สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละบัญชีจำนำข้าว...(ตอน5)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



วิบากกรรมจำนำข้าว "กรุงเทพธุรกิจ"ร่วมเกาะติด ชำแหละบัญชีจำนำข้าว (ตอน 5) ปัญหาขาดทุน-งบชนเพดาน โครงการรับจำนำข้าว"ล่ม"

ผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว จำนวน 14 โครงการ เป็นโครงการในรัฐบาลปัจจุบัน 3 โครงการ คือ โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/56

จากข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 2556 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลปัจจุบัน 3 โครงการ มีการรับจำนำข้าวเปลือกจำนวน 36.31 ล้านตัน โดยใช้เงินในการรับจำนำข้าวเปลือกทั้งสิ้น 565,068.97 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินทุนของธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท เงินกู้ จำนวน 321,914.00 ล้านบาท เงินสำรองจ่ายของธ.ก.ส. จำนวน 62,351.83 ล้านบาท และเงินจากการระบายข้าว จำนวน 90,803.14 ล้านบาท

มีรายได้ตามโครงการ จำนวน 98,005.39 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย จำนวน 430,377.71 ล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุนจากการดำเนินโครงการ จำนวน 332,372.32 ล้านบาท และมีภาระหนี้ที่ต้องชำระคืนให้ธ.ก.ส. จำนวน 474,265.83 ล้านบาท

ต่อมา ณ วันที่ 30 ก.ย. 2556 โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลปัจจุบัน จำนวน 3 โครงการ มีการรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 43.43 ล้านตัน ใช้เงินในการรับจำนำ 678,155.00 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินทุนของธ.ก.ส. จำนวน 180,000.00 ล้านบาท เงินกู้จำนวน 380,326.00 ล้านบาท และเงินสำรองจ่ายของธ.ก.ส. จำนวน 117,829.00 ล้านบาท

สำหรับผลกำไรขาดทุนอยู่ระหว่างการรอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการปิดบัญชี แต่จากตัวเลขทางบัญชีเบื้องสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อหักสินค้าคงเหลือแล้ว โครงการนี้ขาดทุนกว่าครึ่งของงบประมาณที่ใช้ไป

จากข้อมูลดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ได้ใช้สภาพคล่องของธ.ก.ส. ทั้งเงินทุนและเงินสำรองจ่าย รวมทั้งสิ้นเกือบ 300,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบสภาพคล่องของโครงการอย่างมาก หากรัฐบาลไม่สามารถหาเม็ดเงินใหม่เข้ามาทดแทน

หากพิจารณาบทบาทของธ.ก.ส.ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในการบริหารสภาพคล่องของโครงการนี้ และในฐานะที่เป็น"ด่านหน้า"ของนโยบายรับจำนำ เนื่องจากต้องจ่ายเงินกับชาวนาโดยตรง จึงได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากชาวนา เมื่อโครงการรับจำนำมีปัญหาสภาพคล่อง

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะสามารถดำเนินงานอย่างราบรื่นได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพคล่องมาหล่อเลี้ยง แต่ก็ถูกจำกัดด้วยวงเงินกู้ในโครงการ และปัญหาได้รุนแรงขึ้นเมื่อกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าวได้

ในโครงการรับจำนำข้าว ธ.ก.ส. กู้เงิน โดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 410,000 ล้านบาท ใช้เงินทุนธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท (ใช้กับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2554/2555 และข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555) รวมเป็นเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ตามมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการธ.ก.ส. ปี 2555 และ ปี 2556

ดังนั้น จำนวนที่ได้จากการขายข้าวของธ.ก.ส. ที่ได้รับจากการรับจำนำไว้ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของธ.ก.ส. จึงไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน แต่ธ.ก.ส. ต้องนำไปชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงินและเงินทุนของธ.ก.ส. เพื่อให้มีวงเงินใช้ในการรับจำนำข้าวเปลือกต่อไป แต่ต้องไม่เกินกรอบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

จะเห็นว่าธ.ก.ส.เข้ามีบทบาทอย่างมากในฐานะ"กลไก"สำหรับของรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าว และต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล จึงเป็น"คำตอบ"ว่าเหตุใดธ.ก.ส.จึงเร่งให้กระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวเพื่อนำมาใช้รับจำนำข้าว เพราะหากไม่มีเงินหมุนเวียนอย่างเพียงพอก็จะกระทบโครงการในที่สุด

คณะอนุกรรมการปิดบัญชีของกระทรวงการคลัง เคยเสนอในประเด็นเดียวกันว่าหากต้องการให้ธ.ก.ส.มีเงินหมุนเวียนสำหรับการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ และลดภาระดอกเบี้ยหนี้ค้างรับ รวมทั้งเป็นการเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการระบายสินค้าที่"ชัดเจน" และ "รวดเร็ว" รวมทั้ง จำเป็นต้องชำระหนี้คงค้างสุทธิโดยไม่หักมูลค่าสินค้าคงเหลือ

วิธีการลดภาระของธ.ก.ส. ก็คือ การตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้ จำนวน 544,532.16 ล้านบาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย

โครงการเก่า คือ โครงการข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 นาปี 2551/52 นาปรัง 2552 และรับฝากข้างยุ้งฉางปี 2552/53 เป็นระยะเวลา 2 ปี ในอัตราส่วน 50:50 โดยแบ่งชำระในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 35,133.17 ล้านบาท และงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 35,133.16 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 70,266.33 ล้านบาท

สำหรับโครงการข้าวเปลือกนาปี 2554/56 นาปรังปี 2555 และนาปี 2555/56 เป็นระยะเวลา 3 ปี ในอัตราส่วน 50:30:20 โดยชำระในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 237,132.92 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 142,279.76 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 94,853.15 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 474,265.83 ล้านบาท

แต่นั่นเป็นภาระปกติในกรณีที่กระทรวงพาณิชย์สามารถระบายข้าวได้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการระบายข้าวได้น้อยมากในช่วงดำเนินโครงการ ส่งผลให้มีสต็อกข้าวในปริมาณสูงมาก และส่งผลให้"ค่าเสื่อม"มีมากขึ้นไปอีก

ดังจะเห็นได้จากข้อมูลรายได้ของโครงการภายใต้รัฐบาลนี้ 3 โครงการ มีรายได้รวม 98,005.39 ล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายรวม 430,377.71 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ขาดทุนทางบัญชีถึง 332,372.32 ล้านบาท

แต่หากแยกรายโครงการของรัฐบาลชุดนี้ รวม 3 โครงการ ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีการระบายได้น้อยลง โดยข้าวเปลือกนาปี 2554/55 มีรายได้ 40,024.98 ล้านบาท และรายจ่าย 94,851.16 ล้านบาท ต่อมาข้าวนาปรัง ปี 2555 มีรายได้ 37,748.53 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็น 168,959.66 ล้านบาท ขาดทุนทางบัญชี 131,211.13 ล้านบาท

ต่อมาในโครงการข้าวเปลือกนาปี ปี 2555/56 (รอบ 1) มีรายได้เข้ามาเพียง 20,231.88 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายยังอยู่ในระดับเดิม 166,566.89 ล้านบาท มีผลขาดทุนทางบัญชี 146,335.01 ล้านบาท

จากตัวเลขของโครงการรับจำนำดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้ยังดำเนินไปอย่างราบรื่น ตราบใดที่ยังใช้เงินไม่เต็มวงเงินที่ 500,000 ล้านบาท แต่หลังจากผ่านไปในช่วง 3 ฤดูผลิตแรก วงเงินก็เริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้นเพราะมีการใช้ไปถึง 430,377.71 ล้านบาท แต่ก็ยังมีวงเงินเหลืออยู่

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนขึ้น เพราะการติดค้างเงินชาวนาในฤดูผลิต 2555/56 นาปีรอบที่ 2 ซึ่งชาวนาเริ่มเบิกเงินไม่ได้ เพราะมีการใช้วงเงินเกินไปแล้วและธ.ก.ส.ก็ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอ แม้ผู้บริหารจะบอกว่า"มีเพียงพอ"

สิ่งที่ปรากฏให้เห็นจากปัญหาดังกล่าวก็คือ การโยนปัญหากันไปมาระหว่างกระทรวงการคลังกับกระทรวงพาณิชย์ โดยกระทรวงการคลังก็เร่งให้มีการระบายข้าวออก ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็เร่งให้กระทรวงการคลังหาเงิน ส่วนธ.ก.ส.ในฐานหน้าด่านที่เผชิญหน้ากับชาวนาก็เจอแรงกดดันมากขึ้นในระดับพื้นที่ เพราะไม่มีเงินจ่ายชาวนา

ขณะนี้เราจึงเห็นความพยายามแก้ปัญหาที่แท้จริงของโครงการรับจำนำข้าว นั่นคือ การเร่งระบายสต็อก เพื่อหาเงินมาจ่ายชาวนา

สิ่งที่ต้องตอบคำถามก็คือเหตุใดกระทรวงพาณิชย์จึงไม่รีบเร่งระบายข้าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : ชำแหละบัญชีจำนำข้าว...(ตอน5)

view