สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดใจประธานมูลนิธิสืบฯ หรืออีก1ชีวิตต้องยอมตาย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

388 กิโลเมตร จากเมืองหลวงอันศิวิไลซ์ ห่างออกไปในผืนป่าตะวันตก ที่แห่งนั้นกำลังเจิ่งนองด้วยน้ำตา

เป็นน้ำตาของสัตว์ป่า ท่วมท้นด้วยมิอาจแข็งขืนต่อชะตากรรมตัวมันเองได้

“เขื่อนแม่วงก์” กำลังเข้ามา ปราการหินสูง 57 เมตร กว้าง 10 เมตร ยาว 730 เมตร แผ่เงาทะมึนปกคลุมความหวังจนมืดบอด กัดกร่อนความรู้สึกของ|นักอนุรักษ์หลายคนจนสั่นคลอน

ใช่เพียงทอดตัวพาดผ่านลำน้ำแม่วงก์ แต่มันยังลุเข้ากางกั้นสายธารอนุรักษ์จนเหือดแห้ง ... 1 ชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร กับระยะเวลาต่อสู้ 23 ปี อาจไม่เพียงพอ

“หรือจำเป็นต้องมีอีกหนึ่งชีวิต” รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในวัย 82 ปี เปรยขึ้นอย่างเหนื่อยล้า แต่อัดแน่นด้วยความเด็ดเดี่ยว นี่จึงไม่ใช่คำพูดเพียงเพื่อตัดพ้อ หากแต่เปี่ยมล้นด้วยความน่าจะเป็น

“มันเพิ่งจะจบงานวันคุณสืบไป คือ คืนวันที่ 31 ส.ค. เป็นวันที่เราไปจุดเทียนคุยกับคุณสืบ ไปขอกำลังใจจากคุณสืบ ซึ่งปีนี้มีคนมามากกว่าทุกปี มากันถึง 200-300 คน ทำให้เราเห็นว่ายังมีคนสนใจความคิดคุณสืบ ยังต้องการรักษาเจตนารมณ์ของคุณสืบ พร้อมจะรักษาสิ่งที่คุณสืบรัก”

“พอวันที่ 1 ก.ย. ก็เป็นวันเสียชีวิตของคุณสืบ เราก็จัดงานกันทุกปี แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 8 วัน คือ ในวันที่ 9 ก.ย. คณะกรรมการชำนาญการกลับจะพิจารณารายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) นั่นหมายความว่าป่าจะพังแล้ว อาจารย์ก็เครียดมากนะ”

“นั่นเพราะป่าแม่วงก์กับห้วยขาแข้งเป็นป่าเดียวกัน มันแบ่งกันไม่ออก และ 23 ปีของการเสียชีวิตของคุณสืบ ทำให้เราเรียนรู้ว่าจะรักษาป่าอย่างไร กว่าที่แม่วงก์จะมีเสือ 11-12 ตัว เฉพาะที่ถ่ายรูปมาได้ และที่ถ่ายรูปไม่ได้อีกไม่รู้เท่าไร มันต้องใช้หัวใจของคนเป็น 1,000 ดวง แล้วอยู่ดีๆ รัฐบาลจะมาทำแบบนี้”

“เท่ากับความตายของคุณสืบกลายเป็นความสูญเปล่า ... หรือจำเป็นต้องมีอีก 1 ชีวิต เพื่อให้ 23 ปีหลังจากนี้ดีขึ้น”

อาจารย์รตยา ยอมรับว่า ขณะนั้นมีการคุยกันว่าเที่ยวนี้คงจะหยุดไม่อยู่ นั่นเพราะได้ใช้ทุกช่องทางแล้ว ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีก็แล้ว ทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกไม่ต่ำกว่า 4 ฉบับ โดยได้อธิบายว่าผืนป่าตะวันตกมีความสำคัญต่อคนไทย มีระบบนิเวศ ที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น สร้างขึ้นอีกไม่ได้ แต่โครงการก็ยังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ

แม้กระทั่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นกลไกที่น่าจะฝากความหวังไว้ได้ กลับยังบอกว่ามีหน้าที่เพียงรวบรวมความเห็นจากทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็น ด้วย เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีอนุมัติ แต่รัฐมนตรีเคยอนุมัติไปแล้ว ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2555 ดังนั้นเท่ากับว่ากลไกนี้ชำรุด ไม่มีประโยชน์ ใช้อะไรไม่ได้

จึงนำมาสู่การเคลื่อนไหว

“อาจารย์ศศิน (เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ) แกบอกว่าที่ผ่านมาใช้สมองมาเยอะแล้ว ถึงเวลาต้องใช้ตีนบ้าง ท่านจึงตัดสินใจออกเดิน ซึ่งอาจารย์ก็เห็นด้วย และขอบคุณอาจารย์ศศินที่จะเดินให้ เพราะอาจารย์เองเดินไม่ไหวแล้ว อายุมากเกินกว่าจะมาทำเรื่องแบบนี้”

แนวทางการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นไปโดยพลการ แต่มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสืบฯ โดยที่ประชุมเห็นตรงกันว่าตลอดระยะเวลา 1-2 ปีที่ทำงานมากลับยังไม่ได้ผล คือ รายงานก็ยังไม่มีความสมบูรณ์ทั้งเรื่องเศรษฐศาสตร์ เรื่องระบบนิเวศ

ที่ประชุมจึงมีมติเห็นด้วยว่าจะเคลื่อนไหว จากนั้นได้ประสานต่อไปยังเครือข่ายอนุรักษ์เพื่อหารือทิศทางร่วมกัน โดยที่ประชุมใหญ่ตกลงกันว่าจะ “เดิน”

“ทีนี้ก็มาดูว่าจะเดินกันอย่างไร เดิมทีเราจะเดินจากเมืองไปหาป่า แต่ที่ประชุมแย้งว่าเดินจากป่ากลับมาหาเมืองจะได้ผลกว่า เพราะคนจะค่อยๆ รับรู้ หรือถ้าอยากเข้าร่วมก็ง่าย จากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ ก็แบ่งงานกัน ใครจะเดินตอนไหน เส้นทางจากไหนถึงไหน จะไปพักที่ไหน กินอะไร วางมาตรการรักษาความปลอดภัย”

ศศิน ออกเดินก้าวที่ 1

“จะใช้คำว่าดีใจก็ยังน้อยไป รู้สึกประทับใจว่าคนหลายระดับ หลายอาชีพ หลายอายุ ก็มีใจตรงกันว่าต้องการรักษาผืนป่า สัตว์ป่า แล้วก็มากันด้วยใจ”อาจารย์รตยา ยิ้มด้วยสายตา ในวันที่ ศศิน นำพาจิตวิญญาณอนุรักษ์ลุกโชนทั่วประเทศ

“ผมมาถึงที่นี่ได้เพราะอาจารย์รตยา ผมเพียงแค่มาเดินแทนอาจารย์รตยา ท่านอายุ 80 กว่าแล้ว คงเดินไม่ไหว แต่ท่านก็มาร่วมเดินกับผมร่วม 20 กิโลเมตร”คือถ้อยความแรกๆ ที่ ศศิน กล่าวบนเวทีหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางเสียงปรบมือและกู่ร้องต้อนรับอย่างเนืองแน่น

EHIAคืออะไร?

EHIA มาจากคำว่า Environmental Health Impact Assessment |หมายถึง กระบวนการที่ใช้เพื่อคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากแผนงานหรือโครงการ ที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และการกระจายของผลกระทบในกลุ่มประชากร และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จะกำหนดถึงกิจกรรมที่เหมาะสมในการจัดการผลกระทบเหล่านั้น

EHIA เป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดว่า โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ ประชาชนในชุมชน จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เปิดใจประธานมูลนิธิสืบฯ อีก1ชีวิต ต้องยอมตาย

view