จากประชาชาติธุรกิจ
"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ในวันเริ่มพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 และทรงปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จวบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมมายุ 89 พรรษา พระปฐมบรมราชโองการนั้นยังคงกึกก้องอยู่ในหัวใจประชาราษฎร์ทั่วทั้งแผ่นดินไทย พสกนิกรต่างร่ำไห้โศกเศร้าอาดูรจากการเสด็จสวรรคตของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า
นับระยะเวลาได้ 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติ นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระปรีชาสามารถ เพื่อพัฒนาให้พสกนิกรของพระองค์ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปรียบดั่งเส้นทางรักของพระราชา ที่ปรารถนาจะเชื่อมทุกเส้นทาง เพื่อไปหาราษฎรของพระองค์ นับหมื่นโครงการส่วนพระองค์และโครงการพระราชดำริที่พระราชทานแก่ประชาราษฎรของพระองค์ในทุกตารางพื้นที่
นับตั้งแต่เหนือจดใต้ ตะวันออกจดตะวันตก เพื่อให้ประชาราษฎร์อยู่ดีกินดี ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้สร้างประโยชน์มหาศาลแก่คนในชาติ
ฉะนั้นไม่เพียงแต่พสกนิกรชาวไทยเท่านั้นที่แซ่ซ้องสรรเสริญชื่นชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ชาวต่างชาติต่างยกย่องในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกในปัจจุบัน
พระราชประวัติ "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ของปวงชนชาวไทยนั้นเริ่มต้น...จากเจ้านายพระองค์น้อยสู่ราชบัลลังก์ ในเช้าวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2470 เวลา 8.45 น. ที่ตึกฟิสก์ของโรงพยาบาล
เมานต์ออเบิร์น ซึ่งขณะนั้นมีชื่อว่าโรงพยาบาลเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา ทารกน้อยเพศชายชาวเอเชียที่เกิดจากมารดาที่ชื่อ มิสซิสสังวาลย์ ซึ่งไม่มีใครทราบล่วงหน้าว่าในกาลต่อมา ทารกน้อยผู้นั้นคือ พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่
ทารกผู้นั้น คือ พระโอรสพระองค์ที่สามใน สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ สมาชิกพระองค์หนึ่งแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ของประเทศไทย ขณะที่พระองค์กำลังทรงศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ภายหลังทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพระชายาคือ หม่อมสังวาลย์ ศึกษาวิชาพยาบาล ต่อมาได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระโอรสพระองค์นี้ทรงได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช พระนาม ภูมิพล นี่แปลว่า พลังของแผ่นดิน เสมือนเป็นนัยสำคัญว่า พระองค์จะทรงมีความสำคัญยิ่งใหญ่ต่อพสกนิกรไทย ดุจดั่งความหมายแห่งพระนาม
พระองค์มีพระพี่นางพระองค์ใหญ่ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา และพระเชษฐา คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ครั้นต่อมาผันแปรอย่างมากมาย เมื่อพระเชษฐาทรงได้รับการอัญเชิญขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงอภิเษกสมรสกับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร) ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ทรงมีพระราชโอรส-พระราชธิดา 4 พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
แม้ว่าพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชฐานะ "พ่อของแผ่นดิน" จะมีมากมายเพียงใด แต่ในพระราชฐานะ "พ่อของลูก" ที่ต้องให้การศึกษาอบรมแก่พระราชโอรสและพระราชธิดาก็ทรงทำอย่างเต็มที่ แม้จะมีพระราชกรณียกิจเสด็จฯออกแทบทุกวัน ทรงตระเวนไปแทบทุกตำบลในประเทศไทย เพื่อทรงคิดโครงการขึ้นมาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนของพระองค์
แม้วันนี้ "พ่อของแผ่นดิน" เสด็จสวรรคตแล้ว แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยในประชาราษฎร์ของพระองค์ท่านยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจคนไทยทั้งแผ่นดิน และฝังลึกลงในดวงจิตดวงใจทวยราษฎร์ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูทุกข์สุขของประชาชนด้วยพระองค์เอง ด้วยพระหัตถ์ของพระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตา พระกรุณา โดยมิทรงย่อท้อต่อความลำบากที่พระองค์ทรงเผชิญมาตลอดพระชนม์ชีพ
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส