สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดภารกิจอารักขาช้าง ชุดเคลื่อนที่เร็วเขาใหญ่

จาก โพสต์ทูเดย์

เรื่องและภาพโดย อินทรชัย พาณิชกุล

ปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่ากับนักท่องเที่ยวบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กลายเป็นทอล์ก เดอะ ทาวน์ไปเป็นที่เรียบร้อย

ไล่ตั้งแต่คลิปวีดีโอที่ช้างป่าใช้เท้าเหยียบรถยนต์นักท่องเที่ยวที่บีบ แตรไล่ นั่งทับกระโปรงรถเก๋งในวันเด็กแห่งชาติ ล้มต้นไม้ขวางถนน จนถึงเหตุการณ์ที่ช้างลงมาคุ้ยเขี่ยหาอาหารและรื้อทำลายร้านค้าบริเวณที่ทำ การอุทยานฯ เมื่อกลางดึกของวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้พบเห็นแล้ว ยังก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง

ช้างป่า=วาระแห่งชาติ

ครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เผยว่า จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการพบว่า มีประชากรช้างป่าประมาณ 300 ตัว กระจัดกระจายหากินอยู่เต็มทั่วพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

“มูลเหตุของการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่ากับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา เกิดขึ้นเพราะปัจจุบันมีคนเดินทางเข้ามาเที่ยวบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็น จำนวนมาก ประกอบกับเป็นช่วงที่ช้างป่าออกมาหากินริมถนนพอดี ซึ่งตามปกติแล้วจุดที่มีการพบช้างอยู่เป็นประจำจะมีติดป้ายเตือนไว้ตลอด อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็ได้ทำเอกสารแผ่นพับเกี่ยวกับหลักปฏิบัติเมื่อเจอช้าง ป่าแจกจ่ายให้นักท่องเที่ยว แต่พอเกิดเหตุขึ้นหลายคนทำตัวไม่ถูก เผลอบีบแตรไล่ กระพริบไฟใส่ ลงไปถ่ายรูป จนทำให้ช้างเกิดความรำคาญ เครียด สุดท้ายจึงขับไล่ผู้รุกรานตามสัญชาตญาณป้องกันตัว”

นพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่มักเจอช้างป่าบนถนนเขาใหญ่ไว้อย่างน่าคิด

ในอดีตสมัยที่ยังไม่มีการสร้างถนน ช้างป่าได้ใช้เส้นทางบางส่วนของพื้นที่เป็นเส้นทางเดินหากิน หรือที่เรียกว่าด่านช้าง ซึ่งบรรพบุรุษของช้างได้สอนลูกหลานต่อๆกันมาว่านี่คือเส้นทางหากิน แต่อยู่มาวันหนึ่งมีการสร้างถนนขึ้นและบังเอิญไปทับซ้อนกับด่านช้าง ทำให้บางส่วนของถนนนั้นเกิดการใช้ร่วมกันระหว่างช้างและรถยนต์

ขณะเดียวกันช้างป่าเขาใหญ่ในแต่ละฝูงจะมีการตกลูกทุกๆปี หมายความว่าในฝูงมีลูกน้อย การเดินหากินในป่าที่รกทึบ หรือเขาสูงชันของลูกช้างมักมีความยากลำบาก หลายพื้นที่มีลูกช้างป่าพลัดหลงฝูงจากการตกภูเขา ฝูงก็จะห่วงลูกช้างมาก การเดินบนถนนก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ปลอดภัยสำหรับลูกช้าง เป้าหมายของการใช้ถนนของช้างคือ การมุ่งหน้าไปยังพื้นที่แหล่งอาหารต่างๆด้วยความปลอดภัยและรวดเร็ว เช่น แหล่งดินโป่ง หรือแหล่งน้ำ

อีกอย่างพื้นถนนตอนกลางคืนจะอุ่น เนื่องจากความร้อนสะสมในตอนกลางวัน ในช่วงฤดูหนาว ช้างจะเดินออกมาบนถนนถี่ขึ้น บางครั้งจะเห็นช้างป่านอนหลับบนถนนในช่วงหน้าหนาว นอนบนดินโป่งในช่วงหน้าร้อน บริเวณข้างทางของถนน มักมีต้นหญ้าและพื้นขนาดเล็กที่เป็นอาหารของช้าง ช้างสามารถกินได้ง่าย”

ขุดเคลื่อนที่เร็วใช้รถยนต์โอบล้อมเจ้าด้วน ช้างป่าเพศผู้วัย 45 ปีที่กำลังตกมัน

 

ช้างป่าลงมากินดินโป่งตอนกลางคืน

ภารกิจอารักขาช้าง-ให้ความปลอดภัยคน

คล้อยหลังเพียงไม่กี่นาทีที่ “เจ้าด้วน” ช้างเพศผู้วัย 45 ลงมาคุ้ยเขี่ยหาอาหารและรื้อทำลายร้านค้าบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขา ใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อกลางดึกของวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ชุดเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือสัตว์ป่านับสิบนายก็ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจช่วย เหลือช้างป่าในภาวะฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน

“เราเรียกภารกิจนี้ว่า ‘อารักขาช้าง อำนวยความสะดวกและให้ความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว’ ไม่ใช่ผลักดัน หรือไล่ต้อนเข้าป่า เพราะที่นี่คือป่า คือบ้านของเขา เส้นทางที่ช้างเดินลงมาให้เห็นถือเป็นเส้นทางตามวงรอบของเขา ซึ่งแต่ละปีเจ้าด้วนจะมาหากินตรงนี้ครั้งนึงนาน 2-3 วัน เราต้องจัดชุดเคลื่อนที่เร็วคอยแสตนด์บายไว้ตลอด 24 ชั่วโมง กลางคืนอาจไม่มีปัญหา จะมีความยากลำบากอยู่บ้างในตอนกลางวัน ช่วงที่เดินออกมาบนถนนแล้วเจอรถ เจอคนเยอะๆอาจตกใจ จนแสดงปฏิกิริยาบางอย่างออกมา ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ

หน้าที่หลักของเราคือ ประคับประคองให้ช้างเดินหากินตามวงรอบอย่างมีความสุข ไม่ไล่ ไม่ไปเร่งรัดให้เขารีบ เพราะถ้าช้างตกใจแล้วจะเตลิด เมื่อเตลิดก็จะควบคุมอะไรไม่ได้ ถึงเวลาที่พร้อมเดินทางไปต่อ เราก็ต้องอารักขาให้ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ต้องคอยอำนวยความสะดวก ดูแลไม่ให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยวด้วย โดยให้รถยนต์จอดรอก่อน เมื่อช้างเคลื่อนไปยังจุดที่รถสามารถผ่านไปได้อย่างปลอดภัยแล้ว เมื่อนั้นเราก็ปล่อยให้รถผ่าน

ภาพเบื้องหน้าที่เห็นคือ เจ้าหน้าที่ขับรถจี๊ป รถกระบะโอบล้อมช้างป่าตัวใหญ่ ค่อยๆเดินหน้าถอยหลังด้วยลีลาอันคล่องแคล่วเป็นจังหวะ ท่ามกลางสายตาของนักท่องเที่ยวที่มองมาด้วยความตื่นเต้น  

สุทธิพร  สินค้า  หัวหน้าชุดเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือช้างป่า เผยว่า ช้างแต่ละตัวมีวิธีจัดการที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

"หนึ่ง ต้องรู้ก่อนว่าจะพาเขาไปไหน สอง เมื่อมีรถของนักท่องเที่ยวอยู่ในเหตุการณ์ จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวปลอดภัยและกันช้างให้ออกห่างจากรถ สาม ตรวจตราดูพื้นที่ว่ามีด่านสัตว์ที่ช้างสามารถผ่านไปได้หรือไม่ ก็จะกันช่องทางให้ไปทางด่านสัตว์ ด้วยการจอดรถขวางทางเพื่อสร้างตัวเลือกให้กับเค้าในการเข้าป่า ช่วงนี้เองที่เจ้าหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยวสามารถโบกให้รถผ่านไป สุดท้าย หลังจากประคับประคองช้างให้เข้าป่าได้ ต้องติดตามดูสถานกาณ์ต่อไปอีกสักระยะจนมั่นใจว่าจะไม่ออกมาบนถนนอีก

จากการปฏิบัติหน้าที่มานานทำให้เราสามารถจดจำพฤติกรรมของช้างแต่ละตัวได้ ว่ามีลักษณะอย่างไร เช่น เจ้าด้วนตัวนี้มันกลัวรถจี๊ปคันที่ใช้เป็นประจำ พอเค้าเห็นก็คิ้วขมวด ทำตาเหยี่ยวใส่ทันที คงรำคาญและรู้สึกโกรธว่ามาขวางมันทำไม เราไม่ได้ไล่ เรียกว่าประคองไม่ให้มาในพื้นที่ที่มีคนเยอะ เราก็ต้องกันเต็มที่ เวลาทำงานผมคิดอย่างเดียวว่าทำยังไงให้เอาอยู่ ช้างที่นี่ถือว่าไม่ดุเท่าที่อื่น เทียบไม่ได้กับที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อาจเป็นเพราะเจอคนเจอรถบ่อย ทำให้ปรับตัวได้ดี ทุกครั้งที่เราปฏิบัติภารกิจอารักขาต้องพยายามรบกวนเขาให้น้อยที่สุด”

อนุพนธ์ ดวงจำปี สายตรวจชุดเคลื่อนที่เร็วช่วยเหลือสัตว์ป่า บอกว่า กรณีที่ประเมินสถานการณ์ว่ามีทีท่าว่าจะควบคุมไม่ได้ วิธีสุดท้ายคือใช้ปืนยิงยาสลบ ซึ่งนับว่าโชคดีที่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม หลายคนกังวลว่า ยิ่งข่าวช้างป่าเขาใหญ่โด่งดัง แทนที่คนจะกลัว อาจแห่กันเดินทางมาดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น

สุทธิพร สินค้ากับรถจี๊ปคู่ใจ

พูดแทนช้าง

จากประสบการณ์คลุกคลีกับช้างป่าเขาใหญ่มานานกว่า 10 ปี นพ.ภัทรพล มองว่า พฤติกรรมช้างป่าทำลายรถยนต์และทรัพย์สินที่ปรากฎเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา เป็นภาพที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น สังคมจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ

“ภาพที่ออกไปตามสื่อทำให้คนมองว่าช้างดุร้ายเกเร ผมไม่โกรธนะเพราะนั่นคือสิ่งที่คนมองจากภาพที่เห็น ช้างกระทืบรถคงไม่มีใครมองว่าช้างน่ารักหรอก แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ทุกคนควรคิดให้ไกลกว่านั้นคือ แล้วเหตุปัจจัยใดล่ะที่ทำให้ช้างต้องแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเราไม่ได้โทษนักท่องเที่ยว แต่เราโทษตัวเอง เพราะสิ่งที่เขาทำคือสิ่งที่เขาไม่รู้ ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เราทำได้ดีแล้วหรือยัง

ในมุมมองสัตวแพทย์สัตว์ป่าชื่อดังคนนี้ มาตรการดูแลช้างป่าอย่างแท้จริงต้องมองให้ไกล

ระยะสั้น ช่วงนี้มีช้างตัวผู้ออกมาบนถนน เพื่อตามฝูงหาตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์  เนื่องจากเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ทำให้อาจมีพฤติกรรมหงุดหงิด ตกใจง่าย เราได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วคอยอารักขาช้าง ขณะเดียวกันก็ให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว โดยช้างต้องมาก่อน ภายใต้คอนเซปต์ที่ว่านี่คือบ้านของเขา เขาจะไปไหนก็ไป เราจะอารักขาพาไปส่ง

ระยะกลาง อุปสรรคในการดำเนินการอย่างหนึ่งคือ การแจ้งเหตุมันชักช้าไม่ทันการณ์ อย่าลืมว่าถนนตลอดเส้นทางกว่า 30 กิโลเมตรของถนนหมายเลข 3077 สายเขาใหญ่-ปราจีนบุรี ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เราจะรู้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุมาแล้ว ในอนาคตอยากจะวิงวอนให้เครือข่ายโทรศัพท์ที่มีความประสงค์จะอนุรักษ์ช้างมา ติดตั้งสัญญาณโทรศัพท์บนเขาใหญ่ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการแจ้งเตือนได้อย่างทันท่วงที เช่น เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากนักท่องเที่ยวว่าช้างอยู่ข้างหน้า ทำยังไงดี เจ้าหน้าที่ก็แนะนำเบื้องต้นว่าควรปฏิบัติอย่างไร หรือช้างออกมา จะมีระบบส่งเอสเอ็มเอสว่า เวลาไหน บริเวณใด ก็จะสามารถแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังหลีกเลี่ยงได้

นอกจากนี้การติดตั้งกล้องซีซีทีวีก็เป็นเครื่องมือสำคัญ อย่าลืมว่าการส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำการณ์ยังจุดต่างๆ ทำให้ช้างเกิดอาการเครียด การมีกล้องซีซีทีวีทำให้คนไม่เข้าไปรบกวนช้าง แต่เราเห็นช้าง แนวคิดคือเห็นให้มากที่สุด แต่รบกวนให้น้อยที่สุด

ระยะยาว ควรมีการศึกษาวิจัยเรื่องช้างเขาใหญ่อย่างจริงจัง ขณะนี้งานศึกษาวิจัยช้างบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อย่างเป็นเรื่องเป็นราวยัง ไม่มี พฤติกรรมของช้างและสภาพแวดล้อมรอบตัวมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก หากมีการศึกษาเรื่องประชากช้าง พันธุกรรม พฤติกรรม จะนำไปสู่การอนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืนได้”

นพ.ภัทรพล บอกว่าภารกิจพิทักษ์ช้างป่าเขาใหญ่ครั้งนี้ไม่มีใครเป็น พระเอกคนเดียว หากแต่ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงานหนัก ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัดและพร้อมเพรียง ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงถือได้ว่าน่าพอใจยิ่ง

ทั้งหมดนี้คือ ความรับผิดชอบอันหนักอึ้งของเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่คอยดูแลอารักขาช้างและนักท่องเที่ยวให้อยู่ร่วมกัน อย่างสมานฉันท์

ป้ายเตือนที่พบเห็นได้บริเวณจุดที่พบช้างเป็นประจำ

 

 

 

 

 

 

 

 


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เปิดภารกิจ อารักขาช้าง ชุดเคลื่อนที่เร็วเขาใหญ่

view