ผลวิจัย'อัตราการรีไซเคิลขยะ'
โดย : สิทธิชัย นครวิลัย
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ผลวิจัย "อัตราการรีไซเคิลขยะ" เผยมูลค่าแฝงในสิ่งของน่ารังเกียจ
หากเรานำปริมาณขยะเป็นตัวตั้งจะทำให้เห็นว่าพื้นที่ใดเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เติบโตที่สุด มีการบริโภคมากสุด เพราะเมื่อมีการบริโภคมากก็ต้องมีขยะมากเป็นเงาตามตัว
ขณะเดียวกันขยะที่ใครต่อใครมองว่าเป็นของ "เน่าเสีย" ไม่มีมูลค่านั้น แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นตรงกันข้าม แต่อยู่ในข้อแม้ว่าต้องผ่านกระบวนการ "รีไซเคิล"
ผลการศึกษาวิจัยอัตราการรีไซเคิล เพื่อศึกษาด้านการพัฒนาระบบการจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนและเหมาะสมกับประเทศไทย ระยะที่ 1 ของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ทียู-อาร์เอซี) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ ทิปเอ็มเซ่ (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นเครื่องยืนยันการรีไซเคิลเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าได้เป็นอย่างดี
รองศาสตราจารย์ ดร.กำพล รุจิวิชชญ์ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยชิ้นนี้ บอกว่า โครงการศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุ 3 ด้าน คือ 1.เพื่อหาปริมาณขยะที่แท้จริง โดยเก็บข้อมูลจากทั่วประเทศ ที่ถือได้ว่าเป็นการศึกษาวิจัยที่มีข้อมูลครอบคลุมที่สุด เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่มีความแม่นยำ
2.องค์ประกอบขยะในหลุมฝังกลบ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพการจัดการขยะต้นทาง โดยทีมวิจัยยังได้ลงพื้นที่ถึงบ่อขยะทุกแห่งในประเทศไทย
และ 3.ศึกษาอัตราการรีไซเคิล มีการแยกประเภทขยะตามชนิดของวัสดุ เช่น พลาสติก แก้ว โลหะ หรืออะลูมิเนียม ซึ่งจะเป็นข้อมูลอย่างดีสำหรับภาคเอกชน หรือกลุ่มอุตสาหกรรม ในการนำเข้าวัตถุดิบการผลิตบรรจุภัณฑ์ หรือลดต้นทุนจากระบบรีไซเคิลที่สามารถนำขยะบางประเภท มาใช้หมุนเวียนได้ในราคาที่ถูกกว่า เช่น ขยะพลาสติก
สำหรับผลการศึกษาในด้านปริมาณขยะมูลฝอยของชุมชนในประเทศไทย ปี 2556 พบว่า กรุงเทพฯ มีปริมาณเฉลี่ยต่อคน ประมาณ 1.72 กิโลกรัมต่อวัน ถือเป็นข้อมูลที่โดดเด่นในเชิงสถิติ หากเปรียบเทียบกับข้อมูลปริมาณขยะในภาคต่างๆ กล่าวคือ ภาคเหนือมีปริมาณขยะเฉลี่ยต่อคน ประมาณ 0.66 กิโลกรัมต่อวัน ภาคกลาง 0.87 กิโลกรัมต่อวัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.62 กิโลกรัมต่อวัน และภาคใต้ 0.70 กิโลกรัมวัน
หากรวมทุกภาคของประเทศแล้วจะมีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยต่อวัน ประมาณ 50 ล้านต้น โดยข้อมูลในส่วนของกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นว่า หากวัดจากขยะเป็นตัวตั้ง กรุงเทพฯจะมีภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด ดีที่สุด เพราะทำให้มีผู้บริโภคมากที่สุด
ส่วนผลการศึกษาด้านองค์ประกอบขยะในหลุมฝังกลบในประเทศไทย ปี 2556 พบว่า ในหลุมฝังกลบจะมีขยะประเภทเศษอาหารมากที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 37.13
รองลงมาเป็นขยะประเภทโฟม ร้อยละ 14.39 กิ่งไม้ ร้อยละ 10.99 ยางและหนัง ร้อยละ 7.26 ผ้า ร้อยละ 7.81 กระเบื้อง ร้อยละ 6.34 กระดาษ ร้อยละ 2.71 แก้ว ร้อยละ 1.80 โลหะ 0.35
"ในหลุมฝังกลบจะมีปริมาณขยะประเภทเศษอาหารมากที่สุด แต่มันสามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ แต่ปริมาณขยะประเภทกระดาษ แก้ว โลหะ แม้จะมีปริมาณไม่มากนัก แต่ถือได้ว่าในหลุมฝังกลบขยะยังมีสิ่งที่สามารถรีไซเคิลกลับมาใช้ได้อีก หากมีการกระตุ้นหรือมีแนวทางที่ดีในการจัดการขยะอย่างมีระบบ"
หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัย อธิบายอีกว่า องค์ประกอบขยะทั้งหมดที่พบจากการศึกษาวิจัยล้วนเป็นสารประกอบ "ไฮโดรคาร์บอน" ซึ่งพูดง่ายๆ คือ พลังงาน โดยในประเทศเกาหลี มีกระบวนการจัดการหลุมฝังกลบบ่อขยะที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้ปล่องที่สามารถนำก๊าซจากการย่อยสลายขยะจากก้นบ่อขึ้นมาผลิตเป็นก๊าซมีเทน แล้วนำมาขับเคลื่อนเพลาของเทอร์ไบน์เพื่อผลิตพลังงานบริสุทธิ์ได้
"หากในระดับหมู่บ้านในชุมชนทั่วประเทศไทย นำโครงการซีโร่เวสต์มาประยุกต์ใช้ อนาคตข้างหน้า ขยะที่กำลังเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ จะมีมูลค่า ช่วยลดมลภาวะสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการซื้อพลังงานจากต่างประเทศ แทนที่จะเสียค่าจัดการขยะเพียงด้านเดียว"
ส่วนผลการศึกษาอัตราการรีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์ ปี 2556 พบว่า ขยะประเภทเหล็กและอะลูมิเนียม มีอัตราการรีไซเคิลเกือบเต็มจำนวนปริมาณขยะที่เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า ขยะทั้ง 2 ประเภทนี้มีผู้รับซื้อจำนวนมาก และยังมีราคารับซื้อคืนในระดับที่จูงใจ จนทำให้ปริมาณขยะประเภทเหล็กและอะลูมิเนียมนี้แทบจะไม่ตกค้างเหลืออยู่เลย
ขณะที่อัตราการรีไซเคิลขยะประเภทแก้ว และกระดาษ ร้อยละ 75 อธิบายได้ว่า สิ่งที่ตกค้าง อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ เช่น กลายเป็นเศษแก้วที่แตกกระจาย หรือกระดาษที่เปื่อยยุ่ย หรือติดอยู่กับบรรจุภัณฑ์อื่นๆ
คำถามต่อมาเกิดขึ้นกับขยะประเภทพลาสติก ซึ่งอธิบายได้ว่า ประเทศไทยมีกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ดีและราคาถูกกว่าหลายประเทศในอาเซียน ทำให้มีการผลิตบรรจุภัณฑ์จำนวนมาก แต่ราคารับซื้อขยะประเภทนี้ยังไม่จูงใจ
นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศที่เจริญแล้วกลับเป็นผู้ที่เข้ามารับซื้อกลับไปรีไซเคิล ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งในการหาแนวทางกระตุ้นให้เกิดการรีไซเคิลขยะประเภทนี้ให้มากขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.กัมพล ได้ยกตัวอย่างวัสดุบางประเภทที่มีอัตราการรีไซเคิลแบบกระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ อย่างขยะประเภทกล่องเครื่องดื่ม โดยอธิบายว่า กล่องเครื่องดื่มสามารถนำไปผลิตเป็นสมาร์ทบอร์ด ที่มีคุณลักษณะพิเศษ สามารถกันปลวก และทนการเปื่อยยุ่ยจากน้ำได้เป็นอย่างดี แต่การศึกษาพบว่าขยะประเภทนี้แหล่งรับซื้อมีน้อย และโรงงานผลิตสมาร์ทบอร์ด ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ
จากผลการศึกษาทั้งหมดทำให้ได้ข้อเสนอแนะ 3 ข้อ คือ 1.ควรมีการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายชุมชนในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น กลุ่มซาเล้ง ซึ่งถือเป็นกองทัพประชาชน และอยากให้มีการยกระดับให้เป็นอาชีพที่มีความมั่นคง มีเกียรติ
โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำอาชีพดังกล่าวบรรจุเป็นลูกจ้างชั่วคราว กำหนดระเบียบประเภทขยะที่จะจัดเก็บ จัดสวัสดิการ นอกจากนี้ยังจะช่วยแก้ปัญหาการลักขโมยเช่น ฝาท่อระบายน้ำ มิเตอร์มาตรวัดต่างๆ หรือสายไฟฟ้าแรงสูง ได้ด้วย
2.การส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างมีระบบ ระหว่างภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรม องค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่มุ่งหวังกำไรกับชุมชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ และ 3.การสร้างฐานข้อมูลและการกำหนดนโยบายซีโร่เวสต์ที่ชัดเจนและผลักดันให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาขยะเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกเผชิญ แต่สำหรับประเทศไทยปัญหานี้ยังขาดความชัดเจนด้านนโยบายและขาดการกระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่จะทิ้งไป ฉะนั้นหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันแล้ว ไม่เพียงสามารถแก้ปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน แต่ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้พร้อมๆ กัน
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต