จากประชาชาติธุรกิจ
โครงการพระราชดำริฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ในเดือนพ.ย. 2498 และพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น
มีการพัฒนากรรมวิธีต่อเนื่อง โดยที่พระองค์ทรงติดตามผลการทดลองควบคู่การปฏิบัติการ ทรงวิจัยจากรายงานผลการปฏิบัติการประจำวันและรายงานคณะปฏิบัติการที่ทรงบัญชาการด้วยตัวเอง และสนพระทัยศึกษาจากเอกสารวิชาการ มีการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าจำลองครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2512 และขยายผลปฏิบัติการไปช่วยเหลือเกษตรกร
กระทั่งปี 2518 รัฐบาลได้ตราพ.ร.ฎ.ก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ขึ้นในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ด้วยภารกิจที่มากขึ้นในปี 2535 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้รวมสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง กับกองบินเกษตรเข้าเป็นหน่วยงานเดียว ชื่อว่า สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร
หลักการของโครงการพระราชดำริส่วนหนึ่งคือ การพัฒนาต้องเป็นไปตามลำดับความจำเป็น ประหยัด และการพึ่งตนเอง ประกอบกับในปี 2539 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี นำมาสู่การจัดตั้งศูนย์วิจัยปฏิบัติการฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติ
นอกจากเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสอันเป็นมงคลดังกล่าว ศูนย์นี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนากรรมวิธีการทำฝนหลวงเพื่อช่วยราษฎรและเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง และเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสริมสร้างความร่วมมือและเป็นศูนย์ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการสาธิตด้านการทำฝนหลวงในเขตร้อน
และครั้งที่เกิดไฟไหม้พื้นที่ พรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ในปี 2541 มาตรการของภาครัฐไม่สามารถดับไฟป่าได้อย่างสิ้นเชิง ความรุนแรงของเปลวเพลิงขยายอาณาเขตกว้างขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงแนะนำให้ทำฝนหลวงภารกิจพิเศษ ควบคู่กับมาตรการอื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่ จนสามารถควบคุมไฟให้ดับสนิทในที่สุด
อีกทั้งในปี พ.ศ.2540-2541 ซึ่งเกิดวิกฤตภัยแล้งอย่างกว้างขวางจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ กระทบต่อฤดูแล้งปี 2542 เกิดปัญหาขาดแคลน น้ำเป็นวงกว้าง ก็ทรงแนะนำให้ตั้งคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษขึ้นที่ จ.นครสวรรค์และพิษณุโลก เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำภาคกลางตอนบน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง
ทรงออกแบบวิธีการโจมตีเมฆที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น พระราชทานชื่อ "ซูเปอร์แซนด์วิช" รวมทั้งทรงประดิษฐ์ภาพการ์ตูนแจงรายละเอียดขั้นตอนและวิธีการทำฝนหลวงทุกขั้นตอนไว้อย่างสมบูรณ์ เพียง 1 หน้ากระดาษ ซึ่งต่อมาเรียกว่า "ตำราฝนหลวง" จนสามารถแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งให้กลับสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว
โครงการพระราชดำริอีกโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมากคือ โครงการชลประทาน ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ แก้ปัญหาทั้งในยามภัยแล้งและน้ำท่วม
การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในชนบททุกครั้ง ในหลวงได้พระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระราชดำริในพระองค์ และอีกส่วนเป็นพระราชดำริอันเนื่องมาจากการกราบบังคมทูลพระกรุณาธิคุณขอพระราชทานความช่วยเหลือของราษฎร ให้ช่วยจัดหาแหล่งน้ำในท้องถิ่นต่างๆ
ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านใด พระองค์จะทรงศึกษาสภาพภูมิอากาศ แหล่งน้ำ สภาพเศรษฐกิจ และสังคมในหมู่บ้านใกล้เคียง แล้วจึงทรงพิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในเบื้องต้น โดยอาศัยแผนที่และภาพถ่ายทางอากาศประกอบ เพื่อเตรียมจัดหาแหล่งน้ำ
และระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรพระองค์ทรงถือแผนที่ไปด้วยทุกครั้ง ทรงสอบถามข้อมูลจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ รวมถึงผู้เฒ่าผู้แก่ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมมาตลอด เป็นต้นว่าการประกอบอาชีพ สภาพการทำนา และการเพาะปลูกอย่างอื่น สภาพฝน และแหล่งน้ำธรรมชาติ
งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการมีหลายประเภท ได้แก่ อ่างเก็บน้ำที่เกิดจากการสร้างเขื่อนปิดกั้นระหว่างหุบเขาหรือ เนินสูง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภค ทำการเกษตร ใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและกุ้งน้ำจืด และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วทุกภาค,
ฝายทดน้ำ เมื่อสภาพภูมิประเทศไม่เหมาะสมกับการสร้างอ่างเก็บน้ำ มีการก่อสร้างมากในภาคใต้, การขุดหนองและบึง และสระเก็บน้ำ
นอกจากปัญหาภัยแล้ง ในหลวงยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไว้หลายแนวทางเช่นกัน โครงการแก้มลิงในพระราชดำริ เป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยใช้หลักการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลตามคลองในแนวเหนือใต้ลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณชายทะเล
รวมถึงการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ อาทิ เขื่อนกักเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนป่าสัก จ.ลพบุรี เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา, การสร้างคันกันน้ำ, การก่อสร้างทางผันน้ำหรือขุดคลองสายใหม่, การระบายน้ำออกจากพื้นที่
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ เพื่อไม่ให้พื้นที่เกษตรกรรมในเขตลุ่มน้ำเสียหายเนื่องจากปัญหาน้ำกร่อย หรือภาวะน้ำท่วม อาทิ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง โครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนรา
เรื่องปัญหาน้ำเสีย ได้พระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ศึกษา ทดลอง และแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยการบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ ใช้เครื่องเติมอากาศ หรือกังหันน้ำชัยพัฒนา และการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ
ข้อมูลและภาพจากหนังสือ 5 ธันวามหาราช มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 75 พรรษา
ที่มา ข่าวสดออนไลน์, ข้อมูลและภาพจากหนังสือ 5 ธันวามหาราช มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 75 พรรษา
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส