้มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน โดยมีพระราชประสงค์สร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นด้วยการส่งเสริมให้ปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ และฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืนตลอดไป อันนำมาสู่การก่อตั้งศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริขึ้นในปี พ.ศ. 2523
|
|
ศูนย์ฯปางตองตามพระราชดำริ มีการตกแต่งภูมิทัศน์อย่างเป็นระเบียบสวยงสม |
|
|
ปัจจุบันศูนย์ฯปางตองตามพระราชดำริ ได้ขยายพื้นที่โครงการ ประกอบไปด้วย 4 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการพระราชดำริปางตอง 1 (ห้วยมะเขือส้ม) โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) โครงการพระราชดำริปางตอง 3 (แม่สะงา-หมอกจำแป่) และ โครงการพระราชดำริปางตอง 4 (พระตำหนักปางตอง)
|
|
ณรงค์ มาลัยวรรณ |
|
|
ณรงค์ มาลัยวรรณ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ศูนย์ฯปางตองตามพระราชดำริ เปิดเผยว่า วันนี้ศูนย์ฯปางตองตามพระราชดำริ ได้พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้บนที่สูงตามแนวพระราชดำริ พร้อมทั้งได้นำแนวพระราชดำริขยายผลไปยังชุมชนใกล้เคียง
|
|
โรงเรือนฐานศึกษาด้านเฟิร์นที่ ศูนย์ฯปางตองฯ |
|
|
ภายในศูนย์ฯปางตองตามพระราชดำริ มีการสร้างเป็นฐานการเรียนรู้ในด้านต่างๆ อาทิ ฐานเฟิน ฐานกล้วยไม้ ปลาสเตอร์เจียน ปลากดหลวง ศูนย์ไผ่ศึกษา ข้าว กาแฟ ฐานกันพัฒนาดินโดยใช้หญ้าแฝก เป็นต้น
|
|
ฝูงแกะออกหากินที่ศูนย์ฯปางตองฯ |
|
|
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหนึ่งฐานไฮไลท์ที่อยู่ในโครงการฯปางตอง 1 นั่นก็คือ “สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน” ที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับการทดลองและพัฒนา“แกะขน”เป็นหลัก เพื่อให้ได้ขนแกะคุณภาพนำไปใช้กับกลุ่มทอผ้าขนแกะในแม่ฮ่องสอน รวมถึงมีผลิตภัณฑ์จากแกะจำหน่าย เช่นผ้าทอขนแกะ สบู่ เครื่องสำอางจากแกะเป็นต้น
|
|
ฝูงแกะศูนย์ฯปางตองฯ รอกินอาหารจากคนเลี้ยง |
|
|
ที่นี่เราจะได้เห็นฝูงแกะจำนวนมาก ตัวสีขาวนวลขนปุยฟูฟ่องเดินอวดโฉมอย่างน่ารัก สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนได้ไม่น้อยเลย ปางอุ๋ง ศูนย์ฯปางตองตามพระราชดำริ ปัจจุบันยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญได้แก่ โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆว่า“ปางอุ๋ง” ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2527 ตั้งอยู่ที่บ้านรวมไทย ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
|
|
ปางอุ๋งยามเช้า |
|
|
ณรงค์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พื้นที่ปางอุ๋งเดิม เป็นเขาหัวโล้น ป่าเสื่อมโทรม จากนั้นจึงมีการฟื้นฟูสภาพป่า และปลูกป่าขึ้นตามแนวพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” พร้อมทั้งการปลูกป่าในด้านอื่นๆ นอกจากนี้ในพื้นที่แห่งนี้ยังมีการสร้าง“อ่างเก็บน้ำปางตอง(ปางอุ๋ง)”ขึ้นตามพระราชกระแสรับสั่ง(ข้างต้น)ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
|
|
ปางอุ๋ง อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริ |
|
|
อ่างเก็บน้ำแห่งนี้สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริ“มีคนย่อมมีน้ำ” กักเก็บน้ำไว้ให้ชาวชุมชนได้ใช้ทำการเกษตรทำไร่นา และเก็บไว้สำหรับใช้ในโครงการศูนย์ฯปางตองตามพระราชดำริ วันนี้นับเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ที่โครงการพระราชดำริปางตอง 2 หรือ ปางอุ๋ง ได้พลิกฟื้นผืนป่าเสื่อมโทรมให้มีทัศนียภาพที่เป็นเอกลักษณ์สวยงามและมีอากาศที่เย็นตลอดทั้งปี จนได้รับฉายาว่า“สวิตเซอร์แลนด์แห่งเมืองไทย” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่หากใครมาเยือนเมืองสามหมอกไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
|
|
ปางอุ๋งยามเช้าของหน้าหนาวท่ีมีสายหมอกลอยจางๆเหนือผิวน้ำ |
|
|
ปางอุ๋งมีบรรยากาศโดดเด่นไปด้วย วิวทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำอันสวยงาม แวดล้อมไปด้วยทิวสนเรียงราย ในยามเช้าตรู่ของหน้าหนาวหลังจากที่พระอาทิตย์แย้มแสงแรกแห่งวันสาดส่อง ปางอุ๋งจะดูงดงามไปด้วยสายหมอก(ไอน้ำ)ที่ลอยปกคลุมไหลระเรี่ยเหนือผิวน้ำ ท่ามกลางองค์ประกอบแห่งความงามปานประหนึ่งภาพฝัน ของทะเลสาบ ทิวสน ผืนป่า เรือนแพ และหงส์ดำ-ขาว(พระราชทาน) ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันของปางอุ๋งแห่งนี้
|
|
ปางอุ๋งยามเช้า |
|
|
นอกจากนี้ปางอุ๋งยังมีกิจกรรมล่องแพไม้ไผ่นั่งชมวิวทิวทัศน์ของท้องทะเลสาบ และเข้าไปชมหงส์ขาวที่อยู่ลึกเข้าไปในท้องทะเลสาบ รวมถึงยังมีที่กางเต็นท์ มีบ้านพักไว้บริการในพื้นที่ริมทะเลสาบ และมีที่พัก โฮมสเตย์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านของของที่ระลึก ไว้บริการในพื้นที่ของหมู่บ้านรวมไทย
|
|
บ้านพักนักท่องเที่ยวริมอ่างเก็บน้ำ |
|
|
บ้านรวมไทย เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าปางอุ๋ง วันนี้แทบทุกบ้านเปิดเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก กินอาหารพื้นเมือง จิบกาแฟ เดินเล่นชมวิถีชีวิต ซื้อของฝาก หรือทักทายพูดคุยกับชาวบ้านได้ ดังเช่นโฮมสเตย์ของ “ลุงปาละ” ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักท่องเที่ยว อันเนื่องมาจากบริการที่ดี จริงใจ และมีบรรยากาศที่น่าพักผ่อนนอนหลับเป็นอย่างยิ่ง
|
|
ปางอุ๋งยามเช้า |
|
|
ลุงปาละ เป็นชาวพม่าที่เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณตะเข็บชายแดนตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว จนเมื่อในหลวง ร.9 เข้ามารวมชนกลุ่มน้อยทั้งหลายให้อยู่ที่บ้านรวมไทยนี้ และพัฒนาที่นี่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว บ้านของลุงปาละจึงได้กลายเป็นโฮมสเตย์แห่งแรกของหมู่บ้านรวมไทยนั่นเอง
|
|
บรรยากาศปางอุ๋งยามเช้าหลังแสงตะวันสาดส่อง |
|
|
“เมื่อ 20 ปีก่อน ลุงเป็นผู้ใหญ่บ้านของบ้านรวมไทย และได้มีโอกาสรับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 ตอนที่พระองค์เสด็จมาพระตำหนักปางตองเป็นครั้งแรก ลุงได้เป็นตัวแทนชาวบ้านรับถุงพระราชทานจากพระองค์ ข้างในถุงเป็นเสื้อผ้าทั้งของผู้ใหญ่และเด็ก ชุดทำงาน ผ้าห่ม พระองค์ทรงเป็นห่วงและมีพระเมตตากับพวกเราทุกคนมาก”
|
|
ต่างพร้อมใจกันนั่งถ่าย(รูป)ปางอุ๋งยามแสงตะวันสาดส่อง |
|
|
ลุงปาละเล่าให้ฟัง ก่อนเล่าต่อว่า หลังจากที่มีอ่างเก็บน้ำตามโครงการของพระองค์ ก็ทำให้พื้นที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ ช่วยชาวบ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พวกเราชาวบ้านรวมไทยดีใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นอย่างมาก ตอนนี้พวกเรามีอาชีพ มีรายได้ เหมือนเป็นคนไทยคนหนึ่งแล้ว
|
|
หงส์ดำก็มีหัวใจ |
|
|
และนี่ก็คือหนึ่งในความประทับใจซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงงานหนักไม่ยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อพสกนิกร ซึ่งวันนี้โครงการศูนย์ฯปางตองตามพระราชดำริ นอกจากจะพลิกฟื้นผืนป่าเสื่อมโทรมเขาหัวโล้น ให้กลายเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์สวยงามแล้ว
|
|
สายพรีเวดดิ้งก็มา |
|
|
ขณะที่ผลพลอยได้สำคัญจากโครงการตามแนวพระราชดำริใต้ร่มพระบารมี ยังส่งผลให้ ศูนย์ฯปางตองตามพระราชดำริ โดยเฉพาะโครงการพระราชดำริปางตอง 2 หรือ ปางอุ๋ง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามเลื่องชื่อ ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างสูง นับเป็นความงดงามใต้ร่มพระบารมี และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวตามรอยพระบาทอันสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย
|
|
ปล่อยอารมณ์ไปกับบรรยากาศอันแสนชิลล์ |
|
|
******************************************
|
|
สวัสดีปางอุ๋ง |
|
|
ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ เป็นหนึ่งใน “70 เส้นทางตามรอยพระบาท” แคมเปญท่องเที่ยวสำคัญของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ศูนย์ฯปางตองตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดให้ชมทุกวัน 08.30 - 16.30 น. “โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)” หรือที่นิยมเรียกันสั้นๆว่า “ปางอุ๋ง” ตั้งอยู่ที่บ้านรวมไทย ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน สามารถสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยว ปางอุ๋ง และศูนย์ฯปางตองฯ ได้ที่ โทร. 0-5361-1244,08-5618-3303 และสอบถามการจองบ้านพักรับรองของป่าไม้ (บ้านพักในโครงการฯปางตอง 2) ได้ที่ 08-2898-2536 ติดต่อพื้นที่กางเต็นท์ที่ 08-0847-8456,08-7661-8594 และติดต่อ“ลุงปาละ Home Stay” ที่ 0-5369-2144 สำหรับผู้ที่สนใจเที่ยว ศูนย์ฯปางตองฯ ปางอุ๋ง หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในแม่ฮ่องสอน สามารถสอบถามข้อมูลการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร เพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982-3 |