จากประชาชาติธุรกิจ
ท่ามกลางสภาวะอากาศที่แปรปรวน ทั้งแดดออก อากาศร้อน ฝนตก อากาศเย็น อับชื้น อาจกระตุ้นให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโรคลมพิษแบบเฉียบพลัน ที่เมื่อกล่าวขึ้นทุกคนจะรู้จักเป็นอย่างดี แต่เชื่อว่าหลายๆ คน อาจจะยังไม่รู้จักโรคลมพิษแบบเรื้อรัง ซึ่งมีลักษณะอาการที่คล้ายกับโรคลมพิษแบบเฉียบพลันที่ผู้ป่วยจะต้องทรมานกับ อาการผื่นคันอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังมีผลต่อบุคลิกภาพและความสวยงามของผู้ป่วย รวมถึงกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน
ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 1 ตุลาคมเป็นวันโรคลมพิษโลก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้ทั่วโลกร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญ ของโรคลมพิษ ที่ถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่ก็มีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต ของผู้ป่วย จึงอยากให้คนไทยหันมาให้ความสนใจกับโรคใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองหรือคน ใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
โรคลมพิษ เป็นโรคที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดได้ตั้งแต่ 0.5 หรืออาจถึง10 ซม.เกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขนขา มีอาการคัน แต่ละผื่นมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากมักไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นนั้นก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่น ๆ ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม ตาบวม (Angioedema) โรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
โรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน (acute urticaria) คือ อาการผื่นลมพิษเป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่มักเป็นปฏิกริยาต่อการติดเชื้อเช่น เป็นไข้หวัด บางรายเกิดจากยา อาหาร แมลงกัดต่อย เมื่อแก้ปัญหาที่สาเหตุแล้วอาการก็จะดีขึ้น อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายก็หาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ ผู้ป่วยโรคลมพิษชนิดเฉียบพลันรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการแสดงที่อวัยวะอื่นได้ เช่น อาการปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หอบหืด หรืออาจเป็นลมจากความดันโลหิตต่ำ แต่จะพบได้น้อย โรดลมพิษชนิดเฉียบพลัน มักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ป่วยโรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน ผื่นอาจขึ้นต่อเนื่องไปจนเป็นลมพิษเรื้อรัง
โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง (chronic urticaria) ผู้ป่วยจะมีอาการผื่นลมพิษเป็นๆหายๆ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ ขึ้นไป ซึ่งมีทั้งชนิดที่ทราบสาเหตุกระตุ้น เช่น การติดเชื้อ ยา ระบบฮอร์โมน หรือเกิดจากปัจจัยทางกายภาพ และชนิดไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นความแปรปรวนภายในร่างกายเอง
ในต่างประเทศมีข้อมูลว่า โรคลมพิษชนิดเรื้อรังพบประมาณร้อยละ 0.5-1 ของประชากร ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่จากสถิติผู้ป่วยนอก แผนกผิวหนัง โรงพยาบาลศิริราช พบผู้ป่วยโรคลมพิษประมาณร้อยละ 2-3ของผู้ป่วยที่มารับการรักษาโรคผิวหนัง โรคลมพิษเรื้อรังสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์สูงสุดในกลุ่มประชากรวัยทำงาน อายุระหว่าง 20-40 ปี อาจเป็นได้ว่าเนื่องจากกลุ่มวัยทำงานมักมีอาการเครียดสะสมและอาจละเลยต่อการ ดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง จึงทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้มากขึ้น
อย่าง ไรก็ตามโรคลมพิษเรื้อรังนั้นมีผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งด้านบุคลิกภาพ การทำงาน การเรียน การดำเนินชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ทางเพศ การนอนหลับและยังก่อให้เกิดความเครียดอีกด้วย เนื่องจากผื่นและอาการคันที่อาจเป็นๆหายๆ โดยเฉพาะในรายที่ไม่ทราบสาเหตุหรือ สิ่งกระตุ้นที่ชัดเจน อาจมีภาวะความเครียดที่สูงขึ้นเพราะผู้ป่วยจะไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีอาการ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากปัจจัยกระตุ้นได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยผื่นลมพิษสามารถปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการได้ ดังนี้ งดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดลมพิษตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ,นำยาต้านฮีสตามีนติดตัวไว้เสมอ เพื่อให้ใช้ได้ทันทีหากมีอาการ ,ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด ,ไม่แกะเกาผิวหนัง เนื่องจากอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการเกา ,อาจใช้ calamine lotion ทาบริเวณผื่นลมพิษเพื่อช่วยลดอาการคัน แต่ยานี้ไม่ได้ทำให้ผื่นหาย
สำหรับ ผู้ป่วยโรคลมพิษที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มโรคลมพิษเฉียบพลัน ที่มีอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่สะดวก ปวดท้อง มีอาการหน้าบวม ตาบวม ปากบวมอย่างมาก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดอาการหอบหืดจนอันตรายถึงชีวิตได้
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย