สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตกหน้าผา!จำนำข้าว รัฐบาลแค่ซื้อเวลา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตกหน้าผา ประชาระทม"จำนำข้าว" สุดท้ายแค่ซื้อเวลาลากยาว กู้เงินผิดรัฐธรรมนูญ-ข่าวล่องหน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ประจำปีงบประมาณปี 2557 ครั้งที่ 1 ถือเป็นวิธีการพยายามกู้เงินของกระทรวงการคลัง เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวในฤดูผลิตนาปี 2556/57

จากข้อมูลตั้งแต่เริ่มโครงการวันที่ 1 ต.ค. 2556 ถึงวันที่ 30 ม.ค. 2557 มีข้าวเข้าโครงการทั้งสิ้น 178,681.55 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินไปแล้ว 56,132.96 ล้านบาท

ครม.เห็นชอบแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในช่วงค่ำของวันเดียวกับที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่พิจารณาการขอกู้เงินของรัฐบาลเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำ ที่รัฐบาลติดค้างชำระใบประทวนชาวนาทั่วประเทศกว่าแสนล้านบาท

การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในครั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยน"แผนก่อหนี้" ด้วยการ"ยกเลิก" แผนกู้เงินในโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท ที่เดิมมีแผนจะกู้เงินในปี 2557 ประมาณ 1.2 แสนล้านบาทออก เนื่องจากพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทอยู่ในขั้นตอนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และแผนการก่อหนี้ใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ให้ปรับลดวงเงินกู้ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท

จากนั้น เพิ่มรายการ"ใหม่" จำนวน 2 รายการ รวมเงิน 143,244 ล้านบาท ได้แก่ 1.เงินกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล 13,244 ล้านบาท และ 2.เงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/57 จำนวน 130,000 ล้านบาท

นั่นคือ เงินกู้ที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

แต่เนื่องจากรัฐบาลยุบสภา ทำให้มีปัญหาว่าไม่สามารถดำเนินโครงการหรือนโยบายใดที่ผูกพันไปยังรัฐบาลต่อไปได้ ซึ่งจุด"ตาย"ของนโยบายนี้ เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่าง"รุนแรง" หากไม่ได้เงินกู้ เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าว เพื่อนำเงินมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนได้

หากฟังความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกาในการประชุมครม.วันนั้น ก็จะรู้ว่าการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการนี้ไม่สามารถทำได้ตั้งแต่ต้น

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า หากการที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติให้กระทรวงการคลังมีอำนาจดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามกรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว และการพิจารณาอนุมัติดังกล่าวจะไม่มีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป คณะรัฐมนตรีก็ย่อมพิจารณาอนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามที่เสนอได้

แต่ทางกระทรวงการคลังเห็นว่าความเห็นกฤษฎีกายังไม่ชัดเจนว่าทำได้หรือไม่ จึงเสนอให้ตีความอีกครั้งว่าทำได้หรือไม่ ในวันที่ 23 ม.ค.

นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบกลับว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะไม่ใช่โครงการใหม่

แต่ประเด็นปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อมีการตีความว่าความเห็นของกฤษฎีกาในวันเสนอครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.นั้น เป็นการประชุมในรูปแบบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนความเห็นเมื่อวันที่ 23 ม.ค.นั้น เป็นความเห็นของนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ความสับสนจึงเกิดขึ้น เพราะกระทรวงการคลังได้สั่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ทำแผนกู้เงินจากตลาดเงินงวดแรก 20,000 ล้านบาท จากนั้นกู้เงินในทุกสัปดาห์ แต่ความเห็นขอบสบน.ระบุว่าอาจสุ่มเสี่ยงผิดรัฐธรรมนูญ

ปรากฏว่าการประกาศเชิญชวนให้สถาบันการเงินมาปล่อยเงินกู้ในครั้ง มีเพียงสถาบันการเงินต่างชาติเพียงรายเดียว โดยเสนอดอกเบี้ยสูงลิ่วถึง 18% ส่วนสถาบันการเงินอื่นไม่ยื่นข้อเสนอเพื่อประมูลปล่อยกู้ในครั้งนี้

นักการธนาคารหลายคนระบุตรงกันว่าไม่มีความ"ชัดเจน"ในเรื่องข้อกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่ต้องการรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น หากมีการตีความว่าการกู้เงินในครั้งผิดรัฐธรรมนูญ

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้ไม่มั่นใจว่าจะสามารถกู้ได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นความเห็นของเลขาธิการเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ใช่ความเห็นในลักษณะขององค์กร อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้ว การที่จะระบุว่า ขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จะต้องขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ

ในเมื่อกระทรวงการคลังไม่สามารถกู้เงินในตลาดเงินได้ จึงพยายามหาช่องทางต่างๆ เพื่อหาเงินมาใช้ในโครงการ เพราะยิ่งปล่อยเวลาให้ผ่านไปนานเท่าไร ความเดือดร้อนของชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการนี้ก็เพิ่มมากขึ้น เพราะรัฐบาลติดค้างชาวนามานาน บางพื้นที่ค้างจ่ายมานานถึง 6 เดือน

ดังนั้น จึงมี"ความเคลื่อนไหว"พยายามหาแหล่งเงิน ไม่ว่าจะร้องขอธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ให้ยอมปล่อยสภาพคล่อง แต่ก็ถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงาน รวมทั้งมี"ข่าว"ว่าจะขอให้ธนาคารออมสินมาปล่อยกู้ แต่ก็ต้องเผชิญกับแรงต่อต้านเช่นเดียวกัน แม้แต่ธนาคารกรุงไทย

แต่เมื่อถูกต่อต้าน ก็มีข่าวว่ารัฐบาลพยายามหาทางกู้แหล่งเงินที่มีสภาพคล่องสูง อย่างกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ซึ่งล่าสุดได้รับการปฏิเสธเช่นเดียวกัน

เจ้าหน้าที่รายเดียวกัน กล่าวอีกว่า แผนการหาเงินด้วยการกู้เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในขณะนี้ เรียกได้ว่า "แทบเป็นไปไม่ได้" เนื่องจาก ติดปัญหาว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) และ (4) ที่ห้ามรัฐบาลรักษาการ ทำงานหรือโครงการที่มีผลผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป และ ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ ที่ทำให้มีผลต่อการเลือกตั้ง ทำให้ข้าราชการประจำที่ทำหน้าที่ดังกล่าวไม่กล้าที่จะเสนอแผนการกู้เงิน

"เจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องเสนอเงินกู้ หรือ แม้แต่ทางรัฐมนตรีคลังนั้น ก็ทราบกันดีว่า การกู้เงินดังกล่าวจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังทำเรื่องเสนอเงินกู้ และเมื่อเสนอแล้ว ก็พบว่า มีแบงก์แห่งเดียวที่เสนออัตราดอกเบี้ยเข้ามาร่วมประมูล ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องการทำเรื่องกู้เงิน เพราะกังวลว่า จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย"

เจ้าหน้าที่รายนี้ กล่าวอีกว่า "ข่าวที่ออกมาว่ากระทรวงการคลังเตรียมไปกู้เงินจากแหล่งต่างๆนั้น ถือว่า เป็นข่าวที่ปล่อยออกมาเพื่อให้ดูว่า รัฐบาลกำลังหาเงิน เพื่อมาจ่ายให้ชาวนา แต่แท้จริงแล้ว รัฐบาลกำลังซื้อเวลา เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้"

ดังนั้น แนวทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหา คือ การเร่งระบายข้าว

แต่การระบายข้าวก็อาจสร้างปัญหาตามมาอีก เพราะหากรัฐบาล"เปิดโกดัง"เพื่อขายข้าวให้แก่ผู้ส่งออก ก็อาจพบได้ว่ามีข้าวสารในบางโกดังหายไป และข้าวเสื่อมสภาพ อาจถูกกดราคาหรือไม่มีใครสนใจประมูล

ปัญหาโครงการนี้สะท้อนได้จากผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เพราะผ่านเข้าสู่ฤดูผลิตปีที่ 3 แล้ว แต่ยังไม่มีการ"ปิดบัญชี"

ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่มีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีบัญชีใน 3 ฤดูกาลผลิต นับตั้งแต่ฤดูการผลิต 2554/55 โดยตัวเลขสินค้าคงเหลือในสต็อกของรัฐบาล ณ เดือน พ.ค. 2556 มีข้าวสารในสต็อกรวม 13 ล้านตัน

ในปีที่แล้ว ที่รัฐบาลได้ประกาศตรวจสอบสต็อกข้าวของรัฐบาลพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งก่อนตรวจสอบทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และ องค์การคลังสินค้า (อคส.)ได้แจ้งว่ายังมีข้าวสารที่ยังไม่ลงบัญชีอีก 2.98 ล้านตัน

ดังนั้น เมื่อมีการตรวจนับปริมาณข้าวในสต็อกปริมาณข้าวที่นับได้จะต้องมีมากกว่าที่บันทึกไว้ในบัญชี 2.98 ล้านตัน แต่ในทางตรงกันข้าม หลังจากตรวจสอบทั่วประเทศในครั้งนั้น กลับพบว่า มีปริมาณข้าว ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในบัญชี 1.5 ล้านตัน

"เมื่อรวมปริมาณข้าว ที่ระบุว่าไม่ได้ลงบัญชี แต่กลับหาไม่พบ 2.98 ล้านตัน กับตัวเลขข้าวที่มีอยู่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในบัญชี 1.5 ล้านตัน เท่ากับว่า มีปริมาณข้าวหายไปจากสต็อกประมาณ 4.5 ล้านตัน ซึ่งจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีการชี้แจง หรือ สืบสวนหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้"

ถือเป็นภาวะ"กลืนไม่เข้า คลายไม่ออก"ของรัฐบาล แต่ที่ทำได้ขณะนี้คือการซื้อเวลาออกไปให้ยาวนานที่สุด


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ตกหน้าผา จำนำข้าว รัฐบาลแค่ซื้อเวลา

view