สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขปมปริศนาจากซากกระทิง

ไขปมปริศนาจากซาก"กระทิง"

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




กรณีการตายของ"กระทิง" ทั้ง 18 ตัว ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่า บริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยังคงเป็นปริศนา ท่ามกลางข้อสงสัยถึงความผิดปกติ ว่าอะไรคือสาเหตุการตายที่แท้จริง

แม้ว่าก่อนหน้านี้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาตั้งประเด็นสืบสวนสอบสวนไว้เพียงสองประเด็น คือกระทิงตายจากสารพิษ และตายจากโรคระบาด

แต่ทว่าประเด็นความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่อุทยานในพื้นที่ ก็เป็นอีกหนึ่งปมปัญหาที่ถูกนำมาเชื่อมโยง กับการตายของกระทิงฝูงนี้ด้วยเช่นกัน รวมทั้งข้อสันนิษฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการล่าสัตว์ป่าเพื่อนำอวัยวะไปขาย หรือแม้ข้อสงสัยว่าฝูงกระทิงอาจเข้าไปบุกรุกพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน

ทั้งนี้ การชันสูตรเพื่อไขปมการตายของกระทิงกุยบุรี ทั้ง 18 ซาก เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยทีมสัตวแพทย์อย่างน้อย 30 ราย นำโดย ดร. วงศ์อนันต์ ณ ราชวาณิชการ จากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ เข้าไปยังพื้นที่เกิดเหตุ เผยข้อมูลชันสูตรเบื้องต้น ไม่พบว่ากระทิงเหล่านี้ แสดงอาการดิ้นทุรนทุราย แม้ว่าซากนั้นจะเน่าหมดเพราะตายมาแล้วร่วมเดือนก็ตาม แต่ลักษณะว่ากระทิงพวกนี้ เหมือนเดินๆ ไปแล้วก็ทรุดลง และขาดใจตายทันทีแบบเฉียบพลัน นี่จึงเป็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น

เจ้าหน้าที่พิสูจน์ซากสัตว์ป่า ยอมรับว่าไม่เคยพบการตายที่ผิดปกติถึง 18 ตัวแบบนี้มาก่อน ดังนั้นจึงต้องหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ถึงสาเหตุที่แท้จริง

ขณะที่นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาให้ข้อมูลล่าสุดว่า ประเด็นการสอบสวนมีความคืบหน้าไปมาก และพบสัญญาณที่ดี หลังพบกระทิงจำนวนหนึ่งยังอยู่ในสภาพปกติ เริ่มออกมาหากิน จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตาม และสกัดไม่ให้เข้าไปใกล้บริเวณที่พบซากกระทิงตาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย จนกว่าผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการจะออกมาชัดเจน ซึ่งคาดว่าสรุปได้ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่ รองอธิบดีกรมอุทยาน ชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงข่าวลือที่ไม่มีผู้ยืนยันข้อมูลชัดเจน และเห็นว่าผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวพาทัวร์ชมสัตว์กุยบุรี ก็ไม่ต่างจากอุทยานแห่งอื่น

ขณะเดียวกันข้อมูลทางวิชาการของทีมสัตวแพทย์ระบุว่า หากการตายของกระทิงเกิดจากโรคระบาด เช่น โรคคอบวม หรือแอนแทร็กก็ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากโรคนี้ได้หายไปจากบ้านเราไปนานแล้ว และกรมปศุสัตว์ ก็เข้าไปฉีดยาโรคระบาดอยู่ประจำ และไม่พบอาการของโรคที่จะต้องมีเลือดออกตามทวาร ที่สำคัญถ้าเกิดจากสารพิษซากกระทิงจะต้องมีจ้ำเลือดตามอวัยวะข้างใน และตกค้างในกระเพาะอาหาร จึงพิสูจน์ชนิดของสารพิษได้ชัดเจน แต่ขณะนี้กระบวนการพิสูจน์ยังไม่ยืนยัน

โดยทุกข้อสันนิษฐานที่เกิดขึ้นยังคงต้องรอคำตอบต่อไป จนกว่าผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการเท่านั้น...


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ไขปมปริศนา ซากกระทิง

view