จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร
ข่าวที่นำมาซึ่งความสลดใจของพวกเราชาวไทยที่เสียภาษีก็คือ ข่าวประธานองค์การคลังสินค้า หรือ อคส. จะทำเรื่องขออนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำการเผาทำลายมันเส้นและข้าวโพด ที่รัฐบาลโดยองค์การคลังสินค้า หรือ อคส. ซื้อมันสำปะหลังและข้าวโพดตามนโยบายพยุงราคาและจำนำมันเส้นกับข้าวโพด เป็นจำนวนมันเส้น 387,000 ตัน และข้าวโพดเป็นจำนวน 94,000 ตัน
มันเส้นและข้าวโพดเหล่านี้ รัฐบาลทยอยซื้อมาหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551เรื่อย ๆ มา และนำมาให้องค์การคลังสินค้าเก็บไว้ องค์การคลังสินค้าก็ต้องไปเช่าโกดังสินค้าเอกชนเก็บ เสียค่าเช่าโกดังเก็บเดือนละไม่น้อยกว่า 11 ล้านบาท
มันสำปะหลังและข้าวโพดเหล่านี้เน่าเสียเป็นผงจนไม่อาจจะขายเป็นอาหารสัตว์ หรือจะนำไปหมักทำเป็นแอลกอฮอล์ก็ไม่ได้ ต้องกำจัดโดยการเผาทิ้ง ทำนองเดียวกันกับสต๊อกข้าวที่ซื้อมาภายใต้โครงการรับจำนำข้าวที่เน่าเสียหายเป็นจำนวนมาก และยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการขนส่งและเผากำจัดอีกต่างหาก
ความ เสียหายจากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาลถ้าจะนำมาสร้าง รางรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศอาจจะทำได้สร้างทางด่วนทั่วประเทศ สร้างท่าเรือน้ำลึก สร้างสนามบินทั่วประเทศ หรือจะสร้างโรงพยาบาลก็อาจจะใช้เงินน้อยกว่านี้
มีความพยายามบอกว่า ก็เป็นประโยชน์กับชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนยาง แต่ความจริงชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนยาง ได้รับประโยชน์ไม่ถึงครึ่งของความเสียหายที่สูญเสียไปในอากาศ เพราะการเสื่อมสภาพเน่าเสีย ถ้าจะเอาเงินแจกชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนยางโดยตรงอย่างที่รัฐบาล คสช.ทำอยู่ในปัจจุบัน ก็จะใช้เงินไม่ถึงครึ่งของความเสียหายที่ผู้เสียภาษีอย่างพวกเราต้องรับภาระ
นอกจากข่าวการเน่าเสียหายของสินค้าเกษตรจากรัฐบาลที่ผ่านๆมาสต๊อกเอาไว้แล้ว ก็ยังมีข่าวว่าทาง อคส.จะแจ้งคดีทุจริตคอร์รัปชั่นและการรั่วไหลของโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ แม้ว่าจะมีข่าวเช่นว่านี้มานานกว่า 30-40 ปี แต่ก็ยังไม่เคยเห็นผู้ใดต้องได้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่านี้
การหยิบยกเอาประเด็นนี้ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังยกร่างกันอยู่นี้จึงเป็นสิ่งที่ชอบแล้วมิฉะนั้นแล้วเมื่อมีการเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาลใหม่ ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้มีโครงการพยุงราคาบ้าง ประกันราคาบ้าง รับจำนำบ้าง รัฐมนตรีพาณิชย์ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ทำกันทั้งนั้น เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยหัวคะแนนแล้ว ยังได้เงินเข้าพรรคเพื่อใช้หาเสียงในการเลือกตั้งอีกด้วย โดยยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ยังไม่มีใครเคยได้รับโทษทัณฑ์เลย
นโยบายประกันราคา นโยบายพยุงราคานโยบายรับจำนำ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดของสินค้าเกษตรเหล่านี้ของประเทศ แทนที่เราควรจะลดการผลิตสินค้าเกษตรที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดลง โดยอนุญาตให้ราคาต่ำลงแล้วนำไปผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อให้มีการปรับตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจอยู่เสมอ สินค้าเกษตรของเราจะมีราคาสูงเกินไปไม่ได้ มิฉะนั้นการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะเกิดขึ้น เพราะเรามีพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านหลายพันกิโลเมตร
เราจะไปลอกแบบนโยบายการเกษตรของสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลียไม่ได้ เพราะที่นั่นมีการจำกัดจำนวนเกษตรกร จำกัดเนื้อที่เพาะปลูกไม่ให้ผลิตเกินความต้องการภายในประเทศ และไม่ได้พึ่งพาตลาดส่งออกสินค้าเหล่านี้เป็นสำคัญ ซึ่งต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น เวียดนาม พม่า และอื่น ๆ อีกทั้งเราไม่สามารถจำกัดจำนวนเกษตรกรและเนื้อที่เพาะปลูกได้ ยิ่งทุกวันนี้บ้านเรามีคนใช้เครื่องมือเครื่องจักรในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ก็จะยิ่งทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นทุกปีโดยการอุดหนุนจากภาษีอากรของคนทั้งประเทศ ทั้ง ๆ ที่มีวิธีการอย่างอื่นที่จะให้ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนยางมีรายได้โดยการอุดหนุนทางอื่น แต่ไม่สูญเสียจากการเสื่อมคุณภาพ และการเน่าเสียของผลผลิตทางการเกษตรเหล่านั้น
ปัญหาของประเทศรายได้ ปานกลางกับการรักษาระดับรายได้ของเกษตรกรที่ไม่มีระบบการจำกัดจำนวนเกษตรกร และเนื้อที่การเพาะปลูกเป็นปัญหาอย่างมากว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ไม่เกิดความสูญเปล่าอย่างที่ประเทศของเราทำ
การจะทำนโยบายและมาตรการอย่างประเทศอื่นที่ประเทศเป็นเกาะเช่นญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือมีระบบราชการที่มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพสามารถควบคุมการนำเข้าและส่งออกได้ง่าย ก็คงจะทำไม่ได้ หรือทำได้ก็คงไม่มีประสิทธิภาพ ทางที่ดีก็ควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ขณะเดียวกันก็กันงบประมาณส่วนหนึ่งจ่ายชดเชยเกษตรกรขนาดเล็กเท่าที่จะทำได้ แม้จะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นก็คงไม่มากและคงควบคุมได้พอสมควร ไม่เหมือนการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกการทุจริตคอร์รัปชั่นชนิดนี้ว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย
อีกวิธีหนึ่งก็คือการชดเชยการส่งออกแม้ว่าอาจจะขัดกับกฎขององค์การการค้าโลกหรือWTO แต่สินค้าเกษตรและสินค้าขั้นปฐมก็ได้รับการยกเว้น เพราะสินค้าเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาได้ เนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานและรายได้ของประชากรในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่สูง ถ้าหากเปิดตลาดให้มีการนำเข้าโดยเสรี แม้จะตั้งกำแพงภาษีขาเข้าที่สูงก็ไม่อาจจะรักษาภาคเกษตรที่มีต้นทุนการผลิตแพงกว่าประเทศกำลังพัฒนาไว้ได้
ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โลกนั้นไม่มีประเทศใดสามารถที่จะกำหนดราคาในตลาดโลกได้เพราะสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรเช่น ข้าวสาลี ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน หรือแร่ธาตุโลหะ ตลาดโลกจะเป็นผู้กำหนดราคาตามกลไกตลาดที่อิงตามปริมาณผลิตและปริมาณความต้องการใช้ หรือปริมาณความต้องการซื้อของและที่ต้องการขาย และปริมาณที่จะเก็บไว้เพื่อการเก็งกำไรจากการคาดการณ์ตลาดหรือราคาซื้อขายล่วงหน้า โดยไม่มีผู้ใดหรือประเทศใด ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ หรือผู้ขายรายใหญ่จะเป็นผู้กำหนดได้
สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง หรือเนื้อสัตว์ แต่สหรัฐก็ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าเหล่านั้นในตลาดโลกได้ รัสเซียเคยเป็นผู้นำเข้าข้าวสาลีมากที่สุดในโลก ก็ไม่สามารถกำหนดราคานำเข้าโดยตนเองได้ จีนเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองมากที่สุดในโลกก็ไม่สามารถกำหนดราคาตลาดโลกได้ เนื่องจากผู้ผลิตสามารถผลิตมากขึ้นได้เสมอ ถ้าราคาสินค้าชนิดนั้นสูงขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็อาจจะบริโภคน้อยลงได้ ถ้าราคาสินค้าชนิดนั้นมีราคาแพงขึ้น ในทางกลับกัน ผู้ผลิตจะผลิตน้อยลง ผู้บริโภคจะบริโภคมากขึ้น ถ้าราคาต่ำลง
การที่ผู้นำจีนประกาศว่า เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์หลายอย่าง เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ธัญพืช ดังนั้นจีนจะให้ประเทศของตนเป็นศูนย์กลางการค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ของโลก ให้จีนเป็นผู้กำหนดราคาตลาดโลกของโภคภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นความคิดที่เป็นไปไม่ได้ ผู้นำจีนอาจจะเข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจกลไกตลาดของสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก อาจจะพูดไปเองโดยไม่ได้ปรึกษานักเศรษฐศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญของตน แม้ว่าจีนจะเป็นผู้ใช้หรือผู้บริโภครายใหญ่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกำหนดราคาได้เองตามลำพัง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกรวมตัวกันเป็นโอเปก หรือ OPEC ในที่สุดก็ไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมราคาน้ำมันในตลาดโลกได้
ผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดเป็นผู้รับราคาตลาดโลกหรือเป็น"Price Takers" ทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ตั้งราคาในตลาดโลก หรือ "Price Makers" ข้อเท็จจริงอันนี้ทำให้การจัดตั้ง "มูลภัณฑ์กันชน" หรือ "Buffer Stock" ของสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา จึงประสบความล้มเหลวและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ไม่คุ้มค่า โครงการซื้อสินค้าเกษตรเพื่อยกระดับราคาให้สูงกว่าราคาตลาดโลก สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องส่งออกสินค้าที่ผลิตเกินความต้องการใช้ในประเทศ จึงเป็นนโยบายที่ประสบความล้มเหลว
แต่ก็มีความพยายามทำกันทุกรัฐบาล
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต