จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เผยผลศึกษาการรับฟังทัศนคติเยาวชน4พันคน พบมีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันและเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดมากหรือไม่ผิด
มูลนิธิเพื่อคนไทยเผยผลศึกษาการรับฟังทัศนคติเยาวชน 4 พันคนจากทุกภูมิภาคของประเทศ พบมีพฤติกรรมทุจริตในชีวิตประจำวัน ทั้งลอกข้อสอบ เซ็นชื่อเข้าเรียนแทนเพื่อน จ่ายสินบนแลกใบขับขี่ ให้เงินตำรวจเลี่ยงใบสั่ง แถมยังบอกไม่ใช่เรื่องผิด เผยเด็กไทยใช้เวลาไม่น้อยกว่าวันละ 4 ชั่วโมงกับสื่อออนไลน์รูปแบบต่างๆ จึงหมกมุ่นกับตัวเอง นึกถึงสังคม-ประเทศชาติน้อยมาก
"มูลนิธิเพื่อคนไทย"ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยทุกคนเกิดความตระหนัก เข้าใจ และมีส่วนร่วมในการลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม ปลูกฝังให้คนไทยเป็นพลเมืองที่ "มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม" ได้จัดทำโครงการ "คนไทยมอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชนไทย"
ทั้งนี้ การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม หรือ Active Citizenship หมายถึง พลเมืองที่มีส่วนร่วมในชุมชน สังคม และการเมือง มีความสงบ และเคารพซึ่งกันและกันตามหลักการของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย โดยทางมูลนิธิฯให้น้ำหนักไปที่เยาวชน เพื่อสร้าง แอคทีฟ ยูธ (Active Youth) หรือเยาวชนที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม จึงจัดทำโครงการ "เสียงเยาวชนไทย" ขึ้น เพราะเชื่อว่าพลังเสียงของเยาวชนมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย
โครงการฯได้มีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เยาวชนแบบตัวต่อตัว จำนวนทั้งหมด 4,000 คน โดยอาศัยนิยามความเป็นเยาวชนในระดับสากลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งกำหนดให้เยาวชนคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์จนถึง 24 ปี นอกจากนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนของเยาวชนทั่วประเทศ โครงการฯ จึงได้เก็บข้อมูลจากเยาวชนใน 21 จังหวัด ทั้งกรุงเทพมหานคร และ 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยการสุ่มตัวอย่างตามสัดส่วนประชากรจริง และสัมภาษณ์เฉพาะผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในจังหวัดนั้นๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี โดยได้จัดเก็บข้อมูลถึงเดือน ก.พ.57
เยาวชนรับได้"ทุจริต-สินบน"ใกล้ตัว
ผลจากการศึกษา โดยเฉพาะจากการรับฟังเสียงของเยาวชนจำนวน 4,000 คนทั่วประเทศ สามารถสรุปประเด็นหลักเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ทัศนคติ พฤติกรรม ตลอดจนความต้องการต่างๆ ของเยาวชนได้ดังนี้
1.การทุจริตคอร์รัปชัน พบว่า เยาวชนจำนวนมากมีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดมากหรือไม่ผิดเลย นอกจากนี้จากเหตุการณ์สมมุติพบว่า เยาวชน 25% ยินดีจ่ายสินบนเพื่อให้สอบใบขับขี่ผ่าน, 18% เคยให้เงินตำรวจเพื่อหลีกเลี่ยงใบสั่ง และ 38% เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดมากหรือไม่ผิดเลย
เยาวชน 81% เคยลอกข้อสอบ และ 75% เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดมากหรือไม่ผิดเลย, 63% เคยลงชื่อเข้าเรียนแทน และ 73% เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดมากหรือไม่ผิดเลย
78%เครียดเรื่องเรียน-25%ตามดารา
2. ครอบครัว มีส่วนสำคัญต่อการปลูกฝังค่านิยมและคุณค่าแก่เยาวชน โดยเยาวชนส่วนมากเห็นว่าคุณค่าที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น ความกตัญญู และความกลมเกลียวในครอบครัว มีความสาคัญสูงสุดในการดำเนินชีวิต โดยคุณค่าที่เกี่ยวกับครอบครัวมีค่าเฉลี่ยของความสำคัญสูงถึง 2.92 จาก 3 คะแนน อย่างไรก็ตาม ครอบครัวมักปลูกฝังด้านการเรียนและการพัฒนาตนเองมากกว่าความรับผิดชอบต่อสังคมและความรักต่อประเทศชาติ
ดังนั้นเยาวชนกว่า 90% ต้องประสบกับความเครียด โดย 78% ของเยาวชนทั้งหมดนั้นเครียดกับเรื่องของการเรียน และ 99% ของเยาวชนให้ค่านิยามของความสาเร็จว่าคือการได้ผลการเรียน หน้าที่การงาน และเงินเดือนที่ดี
นอกจากนี้เยาวชนส่วนมากยึดคนใกล้ตัว เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อน และครูอาจารย์เป็นแบบอย่าง โดยนอกเหนือจากคนใกล้ตัวแล้ว ยังมีศิลปิน ดาราที่ถือเป็นแบบอย่างที่สาคัญ เพราะมีเยาวชนจำนวน 25% ยึดถือศิลปินดาราเป็นแบบอย่าง
ใช้เวลาวันละ4ชั่วโมงกับสื่อออนไลน์
3.ความเชื่อ เยาวชนแสดงออกถึงความพร้อมและความต้องการที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศ ด้วยความหวังที่จะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต แต่เชื่อว่าตนเองยังเด็กเกินไปที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ และไม่ทราบว่าตนเองสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างไรบ้าง โดยเยาวชน 97% กล่าวว่าตนเองยังไม่ได้ทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
4.สื่อออนไลน์ มีบทบาทและอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเยาวชนเหนือสื่อรูปแบบเดิม ทั้งนี้เยาวชนใช้เวลาเฉลี่ยอย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อวันกับสื่อดิจิทัล สื่อออนไลน์ เช่น การพูดคุย อ่านข่าวสารผ่านแอพพลิเคชันสังคมออนไลน์ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์ เกมในโทรศัพท์มือถือ และการเล่นอินเตอร์เน็ต อ่านข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์ ทำให้การปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวลดลง
5. ความเข้าใจ เยาวชนมีความเข้าใจในหน้าที่ของพลเมืองดีไม่มากนัก และในกว่า 90% ของเยาวชนนั้น ความหมายของ "ความดี" จำกัดอยู่กับเรื่องของ "น้ำใจ" ดังนั้นความหมายของพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมยังจำกัดอยู่ในเรื่องใกล้ตัวมากกว่าบทบาทด้านกิจกรรมเพื่อสังคม ชุมชน ประเทศชาติ
สำหรับผลวิจัยและข้อค้นพบทั้งหมด ทางมูลนิธิเพื่อคนไทยจะจัดแถลงข่าวในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
"ครูหยุย"จี้ควบคุมผู้ใหญ่-ชี้เป็นตัวอย่าง
จากผลสำรวจทัศนคติเยาวชนที่พบว่ายอมรับได้กับการทุจริตหรือจ่ายสินบนในชีวิตประจำวันนั้น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ "ครูหยุย" สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งทำงานด้านเด็กและเยาวชนมานานหลายปี กล่าวว่า ถือเป็นอุปสรรคที่ใหญ่มากต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เพราะการทุจริตแทบทุกเรื่องมาจากพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ ก่อนทั้งสิ้น
ในต่างประเทศที่มีการรณรงค์ป้องกันการทุจริต เช่น ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นั้น ตั้งต้นที่เด็กและเยาวชนก่อน โดยปลูกฝังให้ตระหนักถึงเรื่องการทุจริตทุกประเภท แล้วควบคุมผู้ใหญ่ควบคู่กัน คนไหนทำทุจริต ถือเป็นภัยต่อสังคม เพราะถือว่าต้นแบบจะช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้มาก
ขณะที่ประเทศไทย คนที่ทำทุจริตกลับได้รับการยกมือไหว้ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ไม่ดี จากนี้ไปคิดว่าต้องช่วยกันรณรงค์ อย่างเช่นโครงการสองมือใสสะอาดที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำอยู่
"ในต่างประเทศเขาเน้นเรื่องวินัยมาเป็นหลักปฏิบัติ เพราะเรื่องวินัยจะนำไปสู่การไม่ทุจริตได้ ไม่เหมือนบ้านเราที่ให้เด็กทำหลายข้อเกินไป เช่น ค่านิยมหลัก 12 ประการ ผมว่ามีหลายข้อเกิน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด" ครูหยุย ระบุ
รีบแก้วันนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคต
ขณะที่ นายบัณฑูร เศรษฐ์ศิโรตม์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คำถามคือจะแก้โจทย์นี้อย่างไร เมื่อเด็กมีความคิดและทัศนคติแบบนั้น ซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาว ทางออกหนึ่งคือต้องแก้ในระยะสั้นนี้ทันที โดยการสร้างระบบและเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ให้ได้ หากสำเร็จก็จะทำให้เด็กสามารถเปลี่ยนทัศนคติในอนาคตได้
"เราต้องทำให้เห็นว่าสังคมในวันนี้กำลังเปลี่ยนไป กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ปราศจากการคอร์รัปชัน หากเราไม่ทำการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเด็กในวันนี้ก็จะเป็นปัญหาในอนาคต ซึ่งก็จะเป็นภารกิจของเราที่จะต้องเร่งลงมือทำ" นายบัณฑูร กล่าว
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต