จาก โพสต์ทูเดย์
เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร
"เมื่ออุดมการณ์ไม่ได้เป็นไปดังเดิมแล้ว ผมอยากให้เขาลบชื่อผมที่ตั้งเป็นชื่อถนน ชื่ออาคาร และสวนกล้วยไม้ออกดีกว่า เพราะเอาชื่อผมไปตั้งนั่นตั้งนี่ แต่ไม่ได้ทำตามเหมือนที่เราประพฤติปฏิบัติไว้ มันก็ไม่มีประโยชน์อันใด"
ประโยคแฝงด้วยความรันทดใจของ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก วัย 93 ราษฎรอาวุโส และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่เหล่าศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันต่างเรียกขานว่า "คุณพ่อ" สร้างแรงสั่นสะเทือนไปอย่างกว้างขวาง
ในวันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก้าวเข้าสู่ปีที่ 72 ทว่ากลับต้องเผชิญกับคำถามประเดประดังมาจากทั่วทุกสารทิศ
ไม่ว่าจะกรณีการจัดงานเกษตรแฟร์ที่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรและปุ๋ยมาใช้พื้นที่จัดนิทรรศการ ขณะที่เกษตรกรตัวจริงกลับถูกผลักออกไป การแต่งตั้งผู้บริหารในเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการพื้นที่ไร่สุวรรณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งถูกครหาว่าพยายามแปรรูปงานวิจัยต่างๆที่เคยเป็นของนักศึกษาและเกษตรกรไปสู่มือของธุรกิจเอกชนผูกขาด การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ รวมถึงนโยบายของผู้บริหารที่มุ่งเน้นเรื่องธุรกิจและสิ่งปลูกสร้างมากกว่าจะพัฒนาสังคม
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า 'อุดมการณ์รับใช้เกษตรกรและประชาชน' ตามแนวทางของบูรพาจารย์วางไว้ เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม
อะไรคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในตอนนี้
สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือ อุดมการณ์ของเกษตรศาสตร์กำลังเปลี่ยนไปจากแนวทางในอดีต จุดมุ่งหมายของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็เพื่อรับใช้เกษตรกร รับใช้ประชาชน แต่ทุกวันนี้กลับมุ่งเน้นไปที่เรื่องการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างและมีธุรกิจต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ขณะที่ด้านการพัฒนาสังคมกลับลดหายไปเรื่อยๆ แข่งกันสร้างหุ่นยนต์ สร้างหลักสูตรหรือคณะที่แข่งขันกันด้านการตลาดเพื่อให้เด็กมาเรียนเยอะๆ นั่งรถเข้าไปในมหาวิทยาลัยเดี๋ยวนี้มันรู้สึกแปลกตา ต้นไม้ไม่มี มีแต่ตึกสูงผุดเยอะแยะเต็มไปหมด
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ งานเกษตรแฟร์ เป็นความคิดริเริ่มของหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อดีตอธิการบดี ที่หวังจะให้คนได้เห็นความสำคัญของอาชีพการเกษตรว่าเป็นอาชีพที่ช่วยเสริมสร้างชาติไทยให้อยู่รอดได้ ท่านบอกว่าเมื่อทำวิจัยแล้วก็ควรจะเผยแผ่ความรู้แก่สาธารณชนด้วย ยังจำได้ว่างานเกษตรแฟร์ช่วงแรกๆมีแปลงปลูกมะเขือเทศอยู่แปลงหนึ่ง ซึ่งสมัยนั้นมะเขือเทศยังถือว่าเป็นของใหม่ คนตื่นเต้นกันใหญ่ที่ได้เห็นมะเขือเทศลูกเบ้อเริ่ม ก็ให้คนไปเก็บกิน ชั่งน้ำหนัก จ่ายเงินกันตรงนั้น เมื่อได้เก็บกับมือตัวเอง มีความสุข สุดท้ายมันจะซึมซับเข้าไปถึงหัวใจ แต่พอระยะหลัง คนมาเที่ยวเยอะขึ้น เริ่มมีการจับจองที่ซื้อที่ไว้แล้วเอาไปขายต่อจนเกิดธุรกิจขายล็อก แถมยังให้บริษัทธุรกิจเอกชนเข้ามาเป็นสปอนเซอร์จัดนิทรรศการเสียใหญ่โตแทนที่จะเน้นการแสดงนวัตกรรมการเกษตรใหม่ๆ แม้กระทั่งผลผลิตของเกษตรกรเอง ไอ้ผักที่เอามาวางขายนี่ก็ไปซื้อจากตลาดเก่ามาขายด้วยซ้ำ
กรณีการแต่งตั้งผู้บริหารในเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรให้นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการพื้นที่ไร่สุวรรณ คุณรู้เงื่อนไขไหมว่า ตอนที่เขาเอาไร่สุวรรณของจอมพลสฤษฎ์มาให้เกษตรแล้วตั้งชื่อตามหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เขาให้ไว้เพื่อจะได้เอาไปใช้ในการฝึกนิสิตทำวิจัย ไม่ใช่ให้เอาไปทำการค้า ดันไปตั้งพวกนั้นมาเป็นประธานได้ไง ผมไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับการกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กว่า 4,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารสถานที่ มีสื่อหลายแห่งมาถามผมว่าเรื่องนี้จะส่งผลเสียต่อชาติบ้านเมืองอย่างไร ผมก็ตอบไปว่าสมัยเป็นอธิการบดีไม่คิดจะกู้เงินจากที่ไหนมาสร้างสิ่งก่อสร้าง เพราะรู้ว่าถ้าเราสร้างสิ่งก่อสร้าง คุณภาพบัณฑิตย่อมตกต่ำยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเอาเงินและวัตถุใส่เข้าไปมาก คุณภาพบัณฑิตก็ย่อมตกต่ำ ทั้งหมดมันมีอยู่แค่ประเด็นเดียวคือ ผู้บริหารไม่ทำงานแบบลงพื้นดิน ผู้ใหญ่ไม่ลงพื้นที่ ผู้ใหญ่ต้องใช้ชีวิตติดดิน ไม่งั้นแก้ปัญหาไม่ได้หรอก
ถ้าอาจารย์ทั้งสามท่านยังอยู่ต้องโกรธแน่ๆ เพราะสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันเป็นความอกตัญญู ถ้าไม่เชื่อฟังและยึดปฏิบัติตามแนวทางบูรพาจารย์ แล้วจะไปวางพวงมาลากันทำไมทุกปี
คำว่า "ลงพื้นดิน" ตามแนวทางที่บูรพาจารย์วางไว้เป็นอย่างไร
อุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือการรับใช้เกษตรกร แต่ทำไมไม่ลงไปหาเกษตรกร จะปล่อยให้เขาผอมตาโตอยู่อย่างนี้เหรอ คุณจะรู้ได้ยังไงว่าชาวบ้านเดือดร้อนแค่ไหน ถ้าไม่ลงไปคลุกคลี ลองไปค้างคืนกับเกษตรกรแล้วฟังเขาคุยกัน คุณจะรู้ของจริง ไม่ใช่ดีแต่เอาความสบาย ไม่ลงพื้นที่ ถ้าลงไปสัมผัสจริงๆ ความคิดเกิด ปัญญามันก็เกิด อย่าเอาแต่อ่านจากตัวหนังสือ
สมัยเป็นอธิการบดี ผมลงพื้นที่พาเด็ก 50-60 คนออกชนบทตลอด โดยเฉพาะอีสานนี่แทบจะทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ไปกางเตนท์นอนกัน ช่วยชาวบ้านสร้างโรงเรียน ผู้หญิงก็ไปซ่อมแซมเสื้อผ้า ผู้ชายก็ไปสอนเพาะเห็ดฟาง ปลูกผัก ผมก็กินนอนอยู่กับเด็ก ทำงานด้วยกัน เขาออกแบบ สั่งอะไร ผมก็ทำกับเขาด้วย ทั้งที่เขาไม่กล้าใช้ผมหรอก แต่ผมก็ทำงานตามที่เขาใช้ จนเด็กๆเรียกพ่อหมด ไม่ได้บอกให้เขาเรียก เขาเรียกของเขาเอง เพราะว่าเราอยู่ด้วยกันแล้วเขาอบอุ่น ผมไม่ชอบใช้อำนาจกับใครทั้งนั้น ใช้ความดีสิ ไม่งั้นใครจะนับถือ ผู้ใหญ่ต้องมีจิตวิญญาณอยู่กับพื้นดิน ลงทำงานอยู่กับพื้่นดินแล้วมีความสุข แตกต่างจากสมัยนี้ที่อธิการบดีกับนักศึกษามีช่องว่างห่างกันลิบลับ
ผมบอกลูกศิษย์เสมอว่า หากมีโอกาสได้เข้าเรียน หรือเข้าทำงานให้เคารพคนที่มีประสบการณ์จากชีวิตจริง ไม่ใช่เคารพคนจบสูง มีเงิน มีอำนาจ หากมีโอกาสเจอหรือสัมผัสผู้บริหาร ให้เลือกผู้บริหารพันธุ์ดี คือคนที่ดีต้องโตมาจากการเรียนรู้ระดับล่างสู่บน ซึ่งงานด้านการเกษตรนั้น หากใครจะทำวิชาการด้านการเกษตร ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าทำงานระดับติดดินได้ ไม่ใช่อ้างแค่ความรู้เมืองนอก เน้นนานาชาติ อ้างตำราที่ตัวเองอ่านมาแล้วมาทำงาน เพราะในชีวิตจริงต้องอยู่กับคนมากกว่าตำรา แล้วอย่าลืมว่าความรู้ดิ้นได้ เปลี่ยนได้
คิดว่าการออกมาเตือนสติครั้งนี้จะมีคนฟังไหม
พูดอย่างสุภาพ โบราณว่าพูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง เตือนสติไป พูดไป ฟังนะแต่ก็เฉยๆ พูดแบบไม่สุภาพก็คือ หน้าด้าน ไอ้การจะวิ่งเข้ามาหาผมนี่ไม่มีเลย เขาเรียกทองไม่รู้ร้อน ผู้บริหารบางคนมักจะอ้างว่าเป็นลูกศิษย์ผมบอกว่า"อาจารย์ครับ ผมเป็นคนเชิญอาจารย์ไปพูดที่นั่นที่นี่" ผมก็ฟัง ปล่อยวาง ไม่สนใจ
คิดอย่างไรกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
การออกนอกระบบไม่สามารถแก้ปัญหาคุณภาพทางวิชาการ และจะทำให้มหาวิทยาลัยออกห่างจากการรับใช้สังคม
สมัยก่อนการจัดการศึกษาของไทย รัฐออกค่าใช้จ่ายให้ประชาชนให้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนทั้งหมด ยกเว้นค่าหนังสือเรียนและค่าใช้จ่ายส่วนตัว แต่ในปัจจุบันเราเดินตามก้นฝรั่งเพื่อใช้เป็นโอกาสหาเงินเข้ารัฐ นั่นก็คือเงินบำรุงหน่วยกิต ซึ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อนถึงระดับหนึ่ง ในอดีตที่ผ่านมาเรามักได้ยินคนพูดกันว่าอธิการบดีมีหน้าที่หาเงิน ประเด็นนี้คนส่วนใหญ่มักอ้างผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยฝรั่ง แต่สำหรับมหาวิทยาลัยไทยนั้นเราควรมีรากฐานจิตใจเข้มแข็งและเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด แม้แต่ทุกวันนี้เราใช้ระบบเกรดคะแนนแทนการให้คะแนนเต็มร้อยเหมือนที่เคยปฏิบัติมาในอดีต ซึ่งมีความละเอียดถี่ถ้วนมากกว่าเยอะ ผมใช้คำว่า “โรคมะเร็งยังไม่ร้ายเท่ากับโรคชอบเอาอย่างคนอื่น” เหตุผลก็คือ โรคมะเร็งนั้นตายเป็นรายตัว แต่โรคเอาอย่างวัฒนธรรมคนชาติอื่น ถ้าตายก็ตายทั้งชาติ
จำได้ว่าเคยได้รับเชิญคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ไปเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ การประชุมในวันนั้นแทนที่ผู้บริหารสถาบันจะมาร่วมประชุมและชี้แจงเหตุผลด้วยตัวเอง ปรากฏว่าผู้ที่มาร่วมประชุมกลับเป็นอาจารย์ระดับธรรมดา นั่นทำให้ผมผิดหวังมาก ผิดหวังที่ผู้ใหญ่ไม่เข้ามารับฟังความเดือดร้อนของราษฎรตาดำๆ ผิดหวังที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทอดทิ้งประชาชนตั้งแต่ยกแรก ต่อไปจะหาใครเป็นที่พึ่งก็คงยาก
วันนี้ ผมยังยืนยันความคิดเดิม ถ้าเอาเกษตรออกนอกระบบ แล้วที่ผ่านมาเขาเอาชื่อผมไปใช้ประโยชน์อะไร ถนนเส้นไหน ตึกสูง สวนเกษตรที่มีชื่อผมติดอยู่ ผมจะถอดออกให้หมด นี่ไม่ใช่การประท้วง แต่ไม่อยากเอาชื่อผมไปเหม็น ชื่อผมไม่เคยเหม็น พ่อผมสั่งตั้งแต่ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ว่า สาคริกไม่เคยด่างพร้อย ลูกๆทุกคนหมดไม่ว่าใครก็ตามอย่าทำให้มันด่างพร้อยขึ้นมา
สิ่งที่ทางผู้บริหารต้องทบทวนอย่างจริงจังมีอะไรบ้าง
ผู้ใหญ่ต้องมีบทบาทในการวางตัวเอง ผมทำมาอย่างนั้นตลอดทั้งชีวิต สมัยเป็นอธิการบดีเวลาไปไหนต่อไปไหน ผมชวนเด็กไปด้วยตลอด นี่คือการสอนที่ดี พาเขาไปเห็นของจริง เป็นครูต้องไม่ปิดบังลูกศิษย์ โบราณเขาถึงว่าอายครูย่อมไม่รู้วิชา ตรงนี้เป็นกุญแจดอกใหญ่ ไหนว่าจะตามรอยพ่อ ในหลวงท่านลงพื้นที่ แล้วมีใครบ้างล่ะที่ลงพื้นที่ พูดถึงเรื่องนี้แล้วผมน้ำตาไหลทุกครั้ง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งสอนผมไว้ว่า อย่าทิ้งศิลปะ โดยศิลปะที่ว่าก็คือการทำงานลงพื้นดิน ซึ่งพระองค์ท่านก็ปฏิบัติอย่างนี้มาโดยตลอด ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมั่นคง พูดแล้วอย่าตลบแตลง พูดอะไรต้องทำให้ได้
ตอนนี้ผมไม่มีตำแหน่ง ไม่ต้องการอะไรแล้ว ขอเป็นกระจกเงาดีกว่า สะท้อนภาพให้เขาเห็น เพราะเป็นกระจกเงาเมื่อมองจากข้างนอกแล้วจะเห็นอุปสรรคนานัปการ ผมต้องกล้าหาญที่จะพูดความจริงให้เขารู้ ไม่ต้องเกรงใจกันแล้ว
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย