ปฏิวัติ...ชาวนา
โดย : รักษ์ มนตรี @sutthirak_ntv
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากทำรัฐประหารรัฐบาลรักษาการสำเร็จ สิ่งแรกๆ ที่ทำ คือ "ปลดเปลื้อง" ทุกข์ของพี่น้องเกษตรกร
ชาวนา ชาวไร่ นับล้านครัวเรือน ที่รอคอยเงินจากใบประทวน โครงการรับจำนำข้าวมานานกว่า 6 เดือน
เงินที่ คสช. นำมาจ่ายหนี้ชาวนา แทนรัฐบาลเลือกตั้งที่ก่อหนี้เอาไว้นับแสนล้านบาท มาจากเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4 หมื่นล้านบาท และเงินกู้สถาบันการเงินภายในประเทศ อีก 5 หมื่นล้านบาท
เงินทั้ง 2 ก้อนนี้ จะใช้หนี้ชาวนาได้ทั้งหมดภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ 26 พฤษภาคม 2557
นอกจาก คสช. จะหาเงินมาจ่ายชาวนาแล้ว คสช. ยังสั่ง องค์การคลังสินค้า (อคส.) เช็คสต็อกข้าวในโกดังรัฐบาล และห้ามกระทรวงพาณิชย์ขายข้าวในตลาดล่วงหน้า
นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน เสนอว่า การเช็คสต็อกควรใช้บริษัทเซอร์เวเยอร์มืออาชีพ ย้ำ "มืออาชีพ" เพราะว่าก่อนหน้านี้มีการจ้างวินมอเตอร์ไซค์ไปตรวจคุณภาพข้าว และหากตรวจอย่างมืออาชีพ จะพบข้าว "ไม่มีคุณภาพ" มากกว่า 1 ล้านตัน ข้าวล้านตันนี้แยกออกมาแล้วไม่ต้องจำหน่าย
ส่วนข้าวที่เหลือ นิพนธ์ บอกว่า จะเป็นข้าวที่มีคุณภาพที่พอจะส่งออกได้
การคัดแยกข้าวจะทำให้ความเชื่อมั่นในข้าวไทยมีมากยิ่งขึ้น หลังจากที่จำนำข้าวทุกเม็ดได้ทำลายเครดิตข้าวไทยในตลาดโลกไปหมด
ข้อเสนอของ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย อีกหนึ่งเรื่องคือ สอบสวนว่าเหตุใดกระทรวงพาณิชย์ขาย "ปลายข้าว" ไม่ได้ ทั้งที่ยอดส่งออกปลายข้าวของไทยปีนี้สูงมาก แต่กระทรวงพาณิชย์กลับแจ้งว่า ขาย "ข้าวเสื่อมสภาพ" แทน
การตรวจเช็คสต็อกข้าว ในมุมมองของ นิพนธ์ เขาเป็นห่วงข้าราชการที่เป็นอดีตลูกน้องเก่าจะโดนเล่นงาน เหตุเพราะผู้ที่เก็บตัวเลขสต็อกข้าวและลงบัญชี คือ บิ๊ก อคส. ซึ่งมีคำสั่งตรงจากฝ่ายการเมือง ให้นำข้าวในสต็อกออกมาเวียนเทียนในตลาด เมื่อขายข้าวได้ มีเงินส่งเข้ามา ค่อยตัดบัญชี
ด้วยวิธีการนี้ที่ทำให้เราได้พบกับความจริงว่า ข้าวไทยมาจากไหน ทั้งที่ในแต่ละปีจะมีพื้นที่นาแล้ง นาล่ม แต่ข้าวที่นำมาจำนำกลับทะลุยอด ที่ประมาณการ "ข้าว" เหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการเวียนเทียน ส่วนหนึ่งมาจากการสวมสิทธิข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเข้ามาทุกช่องทาง
การเล่นแร่แปรธาตุกันเช่นนี้นี่เอง ที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง กุลิศ สมบัติศิริ ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว แทน สุภา ปิยะจิตติ ยอมรับว่าเดือนพ.ค. 2556 ขาดทุน 3 แสนล้านบาท 31 มี.ค. 2557 ขาดทุน 5 แสนล้านบาท
สาเหตุของตัวเลขขาดทุน ก็เพราะว่า กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนรับจำนำข้าวเปลือก 15,000-20,000 บาทต่อตัน โดยกระทรวงพาณิชย์ขายข้าวสารราคา 12,000-14,000 บาทต่อตัน ซ้ำยิ่งเมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการขายข้าวในราคาต่ำเพียง 8,000 บาทต่อตัน ทำให้ส่วนต่างต้นทุนกับราคาขายสูงขึ้น หมายถึงตัวเลขขาดทุนก็สูงขึ้น
ตัวเลขที่แดงออกมา จะทำอย่างไร และ เอาผิดกับใครได้บ้าง
คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว อยู่ระหว่างพิจารณาสอบสวนของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในส่วนของ "คดีอาญา" ที่มีผู้ถูกกล่าวหา คือ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตรมว.พาณิชย์ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมช.พาณิชย์ ภูมิ สารผล และ รวมถึงข้าราชการ เอกชนอีก 15 คน
ป.ป.ช. เห็นตัวเลขขาดทุน 5 แสนล้านบาทแล้ว เตรียมส่งหนังสือเรียก กุลิศ สมบัติศิริ ประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว มาชี้แจงในฐานะพยาน
ป.ป.ช. ซึ่งยืนยันว่า แม้จะมีการทำรัฐประหาร แต่ไม่มีกฎหมายใดที่มาลดทอนอำนาจสอบสวน ดำเนินคดีทุจริตของ ป.ป.ช. แม้แต่มาตราเดียว
สำคัญที่สุด คือ "ชาวนา" เมื่อได้เงินจากโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ต้องรู้จักจดจำความผิดพลาด อย่าเห็นเงินจากนโยบายประชานิยม จนหน้ามืดตามัวทรยศอาชีพตัวเอง
ถึงคราวที่ ชาวนา ต้องปฏิวัติตัวเอง ด้วยตัวเอง...เช่นกัน
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต