จากประชาชาติธุรกิจ
หมายเหตุ - นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคดีโครงการประกันราคาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทั้งสองคดีถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริต
@หลักการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในช่วงวิกฤตการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งของสังคม
การทำงานของ ป.ป.ช.ในฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต้องยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ คือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรง คือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งระเบียบต่างๆ ของ ป.ป.ช. อาทิ ระเบียบการไต่สวน ระเบียบการแสวงหาข้อเท็จจริง ระเบียบการไต่สวนของคณะอนุกรรมการ ของพนักงานไต่สวนเป็นหลัก ถ้าไม่ยึดหลักกฎหมายระเบียบเหล่านี้คงทำงานไม่ได้ งานก็จะมีปัญหา
กรรมการ ป.ป.ช.ทั้งหมดยึดหลักกฎหมาย และความถูกต้องเป็นหลักการในการทำงาน ส่วนตัวยึดกฎหมาย ความถูกต้องและความยุติธรรมเป็นหลักในการทำงาน จะได้ไม่แกว่งไปด้านอื่น แม้ว่าขณะนี้บ้านเมืองเราจะมีปัญหา การทำงานของ ป.ป.ช.ยังยึดหลักกฎหมาย และดูเรื่องร้องเรียนที่ส่งเข้ามาเป็นสำคัญ ว่าเรื่องไหนที่เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ทั้งที่จริงแล้วเราต้องทำทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่เรื่องไหนที่มีความสำคัญ เป็นเรื่องที่สังคมจับตาดูอยู่ เรื่องไหนที่เป็นความเสียหายมากมายต่อบ้านเมือง เราต้องนำขึ้นมาพิจารณา โดยยึดหลักกฎหมาย เรียกว่าต้องจัดลำดับความสำคัญของเรื่อง แต่ต้องไม่ทิ้งทุกเรื่อง ถ้าเรื่องไหนที่สำคัญมากๆ ก็ต้องจัดพนักงานไต่สวนขึ้นมาเป็นชุดพิเศษเพราะต้องให้ความสำคัญ
@การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่นำมาไต่สวนพิจารณาอย่างไรเพราะถูกวิจารณ์มากในเรื่องการหยิบคดีขึ้นมาพิจารณา
ดูจากเรื่องที่เป็นที่สนใจของสังคมจับตา สังคมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ มีมูลค่าความเสียหายมากมาย ไม่ได้ว่าเรื่องนี้ถูกส่งมาก่อน เรื่องนี้ถูกส่งมาหลัง เพราะไม่ว่ามาก่อนหลังเราต้องทำอยู่แล้ว แต่เรื่องไหนที่มีความสำคัญมากๆ สังคมดูอยู่ เราต้องดูและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ เช่นขณะนี้สังคมจับตาดูเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ป.ป.ช.จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ ป.ป.ช.ต้องยึดหลักที่ได้กล่าวไปแล้ว เมื่อสังคมให้ความสำคัญเรื่องนี้ ป.ป.ช.ก็ต้องนำขึ้นมาพิจารณาและติดตามรายละเอียดต่างๆ
เรื่อง ประกันราคาข้าวในสมัยของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้นถูกส่งมาโดยกรมสอบสวนคดี พิเศษตั้งแต่ปี2555 และยังมีการมาร้องเรียนเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช.อีก 2-3 เรื่องด้วยกัน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนเพราะเป็นเรื่องของการร้องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ป.ป.ช.ทำงานเรื่องนี้มาตามลำดับ ตอนนี้อยู่ระหว่างการขอข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆ อย่างที่ ป.ป.ช.ได้แถลงข่าวไปแล้วคืออยู่ระหว่างการขอข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่ยังไม่ได้ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ซึ่งจากการที่ได้สอบถามจากเจ้าหน้าที่แล้วทราบว่าเมื่อขอข้อมูลไปยังหน่วย งานต่างๆ เมื่อส่งหลักฐานมาให้แต่ยังได้ไม่ครบถ้วน จึงให้นโยบายไปแล้วว่าต่อจากนี้ไปให้ทวงข้อมูลโดยกำหนดเวลาให้เขาตอบกลับมา เช่น ภายใน 1 เดือนเป็นต้น แล้วถ้ายังไม่มีการตอบกลับมาอีกก็ต้องใช้วิธีทางกฎหมายเข้าว่ากันเพราะถ้า ไม่ตอบมาให้ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายได้ให้นโยบายเรื่องนี้ไปแล้วเพื่อให้ ได้ข้อมูลมาให้ได้
รวมทั้งขอข้อมูลไปที่กรรมการหรือผู้แทนบริษัทผู้ซื้อข้าวในสต๊อกของรัฐบาลด้วยซึ่งขอไปก็ยังไม่ได้มาเช่นกัน เนื่องจากเรื่องนี้มีกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งองค์คณะเป็นกรรมการไต่สวน จึงได้ย้ำนโยบายว่าหากไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลก็ให้ใช้ข้อกฎหมายเป็นสำคัญโดยกำหนดระยะเวลาในการตอบกลับข้อมูล1 เดือน ตรงนี้เราขีดเส้นตายไปแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นก็จะอ้างเหตุผลยาวไปเรื่อยๆ พร้อมกับให้มารายงานที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เร่งรัดการทำงานไปแล้ว
สำหรับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ก็มีเรื่องร้องเข้ามาหลายเรื่องแต่แยกเป็นการไต่สวนกรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และขณะนี้ก็มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว และในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ได้นัดให้นายบุญทรงและนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาชี้แจงข้อกล่าวหา ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีเรื่องร้องให้ถอดถอน และร้องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (มาตรา 157) อีกด้วย ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ส่งคำสั่งเรื่องการไต่สวนไปให้เรียบร้อยแล้ว
ขณะนี้คณะทำงานกำลังดำเนินการไต่สวนผู้ร้อง โดยภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ปชป. มาให้ข้อมูลในฐานะผู้ร้อง จากนั้นคณะทำงานจะได้รวบรวมข้อมูลรายงานเข้าที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ที่เป็นองค์คณะไต่สวนเพื่อให้พิจารณาว่าหลักฐานต่างๆ เพียงพอที่จะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ โดยประมวลจากข้อมูลหลักฐานหลายๆ อย่างประกอบกัน รวมถึงข้อมูลรายละเอียดเรื่องใบประทวน วิธีการจำนำข้าวที่ได้จากชาวนาที่มาร้องเรียนด้วยตัวเองที่สำนักงาน ป.ป.ช.และข้อมูลที่เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบหลายๆ เรื่องในพื้นที่จริง เช่น โกดัง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมารวมในสำนวนด้วย และเช่นกันหากไม่ได้รับความร่วมมือเรื่องการขอข้อมูลก็ต้องถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย
ถ้า เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลมาแล้วก็ประมวลเรื่องส่งเข้าที่ประชุมกรรมการทั้งองค์ คณะเพื่อดูว่ามีข้อมูลเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาได้หรือไม่คงอีกประมาณ 2 เดือน เพราะ 1 เดือนขอข้อมูล แล้วอีก 1 เดือนเจ้าหน้าที่ประมวลข้อมูลเพื่อนำมาเข้าที่ประชุมกรรมการเพื่อพิจารณาว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้หรือไม่
@ป.ป.ช.เคยส่งหนังสือเตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้วถึง2 ครั้งว่าโครงการรับจำนำข้าวนี้เสี่ยงต่อการทำให้เกิดความเสียหาย
นั่นเป็นเรื่องของมาตรการส่วนหนึ่งของป.ป.ช.ที่จะมีการทำวิจัยโดยให้ทีดีอาร์ไอ นักวิชาการหลายฝ่าย มาพิจารณาโครงการตั้งแต่รัฐบาลก่อนเรื่องประกันราคาข้าว ซึ่งพบว่าเสียหายน้อยกว่า และรัฐบาลนี้เรื่องรับจำนำข้าว เมื่อมีผลวิจัย ป.ป.ช.ได้เสนอไป 2 ครั้ง เพื่อให้ระวังความจะเกิดความเสียหายขึ้นมา แต่รัฐบาลคงคิดว่าเป็นนโยบายหลัก ทำได้ ยังไม่เกิดความเสียหาย ตอนนี้สังคมมองเรื่องนี้จากข้อมูลต่างๆ แล้วคิดว่าน่าจะเกิดความเสียหายขึ้นในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องงบประมาณ ระบบการผลิต ระบบของข้าว การตลาด สังคมเขามองอย่างนี้ แต่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ว่า จะทุจริตหรือไม่ทุจริต อันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ ป.ป.ช.จะดู เรื่องการทุจริตเชิงนโยบาย อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ ป.ป.ช.ได้เตือนไปนั้น รัฐบาลสามารถไม่รับฟังได้เพราะไม่ใช่เป็นกฎหมายที่ต้องทำตาม เป็นเพียงแค่ชี้เพื่อให้นำไปคิดเท่านั้นว่าถ้าทำแล้วจะมีผลดีผลเสียอย่างไร ซึ่งท่านอาจจะเห็นว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้วก็ได้
@การทำงานของ ป.ป.ช.ถูกวิจารณ์ว่าเกี่ยวโยงการเมือง
เราถูกวิจารณ์อย่างนั้นจริง แต่ในความเป็นจริง ป.ป.ช.จะเข้าไปอยู่ในกระบวนการการเมืองไม่ได้ เพราะ ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องทำหน้าที่ตามที่มีเรื่องร้องเรียนกล่าวหาเข้ามา และเรื่องถอดถอนที่ถูกส่งมาจากสภา เรื่องร้องเรียนจากพรรคการเมือง นักการเมือง ป.ป.ช.ทำทั้งหมด เราตรวจสอบทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยากให้เข้าใจการทำงานของ ป.ป.ช. แต่แน่นอนว่าเนื่องจาก ป.ป.ช.ทำงานเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนต่างๆ จึงอาจดูว่าเรื่องนั้นช้า เรื่องนี้ไม่ช้า แต่ ป.ป.ช.ทำงานครบถ้วนทุกกระบวนความตามหลักกฎหมายและถูกต้อง ส่วนเรื่องที่จะผิดหรือไม่ผิดนั้นขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ป.ป.ช.จะไปอยู่ในขบวนการอะไร อย่างนั้นทำไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ขั้นตอนมีมากซึ่ง ป.ป.ช.ก็เร่งอยู่ ทั้งที่เจ้าหน้าที่เราก็มีน้อยกว่างาน
@บางฝ่ายคาดหวังให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ปลดล็อกทางการเมือง
ป.ป.ช.เราทำหน้าที่ตามกฎหมาย ตามข้อเท็จจริง และถ้าการทำงานของ ป.ป.ช.สามารถทำให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมก็ยินดีทำ เพราะถือว่าบ้านเมืองจะได้มีทางออก แต่ต้องถูกต้อง เป็นธรรม จะให้ทำเพื่อกลั่นแกล้ง บิดเบือน อย่างนั้นทำไม่ได้อยู่แล้ว ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญ เมื่อสังคมให้ความสำคัญอยู่ ป.ป.ช.จะไม่ให้ความสำคัญได้อย่างไร บ้านเมืองกำลังเดือดร้อน ป.ป.ช.จะอยู่เฉยได้อย่างไร ก็ต้องเข้ามาทำเรื่องนั้น
@รู้สึกกดดันในการทำงานหรือไม่ เพราะการชี้มูลไม่ว่าเรื่องใดจะถูกอีกฝ่ายกล่าวหาว่าเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง และถูกดึงเข้าไปเป็นเรื่องการเมือง
ต้องไม่เข้าไปตรงนั้น ป.ป.ช.ต้องทำหน้าที่ เมื่อทำงานโดยยึดกฎหมาย ข้อเท็จจริงแล้ว ถ้าทำอย่างถูกต้องแล้วก็ไม่สามารถเป็นอย่างอื่นได้ ก็ต้องทำไปอย่างนั้น หากถามว่ากดดันหรือไม่ บางครั้งรู้สึกว่า ถ้าทำไปอย่างนี้ทำให้เกิดความยุติธรรม และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ป.ป.ช.ก็ยินดีที่จะทำแต่ย้ำว่าต้องยึดขั้นตอน ความถูกต้อง เป็นธรรม เพราะถ้าไม่ยึด ป.ป.ช.ก็อยู่ไม่ได้
@บางฝ่ายถึงกับกล่าวหาว่า ป.ป.ช.มีธงอยู่แล้ว
อันนั้นก็ต้องดูที่การพิจารณา ดูการตัดสิน ของ ป.ป.ช.เป็นหลัก ว่าเรามีความโอนเอียงหรือไม่ และความจริงแล้วการตัดสินของ ป.ป.ช.ยังไม่ใช่ที่สิ้นสุดยังต้องผ่านไปอัยการสูงสุด ผ่านไปที่ศาล
@ทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ มองว่าองค์กรอิสระของไทยเป็นตุลาการภิวัฒน์ ชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลได้ เรื่องนี้วิเคราะห์อย่างไร
อาจเป็นเพราะในกฎหมายของไทยกำหนดให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ โดยมีหลักของความเป็นธรรม ความถูกต้อง
@แต่ไม่เคยเอาผิดได้ถึงตัวนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ
ทำอย่างไรได้เมื่อข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ถึงตรงนั้นเพราะถ้าข้อมูลถึงก็ต้องถึง
@หากการไต่สวนเรื่องโครงการรับจำนำข้าวสามารถชี้มูลถึงตัวรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีได้ คิดว่าจะชี้แจงได้หรือไม่
ชี้แจงได้ เพราะต้องชี้แจงตามข้อมูลข้อเท็จจริง หลักฐานที่ได้มา ถ้าหลักฐานไม่เพียงพอก็ตกไป แต่ถ้าหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการ ตั้งแต่แจ้งข้อกล่าวหา ไปจนถึงชี้ถูกชี้ผิดได้ อย่างนั้นก็ต้องทำ ต้องให้ถึงเวลานั้นก่อนจะได้ชี้แจงได้
.........
(ที่มา:มติชนรายวัน17 ก.พ.2557)
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต