จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล
นอกเหนือไปจากหาดทรายขาว ทะเลสีครามที่งดงามติดอันดับโลก ยังมีความมหัศจรรย์ซุกซ่อนอยู่ลึกลงไปใต้ท้องทะเลไทย นั่นคือ สัตว์น้ำนานาชนิด
ทว่าปัจจุบันพวกมันถูกคุกคามอย่างหนักจากฝีมือมนุษย์ ทั้งทางตรงทางอ้อม ส่งผลให้มีการลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย
วันนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมาเปิดเผยถึงความน่าเป็นห่วงของ 10 สัตว์น้ำตัวสำคัญระดับ"ซูเปอร์สตาร์"ของท้องทะเลไทยที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งน้อยคนนักจะรู้
1.ปลาฉนาก
ปลาขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายฉลาม แต่มีจุดเด่นอยู่ตรงอวัยวะส่วนปากคล้ายใบเลื่อยยื่นยาวออกมา ใช้ในการป้องกันตัวและกินเหยื่อ เคยอาศัยอยู่ทั่วไปในอ่าวไทย แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่แล้ว
"ประมาณ 30-40 ปีก่อน สมัยเด็กๆผมเคยเจอปลาฉนากตามสะพานปลา โดนจับมาเยอะแยะ ภายหลังถูกคุกคามโดยเรือประมงอวนลาก ทำให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ไม่มีใครเห็นปลาฉนากอีกแล้ว ทั้งในเรืออวนลาก ในท้องทะเล อาจจะถึงภาวะที่เรียกว่า”สูญพันธ์จากพื้นที่”แล้ว แต่ในต่างประเทศยังคงมีอยู่"
2.เต่าทะเล
ในน่านน้ำไทย มีเต่าทะเลทั้งหมด 4 ชนิด ประกอบด้วยเต่ากระ เต่าตนุ เต่ามะเฟือง และเต่าหญ้า ทั้งหมดถูกคุกคามอยู่อย่างหนักข้อขึ้นเรื่อยๆและยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก
"ภัยคุกคามมาจากการทำประมงหลายรูปแบบ พื้นที่ที่เต่าวางไข่ก็โดนทำลายถูกแปรสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยว เต่าไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ได้ หรือวางไปแล้วลูกเต่ามีโอกาสตายสูง ที่สำคัญอีกอย่างคือปัญหาขยะ มีเต่าจำนวนไม่น้อยบาดเจ็บล้มตายจากการกินขยะในทะเล ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจากมนุษย์"
ที่มาภาพ : บารมี เต็มบุญเกียรติ
3.ฉลามครีบเงิน
ประชากรฉลามของไทยลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะฉลามขนาดใหญ่อย่างฉลามครีบเงิน ซึ่งหากินอยู่ตามแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะต่างๆในทะเลอันดามัน ปัจจุบันหายากมาก หลังถูกจับเพื่อเอาครีบไปทำหูฉลาม เป็นฉลามอีกชนิดหนึ่งที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ไปจากพื้นที่
"รู้กันในหมู่นักดำน้ำว่าเมื่อก่อนสามารถพบเห็นฉลามครีบเงินได้ไม่ยาก เรียกว่าลงน้ำปุ๊บไม่นานก็เจอปั๊บ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เกาะตาชัย หายเรียบ"
ที่มาภาพ : http://www.savekohsurin.com/webboard/pixes/2007/Jun/sksc6e58abfe5e6302af86d08.jpg
4.ปลานกแก้ว
นอกจากสีสันสดใสสวยงามสะดุดตา ทั้งฟ้า เขียว ส้ม ชมพูแซมสลับตามลำตัวเป็นสีรุ้งคล้ายนกแก้ว ปลาตัวนี้ยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ตามแนวปะการังเป็นอย่างมาก เนื่องจากชอบกัดกินสาหร่ายและซากปะการังเป็นอาหาร จึงสามารถช่วยรักษาแนวปะการังให้อุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันถือว่าเป็นปลาที่ฮอตที่สุดในยามนี้ด้วย เมื่อกลุ่มนักอนุรักษ์ชาวไทยต่างออกมารณรงค์ให้เลิกจับ หลังพบว่าจำนวนลดลงอย่างน่าตกใจ
"เมื่อก่อนติดอวนมา ชาวประมงก็ปล่อยไปเพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไร แต่ตอนนี้กลับขายได้ เพราะมีคนบางกลุ่มนิยมรับประทาน จนกลายเป็นความต้องการของตลาด น่าเป็นห่วงมาก เพราะยังไม่มีการศึกษาเพาะเลี้ยงปลานกแก้ว ทางออกง่ายๆคือเลิกกิน และกดดันซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ให้เลิกขาย"
ที่มาภาพ : http://1.bp.blogspot.com/-dvWQKARVUbg/USq26Q7awDI/AAAAAAAABiA/wZH0udjiN-s/s1600/IMG_5580.JPG
5.ปลาการ์ตูน
เมื่อภาพยนตร์เรื่อง Finding Nemo ดังกระหึ่มไปทั่วโลก ส่งผลให้ปลาสวยงามตัวเล็กน่ารักชนิดนี้ถูกลักลอบจับกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน รุนแรงถึงขั้นสูญหายไปในหลายพื้นที่ ภายหลังกรมประมงศึกษาทำการเพาะเลี้ยงได้สำเร็จทันท่วงที อีกทั้งกระแสรณรงค์ให้เลิกซื้อปลาการ์ตูนที่จับมาจากแหล่งธรรมชาติ ทำให้ทุกวันนี้ถือว่ามีภัยคุกคามน้อยลง เป็นบทเรียนสำคัญอีกบทหนึ่งในแวดวงอนุรักษ์สัตว์น้ำ
ที่มาภาพ : โพสต์ทูเดย์
6.โลมาอิรวดี
ถูกค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดี ประเทศพม่า มีลักษณะเด่นคือหัวมนกลมคล้ายบาตรพระ เป็นโลมาน้ำจืดกลุ่มเดียวของไทย อาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา โดนคุกคามอย่างหนักจากการทำประมงพื้นบ้าน ปัจจุบันหลงเหลืออยู่ไม่กี่สิบตัว คาดว่าอีกไม่เกิน 20 ปีหรือเร็วกว่านั้นอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด
ที่มาภาพ : โพสต์ทูเดย์
7.โลมาสีชมพู
ขนาดราว 2-3 เมตร อายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี แรกเกิดมีสีดำ โตขึ้นมาออกสีเทา และจะเริ่มมีจุดสีเทาปนชมพูเกิดขึ้นเป็นลำดับ ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นสีขาวอมชมพูในวัยผู้ใหญ่ หากินตามแนวชาวฝั่งน้ำตื้นไม่เกิน 3 กิโลเมตร กินปลาเล็กปลาน้อย กุ้ง หอยเป็นอาหาร ฝูงใหญ่สุดอยู่ที่ชายฝั่งอ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราชและปากน้ำบางประกง จ.ฉะเชิงเทรา
ที่มาภาพ : https://fbcdn-sphotos-b-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash3/574526_10151117300087226_937726749_n.jpg
8.พะยูน
พะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ถือเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดเดียวที่เป็นสัตว์น้ำ รูปร่างอ้วนกลมเทอะทะ กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร พบมากบริเวณชายฝั่งทะเล จ.พังงาและจ.ตรัง ปัจจุบันคาดว่ามีเหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว และตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ ทั้งจากการถูกเรือพุ่งเข้าชน หญ้าทะเลขาดแคลน ติดเครื่องมือประมงพื้นบ้าน แม้กระทั่งถูกล่าเพื่อเอาเขี้ยวไปทำเครื่องรางของขลัง
ที่มาภาพ : โพสต์ทูเดย์
9.ปูทหารแห่งพระราชา
ปูทหารยักษ์ชนิดใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบในพื้นที่ริมชายหาดปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ลักษณะเด่นคือกระดองใหญ่โค้งนูนสีเทาอมฟ้า กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ก้ามสีครีมเหลือง มีพฤติกรรมการเดินที่จะมีการหยุดเป็นระยะ ต่างจากปูทหารทั่วไป อีกทั้งยังชอบขุดทรายมาสร้างสันทรายรอบตัวเป็นรูปวงกลม อย่างไรก็ตามพื้นที่หาดปากบาราอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เนื่องจากกำลังมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างการสร้างท่าเทียบเรือปากบารา หากไม่รีบศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน เพื่อดูถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ปูทหารยักษ์แห่งพระราชาอาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ที่มาภาพ : http://farm7.static.flickr.com/6086/6102870041_6dedec1dd6.jpg
10.วาฬบรูด้า
วาฬชนิดที่พบบ่อยที่สุดและตกเป็นข่าวบ่อยที่สุด เหตุเพราะชอบลอยมาติดอวนชาวประมง จนบอบช้ำและตาย มีความยาว 12-17 เมตร น้ำหนักมากกว่า 40 ตัน พบบ่อยในบริเวณใกล้ฝั่งอ่าวไทยตอนใน ตั้งแต่ชายฝั่งสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี จนถึงประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะพื้นที่บ่อนอก แหลมผักเบี้ย บางตะบูน โคกขาม เป็นต้น ปัจจุบันหลงเหลือไม่น่าต่ำกว่า 50 ตัว ภัยคุกคามอันดับหนึ่งคือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่
ที่มาภาพ : Smith Sutibut
ผศ.ดร.ธรณ์ ทิ้งท้ายว่าทั้งหมด 10 ตัวที่กล่าวมาถือเป็นพรีเซนเตอร์ของท้องทะเลไทย
"ทั้งหมด 10 ตัวที่กล่าวมากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ บางตัวก็สูญพันธุ์ไปแล้ว บางตัวอาจจะยังไม่สูญพันธุ์แต่มองไม่เห็นอนาคต บางตัวโดนคุกคามหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ สัตว์พวกนี้เป็นตัวแทนของการอนุรักษ์ทะเล เป็นพรีเซนเตอร์ของท้องทะเลไทยอย่างแท้จริง"
สำหรับงานบันเทิงอาจใช้เงินเพียงไม่กี่หมื่นจ้างดารามาทำหน้าที่พรีเซนเตอร์ ทว่างานอนุรักษ์ธรรมชาติ ต่อให้มีหมื่นล้านแสนล้านก็จ้างสัตว์น้ำน่าทึ่งเหล่านี้ไม่ได้ หากมันสูญพันธุ์ไปแล้ว
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต