สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฝ่ากฎจราจร ครึ่งปีเฉียดล้าน เปิดสถิติ นครบาล-ทางหลวง จอดเส้นแดง-ขับเร็ว แชมป์ใบสั่ง

จากประชาชาติธุรกิจ

องบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เก็บสถิติการฝ่าฝืนกฎและผิดวินัยจราจรในกรุงเทพฯ ปี 2556 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงปัจจุบัน มีตัวเลขที่น่าตกตะลึง

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย
ผบก.จร. เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จับกุมคดีความผิดฐานจอดรถในที่ห้ามจอดมากที่สุด 217,967 ราย รองลงมาเป็นขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย 64,528 ราย ใช้รถส่วนประกอบไม่ครบถ้วนอันอาจเกิดอุบัติเหตุและอันตรายแก่ผู้อื่น 60,714 ราย ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับขี่หรือไม่สามารถแสดงได้ทันที 44,697 ราย



"ฝ่าฝืนสัญญาณหรือเครื่องหมายจราจร 43,939 ราย รถประจำทางเดินรถไม่ใช้ช่องทางด้านซ้าย/จอดกีดขวางจราจร 37,728 ราย จอดรถกีดขวางจราจร 34,891 ราย เลี้ยวหรือกลับรถในที่ห้าม 33,863 ราย ขี่รถจักรยานยนต์คนซ้อนไม่สวมหมวกเพื่อป้องกันอันตราย 33,775 ราย เดินรถในเวลาห้าม 24,390 ราย จอดรถบนทางเท้า 23,514 ราย ขับรถย้อนศร 22,477 ราย ฝ่าไฟแดง 19,066 ราย ขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด 14,827 ราย และแซงในที่คับขัน 14,549 ราย" ผบก.จร.เผยสถิติใบสั่งจราจร รวมยอดจับกุมฝ่าฝืนกฎจราจรสูงถึง 690,925 ครั้ง

ผบก.จร.บอกด้วยว่า สาเหตุการกระทำผิดกฎและวินัยจราจร ไม่ได้ขึ้นกับโครงการรถคันแรก เพราะสถิติการกระทำผิดปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน หากแต่สาเหตุที่ถูกจับกุมคือการไม่มีวินัยและไม่เคารพกฎจราจรของผู้ขับขี่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องกวดขันจับกุม โดย พล.ต.ต.อุทัยวรรณ แก้วสอาด รอง ผบช.น. ดูแลงานจราจร กำชับให้กวดขันข้อหาที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ

ส่วนปัญหารถติดใน กทม.โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนนั้น ผบก.จร.กล่าวว่า ตำรวจพยายามกวดขันอย่างเต็มที่ เพื่อให้การจราจรไหลลื่น เช่น กำลังแก้ปัญหารถติดบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการประชุมร่วมกับหลายฝ่าย ทั้งกระทรวงคมนาคม ขสมก. กทม. โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รถติดเนื่องจากหาบเร่แผงลอย รถตู้จอดเกะกะไม่เป็นระเบียบ ส่วนอีกเส้นทางที่กำลังแก้ไขคือ ถนนพหลโยธิน ย่านสะพานควาย จะจัดระเบียบการจอดรถตู้ไม่ให้กีดขวางการจราจร อย่างรถที่จอดรอรับผู้โดยสารที่ลงมาจากรถไฟฟ้า จะผลักดันให้ไปวนรถ ไม่ให้จอดแช่นานๆ 5-15 นาที เหมือนแต่ก่อน

"แม้ตำรวจจราจรจะน้อย มีไม่มากเท่าปริมาณรถ แต่ได้เพิ่มจำนวนผลัดในชั่วโมงเร่งด่วนทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลจะดึงภาพจากกล้องวงจรปิดตามเส้นทางในต่างจังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ อาทิ สายนครสวรรค์ สีคิ้ว-กลางดง ทำให้คาดคะเนได้ว่ารถจะมาถึงกรุงเทพฯเมื่อใด รวมทั้งจะได้เห็นปริมาณรถที่จะเข้ากรุงเทพฯ เมื่อเข้าเขตกรุงเทพฯสามารถรับมือได้ทันที ทำให้การจราจรไม่ติดขัดมากขึ้น" ผบก.จร.กล่าว

ส่วนปัญหาฝนตกน้ำท่วมขังในช่วงหน้าฝน ผบก.จร.กล่าวว่า บก.จร.ประสาน กทม. ในการดูแลถนนจุดน้ำท่วมขังที่อาจมีรถเสีย ตนมีหมายเลขโทรศัพท์ ผอ.เขตทุกเขต หากตำรวจผู้ปฏิบัติประสานแล้วไม่ได้ผล ตนจะโทร.หา ผอ.เขตเพื่อประสานงานตรง เป็นไปตามนโยบาย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ให้ทำงานแบบ "เกาะบนติดล่าง" คือ ระดับล่าง ต้องทราบว่าใครถือกุญแจเครื่องสูบน้ำ หากเริ่มเอ่อต้องรีบระบาย แต่หากผู้ถือกุญแจติดต่อไม่ได้ ตนจะประสาน ผอ.เขต ระดับบนต่อไป

เหล่านี้เป็นปัญหาการจราจรใน กทม.

ส่วนปัญหาการฝ่าฝืนกฎจราจรตามถนนหลวงในต่างจังหวัด สภาพปัญหาแตกต่างกันไป ผู้ขับขี่มักใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และขับรถประมาทเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

โศกนาฏกรรมล่าสุด รถบรรทุกพ่วง 22 ล้อ พุ่งข้ามเกาะกลางถนน ชนประสานงารถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น ของ บ.ข.ส.สายร้อยเอ็ด-กรุงเทพฯ บนถนนมิตรภาพ ระหว่างกิโลเมตรที่ 119-120 ทางลงเนินทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จนเพลิงลุกไหม้คลอกผู้โดยสาร 19 ราย เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บถึง 21 ราย สาเหตุมาจากโชเฟอร์รถพ่วงหลับใน เมื่อเช้ามืดวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา

พล.ต.ต.พงษ์สิทธิ์ แสงเพชร
ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา บก.ทล.มีมาตรการป้องกันและปราบปราม ใช้กล้องตรวจจับความเร็วอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2556 ถึงปัจจุบันมีสถิติจับกุมข้อหาขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 214,812 ราย เฉลี่ยแต่ละเดือนมีผลจับกุมกว่า 30,000 ราย แต่โทษขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด เป็นเพียงโทษปรับ 1,000 บาท ตาม พ.ร.บ.จราจร กรณีขับรถประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ถ้าบาดเจ็บสาหัสโทษจำคุกจะหนักขึ้น และถ้าขับรถประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี

"อย่างกรณีรถพ่วงชนรถทัวร์ที่ จ.สระบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 19 ราย แม้ว่ากรณีนี้โชเฟอร์รถพ่วงจะหลับในพุ่งชนรถทัวร์ อย่างไรก็ตาม การให้รถทัวร์ที่วิ่งระยะไกลหยุดพักรถระหว่างทางก็มีความจำเป็น ซึ่งตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก กำหนดให้รถทัวร์ที่วิ่งระยะไกล หยุดพักรถทุกๆ ระยะทาง 400 กิโลเมตร เป็นเวลา 30 นาที เพื่อให้คนขับรถได้ผ่อนคลาย โดยตำรวจทางหลวงมีจุดพักรถตามด่านทางหลวงใหญ่ๆ เพื่อให้จอดรถพักผ่อน ป้องกันการหลับใน ทั้งนี้ การกำหนดจุดพักรถ เป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกกำหนดว่าจะมีจุดพักรถที่ใดบ้างและทุกๆ ระยะทางกี่กิโลเมตร เห็นว่าต้องออกมาตรการให้เข้มงวดมากกว่านี้" ผบก.ทล.กล่าว

เหล่านี้เป็นมาตรการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อลดตัวเลขการฝ่าฝืนกฎจราจร และลดยอดเจ็บตาย หากแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ขับขี่ ที่ต้องไม่ประมาทและมีวินัยจราจรด้วย!!




ที่มา นสพ.มติชน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,อะไหล่ victorinox,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit

Tags : ฝ่ากฎจราจร ครึ่งปี เฉียดล้าน เปิดสถิติ นครบาล ทางหลวง จอดเส้นแดง ขับเร็ว แชมป์ใบสั่ง

view