สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดกระบวนการจนท.รัฐ-เอกชน สมคบ ยักยอก ข้าวในโกดัง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



(รายงานพิเศษ) เปิดกระบวนการจนท.รัฐ-เอกชน สมคบ'ยักยอก'ข้าวในโกดัง

หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ โดยตั้งคณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณภาพ ประกอบด้วย 4 หน่วยงาน คือ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งส่วนราชการของกองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขอให้ส่วนราชการของกองทัพบกช่วยจัดกำลังพลในแต่ละพื้นที่ เพื่อตรวจสอบโกดังทั้งหมดกว่า 1,800 โกดัง ร่วม 100 ทีม

จริงๆ ก่อนลงพื้นที่ม.ล.ปนัดดา ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการตรวจสอบความมีอยู่จริงของข้าวที่เก็บในโกดังทั่วประเทศ ซึ่งคณะทำงานตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากกองทัพบก ผู้ตรวจราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

ฉะนั้นการลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังข้าวตามพื้นที่เป้าหมายและผลที่ออกมาปรากฏมีความผิดปกติเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวหายไปจากโกดัง หรือข้าวที่ไม่มีคุณภาพผสมอยู่ในโกดังให้เห็นอย่างที่ทีมตรวจสอบพบ เรื่องนี้คงไม่เหนือความคาดหมายอะไร เชื่อเหลือเกินว่าหากมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นเมื่อไหร่ ความผิดปกติก็จะเกิดขึ้นทันที เพราะโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลทำมาอย่างยาวนาน

แต่ที่น่าคิดทำไมปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น ใครคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ปรากฏ บทลงโทษควรจะเป็นอย่างไรกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ตามกระบวนการของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล มีขั้นตอนอยู่ไม่มากนัก ตามหลักการหากผู้เกี่ยวข้องกระทำตามข้อกำหนด หรือกฎเกณฑ์ที่วางไว้ความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวไม่มีคุณภาพหรือข้าวหายไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นจากการตรวจสอบของคณะทำงาน คงพอจะสรุปได้ว่าทั้งหมดเกิดจากกระบวนการคอร์รัปชันเป็นต้นเหตุเสียมากกว่า

โครงการรับจำนำข้าวจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องไม่มากนัก เริ่มจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โรงสี คลังเก็บข้าวหรือโกดังเก็บข้าว บริษัทเซอร์เวเยอร์ หน่วยงานรัฐอย่างองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อ.ค.ส.) ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวในแต่ละครั้ง

โรงสี ทำหน้าที่รับข้าวจากเกษตรกรแล้วแปรสภาพข้าวส่งมอบให้กับคลังกลาง

คลังกลางหรือโกดัง ก่อนจะนำข้าวเข้าคลัง จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติของคลังแต่ละจังหวัด จากนั้นก็จะส่งให้อ.ต.ก.และ อคส.อนุมัติ ขั้นตอนต่อมาก่อนเปิดคลังจะมีคณะกรรมการตรวจความพร้อมก่อนรับข้าวสารเข้าโกดัง

เพื่อเป็นการป้องกันการนำข้าวเข้าหรือนำข้าวออกจากโกดัง จะมีกุญแจสำคัญอยู่ 3 ดอก พร้อมผู้รับผิดชอบ 3 ฝ่าย 1.บริษัทเซอร์เวเยอร์ 2.หัวหน้าโกดัง (อ.ต.ก.หรือ อคส.) ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโกดังหน่วยงานไหน และ 3.เจ้าหน้าที่ที่จังหวัดมอบหมาย

ฉะนั้นหากข้าวที่อยู่ในโกดังไม่ว่าจะเป็นส่วนของข้าวหายหรือข้าวเสื่อมคุณภาพ ที่เล็ดลอดเข้าไปอยู่ในโกดัง ถามว่าใครคือผู้รับผิดชอบคำตอบง่ายๆ "บริษัทเซอร์เวเยอร์และเจ้าของโกดัง" ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

เหตุผลที่ทั้งสองส่วนนี้ต้องรับผิดชอบก็เนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 รัฐบาลได้มีการแก้ไขสัญญาการรับฝากข้าว โดยระบุว่าข้าวที่อยู่ในโกดังหรือคลัง เจ้าของต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดกรณีใดๆ ขึ้น เช่นเดียวกับบริษัทเซอร์เวเยอร์ ก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ

ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อทีมที่คสช.ตั้งขึ้นมาไปตรวจพบไม่ว่าจะเป็นกรณีข้าวหายหรือข้าวเสื่อมคุณภาพ "บริษัทเซอร์เวเยอร์และเจ้าของโกดัง" คือผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง

กรณีที่ตรวจพบมีข้าวหายออกไปจากโกดังหรือคลังสินค้า ประเด็นนี้คสช.ต้องถามหาความรับผิดชอบและเอาผิดผู้ที่รับผิดชอบถือกุญแจทั้ง 3 ส่วน

ทั้งบริษัทเซอร์เวเยอร์ หัวหน้าโกดัง (อ.ต.ก.หรือ อคส.) และเจ้าหน้าที่ที่จังหวัดมอบหมาย

เป็นเรื่องน่าคิดหากบุคคลทั้ง 3 ส่วน ไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ โกดังหรือคลังสินค้า คงไม่สามารถเปิดเพื่อนำข้าวเข้าหรือออกได้

ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องท้าทายการตรวจสอบและเอาผิดผู้เกี่ยวข้องจากการสอบของคสช.ครั้งนี้

ถามว่าแล้วกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาลจะได้ประโยชน์อะไร?

โรงสี ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับผลประโยชน์ คือ 1.ได้ค่าจ้างแปรสภาพข้าวตันละ 500 บาท 2.รัฐจ่ายชดเชยค่าบรรทุกข้าวตามระยะทาง 3.รัฐจ่ายชดเชยค่ากระสอบบรรจุข้าวให้ตามจริง แต่การจ่ายทั้ง 3 ประเด็นจะไม่มีการใช้เงินสดจ่าย แต่รัฐบาลจะคำนวณจ่ายคืนในรูปของ"ข้าวสาร" ตามปริมาณที่โรงสีเข้าร่วมได้รับการแปรสภาพข้าว

บริษัทเซอร์เวเยอร์ สิ่งที่ได้รับคือ 1.ค่าตรวจสอบคุณภาพข้าวก่อนเข้าโกดังหรือคลังกลางตันละ 15-16 บาท 2.ค่ารับจ้างรมยาข้าวในโกดังตันละ 12 บาท /รมยาทุกๆ 2 เดือน

เจ้าของโกดังหรือคลังกลาง สิ่งที่ได้รับจากรัฐบาล 1.ค่าเก็บข้าวกระสอบละ 2 บาทต่อเดือน 2.ค่ากรรมกรแบกข้าวกระสอบละ 3 บาท

แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการรับจำนำ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกระบวนการขนข้าวออกจากโกดังหรือการนำข้าวที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาผสม แต่กระบวนการไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นและแอบแฝงกับโครงการนี้มีอีกมากมาย

เรียกว่าทุกช่องทางมีการเรียกรับผลประโยชน์กันถ้วนหน้าทั้งในส่วนของโรงสี และเจ้าของโกดังเก็บข้าว ที่เห็นชัดเจนนั่นคือในส่วนของโรงสีข้าวที่มักจะถูกบริษัทเซอร์เวเยอร์เรียกเก็บ เขาเรียกกันว่า "ค่าเหยียบแผ่นดิน" จากโรงสีกระสอบละ 10 บาท กรณีข้าวคุณภาพดี แต่หากข้าวคุณภาพไม่ดีหรือมีปัญหาจะเรียกเก็บเพิ่มเป็นกระสอบละ 20-30 บาทเป็นอย่างต่ำ

ถัดมาเป็นเจ้าของโกดังที่ถูกบริษัทเซอร์เวเยอร์เรียกเก็บ เขาเรียกกันว่า"ค่าปากถุง" จะเรียกเก็บกระสอบละ 1 บาท และกับการนำข้าวเข้าโกดัง หากโกดังไหนยอมจ่ายเท่ากับว่าข้าวได้ผ่านการตรวจสอบจากบริษัทเซอร์เวเยอร์นั่นเอง ตรงนี้มีการพูดกันมากในวงการทำนองว่าต้องจ่ายให้"ข้างบน" ยิ่งช่วงไหนที่ใกล้จะปิดโครงการการเรียกเก็บค่าปากถุงจะสูงมากบางโกดังราคาขยับขึ้นไปถึงกระสอบละ 15 บาท

ไม่เฉพาะแต่บริษัทเซอร์เวเยอร์เท่านั้นที่มีกระบวนการไม่ชอบมาพากล กับโครงการรับจำนำ ยังมี กลุ่มทุนการเมือง นักการเมือง ลูกนักการเมือง ยัง"ตั้งโต๊ะ"เรียกรับผลประโยชน์จากโรงสีและเจ้าของโกดังที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว

กระบวนการของนักการเมือง มีการสมคบกับบริษัทเซอร์เวเยอร์ ทำหน้าที่หาข้าวที่เสื่อมคุณภาพจากโรงสีนำ เพื่อนำข้าวเข้าโกดัง และรับผลประโยชน์กระสอบละ 50 บาท เรียกว่าทำกันเป็นล่ำเป็นสัน กระบวนการอย่างนี้เกิดขึ้นทั่วทุกภาค

ฉะนั้นไม่แปลกใจที่คณะกรรมการที่คสช.ตั้งขึ้น มาลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วเจอข้าวเสื่อมคุณภาพ หรือไม่ก็ต้องพบกับข้าวที่ล่องหนออกไปจากโกดัง เพราะทุกขั้นตอนมี

"บูรณาการคอร์รัปชัน"ถ้วนหน้าทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ เอกชนและนักการเมือง !!


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เปิดกระบวนการ จนท.รัฐ เอกชน สมคบ ยักยอก ข้าวในโกดัง

view