สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ณ น่าน ที่ เวียงสา ...ใส่บาตรเทียน(หนึ่งเดียวในโลก) ดังแล้วอย่าให้เพี้ยน/ปิ่น บุตรี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
วัดบุญยืน วัดคู่บ้านคู่เมืองเวียงสา
       สมัยก่อน ก่อนที่จะมีเครื่องบินบินไปลงน่าน เส้นทางหลักที่ไปน่านคือถนนหมายเลข 101 (กำแพงเพชร-น่าน) ที่จากแพร่ต้องผ่าน อ.เวียงสา(จ.น่าน)ก่อนจึงจะถึงยังตัวเมืองน่าน
       
       ทำให้เวียงสาได้รับฉายาว่าประตูสู่น่าน ดังมีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ประตูสู่น่าน ตำนานชนตองเหลือง เมืองเจ็ดสายน้ำ งามล้ำวัดบุญยืน เริงรื่นแข่งเรือออกพรรษา บูชาพระธาตุจอมแจ้ง”
       
       คำขวัญนี้แต่งโดยคุณครู“สุรนันท์ ลิ้มมณี” แห่งโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์น่าน ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดคำขวัญอำเภอเวียงสาในปี 2548
เฮือนรถถีบแหล่งรวมรถจักรยานเก่าแก่ หายาก
       แอ่วเวียงสา
       
       ย้อนอดีตเมื่อ 4 ปีก่อน...
       
       ผมไปแอ่วเวียงสาประตูสู่น่านเป็นครั้งแรก แล้วประทับใจในความเรียบง่ายแต่แฝงเสน่ห์ของอำเภอเล็กๆแห่งนี้ ที่ถือว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การขี่จักรยานเที่ยวแบบเรื่อยๆ ชิลล์ๆ ปั่นชมบ้านชมเมือง ชมวิถีชีวิต ทั้งในเวียง ท้องทุ่ง สวน และบรรยากาศริมน้ำ
       
       สำหรับใครที่หลงใหลในจักรยานเมื่อมาที่นี่ไม่ควรพลาด “เฮือนรถถีบ” ของ “ลุงสุพจน์ เต็งไตรรัตน์” ที่ตั้งอยู่ภายในปั๊มกลางเวียง
คนรักจักรยานเมื่อมาเวียงสาไม่ควรพลาดเฮือนรถถีบด้วยประการทั้งปวง
       เฮือนรถถีบเป็นแหล่งรวมรถจักรยานคลาสสิก เก่าแก่ หายาก มากหลาย อาทิ จักรยานเก่าแบบพับเก็บได้ และจักรยานเก่าจากยุโรปหลากหลายยี่ห้อ เช่น ราเลย์ กาเซีย โบบินฮูด ฟิลิปส์ นิวฮัทสัน จักรจานเก่าแบบชนิดจุดไฟที่หัวด้วยเทียน(ตะเกียง) รวมถึงจักรยานล้อโต 2 คัน ที่ซื้อมาจากพิพิธภัณฑ์เยอรมันซึ่งในเมืองไทยมีเพียงที่นี่ที่เดียว
ด้วยใจรักจึงมีวันนี้ของเฮือนรถถีบ
       แรกเริ่มที่เปิดเฮือนรถถีบนั้นคนเวียงสาหลายคนยังไม่รู้จัก แต่ตอนหลังเริ่มมีชื่อเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย พวกนักปั่นมีการแชร์ข้อมูลแชร์ภาพกันมาก เฮือนรถถีบจึงกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวชั้นดีอีกแห่งหนึ่งของ เมืองเวียงสาไป
ที่ว่าการอำเภอเวียงสา
       ไม่ไกลจากเฮือนรถถีบเป็นใจกลางเมือง(กลางเวียง) ด้านหนึ่งเป็นที่ว่าการอำเภอที่ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้นทรงคลาสสิกสวยงามสมส่วนมีหน้ามุขยื่นออกมาดูโดดเด่น ซึ่งในหลวงและพระราชินีเคยเสด็จมาประทับ และโปรดเกล้าให้พสกนิกรเข้าเฝ้าฯ ณ มุขหน้าชั้น 2 ในวันที่ 16 มี.ค.2501 ยังความปลาบปลื้มปีติแก่ชาวเวียงสานับจากยุคนั้นมาถึงยุคนี้
พระพุทธรูปยืน วัดบุญยืน
       ข้ามไปอีกฟากหนึ่งของที่ว่าการอำเภอเป็น “วัดบุญยืน” วัดคู่บ้านคู่เมืองเก่าแก่ อายุกว่า 200 ปี ภายในวัดมีไฮไลท์อยู่ที่โบสถ์ทรงล้านนาอิทธิพลสุโขทัย ประตูโบสถ์เป็นไม้แกะสลักรูปเทวดาและลวดลายพรรณพฤกษาอย่างอ่อนช้อยประณีต ในโบสถ์มีพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกเป็นพระประธาน มีเสาโบสถ์ขนาดใหญ่ส่วนล่างเป็นปูนนำสายตาเข้าไปดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธายิ่ง นัก
โบสถ์วัดบุญยืน หลังการบูรณะใหม่
       วัดบุญยืนเพิ่งได้รับการบูรณะไปเมื่อไม่นาน พร้อมกับเป็นข่าวดังเมื่อ กรมศิลปากรได้มาบูรณะวัดแห่งนี้แล้วดันทาสีทับภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเก่า ฝีมือช่างพื้นบ้านโบราณไป สร้างความไม่พอใจให้กับชาวชุมชนอย่างมาก ก่อนที่จะสามารถเคลียร์ปัญหากันได้ในภายหลัง
       
       นี่ถือเป็นลักษณะเฉพาะตัวของกรมศิลป์ที่เวลาบูรณะอะไรมักมีปัญหากับชุมชนท้องถิ่นอยู่บ่อยครั้ง
       ใส่บาตรเทียน(หนึ่งเดียวในโลก)
       
       เรื่องโปรโมทการท่องเที่ยวที่เป็นที่สุดในโลก หนึ่งเดียวในโลก บ้านเราถนัดนัก สำหรับที่ วัดบุญยืน อ.เวียงสาก็มีประเพณีทางจังหวัดและททท. เคยชูว่ามีหนึ่งเดียวในโลก ก่อนจะลดสเกลลงมาเป็นหนึ่งเดียวในเมืองไทย คือ “ประเพณีใส่บาตรเทียนที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 10 เหนือ) หรือที่คิดง่ายๆว่าหลังวันเข้าพรรษา 1 วัน
       
       ประเพณีนี้จะมีหนึ่งเดียวในโลกตามคำโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือเปล่าผม ไม่อาจทราบได้ แต่ที่ทราบคือ ประเพณีใส่บาตรเทียนเป็นหนึ่งในประเพณีน่าสนใจของช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่โดด เด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
       ภายในงานจะได้เห็นชาวเวียงสาตั้งแต่ผู้พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ชาย-หญิง รุ่นกลางคน วัยรุ่นหนุ่ม-สาว มาจนถึงละอ่อน เด็กน้อย มารวมตัวกันทำบุญด้วยใบหน้าอิ่มเอิบยิ้มแย้มแจ่มใส เปี่ยมไปด้วยศรัทธา บางคนแม้ไปทำงานต่างถิ่นไกลๆ แต่ก็ยังกลับมาร่วมงานนี้ควบคู่ไปกับการเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอน
       
       ประเพณีใส่บาตรเทียนหรือตักบาตรเทียน(แล้วแต่จะเรียก ปีที่แล้วใช้ชื่อตักบาตรเทียนมาปีนี้ใช้ชื่อใส่บาตรเทียน เล่นเอาผมงง!!!เหมือนกัน) ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มขึ้นในราวปี พ.ศ. 2344 หลังเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 55 ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สร้าง“วัดบุญยืน”ได้ 1 ปี (วัดบุญยืนสร้างเมื่อ พ.ศ. 2343)
ประเพณีใส่บาตรเทียน อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชาวเวียงสา
       ในอดีตในยุคไม่มีไฟฟ้าใช้ ประเพณีนี้จัดขึ้นเพื่อถวายเทียนแด่พระภิกษุ สามเณร เพื่อให้ได้มีแสงสว่างไว้ปฏิบัติศาสนกิจและศึกษาพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน สอดคล้องกับพุทธบัญญัติที่ให้ญาติโยมได้ถวายเทียนให้กับพระภิกษุ สามเณร อีกทั้งยังเป็นพิธีสูมาคารวะหรือพิธีขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระชั้นผู้ใหญ่
       
       สำหรับกิจกรรมในประเพณีใส่บาตรเทียน(ปีนี้ตรงกับวันที่ 24 ก.ค. 56)แบ่งเป็น 2 ช่วง ภาคเช้า เริ่มประมาณ 09.00 น. พระภิกษุสามเณรในอำเภอเวียงสา และคณะศรัทธาสาธุชน จะเตรียมเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อยหรือน้ำอบน้ำหอม และเตรียมสำรับกับข้าวใส่ปิ่นโตไปด้วย เพื่อเตรียมถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรที่มาร่วมพิธี
แรงศรัทธาจากมหาชน
       ส่วนภาคบ่าย เริ่มเวลา 13.00 น. เป็นพิธีการใส่บาตรเทียน ซึ่งพระภิกษุสามเณรจะเตรียมบาตร และผ้าอาบน้ำฝนหรือผ้าสบงไว้ปูบนโต๊ะ และตั้งบาตรบนผ้าอาบน้ำฝน จากนั้นพระ-เณรจะเดินนำใส่บาตรเทียน แล้วตามด้วยสาธุชนที่จะพากันนำเทียน ดอกไม้ มาใส่ในบาตร พร้อมวางผ้าอาบน้ำฝนไว้ ครั้นเมื่อเสร็จสิ้นพิธีก็จะกลับเข้าไปภายในอุโบสถอีกครั้ง เพื่อทำพิธีสูมาคารวะแก่พระแก้ว 5 โกฐากส์ ได้แก่ พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ร่วมด้วย พระกรรมฐาน และพระอาจารย์ผู้สอนกรรมฐาน รวมถึงการขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้มีอายุพรรษามากกาล ตามลำดับ
พระ-เณร นำใส่บาตรเทียน แล้วตามด้วยสาธุชน
       จากนั้นพระภิกษุและสามเณรจะแบ่งเทียนและดอกไม้ห่อด้วยผ้าสบงนำกลับ วัดของตนเอง เพื่อนำไปจุดบูชาพระรัตนตรัยหรือเก็บไว้เป็นมงคล ถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
       
       มูลค่า-คุณค่า
       
       มาวันนี้แม้โลกจะเปลี่ยนไป วัดต่างๆหันมาใช้ไฟฟ้ากันนานแล้ว แต่บ้านเราตามท้องถิ่นต่างๆก็ยังอนุรักษ์ประเพณีแห่เทียนในช่วงเข้าพรรษาไว้ เช่นเดียวกับที่เวียงสาก็ยังคงอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้
พระชั้นผู้น้อย ขอขมาพระชั้นผู้ใหญ่
       อย่างไรก็ดีในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทางจังหวัดน่านและททท.ได้ส่งเสริมและโปรโมทประเพณีใส่บาตรเทียนให้เป็นที่ รู้จักอย่างกว้างขวาง(โดยพ่วงจุดขายความเป็นหนึ่งเดียวในโลกและในไทยลงไปตาม สไตล์) เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสกับประเพณีอันทรงเสน่ห์นี้ พร้อมทั้งมีการจัดพาคณะทัวร์ไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของงาน ซึ่งด้านหนึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ การส่งเสริมให้ชุมชนเห็นความสำคัญของประเพณีอันดีงาม มีการสืบสาน การอนุรักษ์ และการต่อยอด
       
       แต่มันก็มีอีกด้านหนึ่งที่ผมอดเป็นห่วงไม่ได้(และขอพูดซ้ำเหมือนปี ที่แล้ว) นั่นก็คือ ภาครัฐต้องไม่เข้าไปปรุงแต่ง สร้างภาพ โหมโปรโมท มุ่งแปลงประเพณีใส่บาตรเทียนให้เป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวอย่างเกินงาม หากแต่ควรมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมอันดีงาม และความศรัทธาที่ชาวชุมชนทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ปล่อยให้ประเพณีดำเนินไปตามวิถีแห่งศรัทธาของชาวบ้าน
เทียนแห่งศรัทธา
       เพราะที่ผ่านมาเรามีตัวอย่างมานักต่อนักแล้วว่า งานประเพณีอันดีงามเป็นเอกลักษณ์จำนวนมาก เมื่อเข้าสู่กระบวนการโปรโมท กระบวนการขายเพื่อการท่องเที่ยว ภาครัฐเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการ นำความคิดตนไปจับยัด ส่งผลให้งานประเพณีดีงามเหล่านั้นผิดเพี้ยนไปจากเดิม
       
       นั่นถึงแม้ว่าเราจะได้สิ่งที่เป็นมูลค่าคือจำนวนนักท่อง เที่ยว เม็ดเงิน รายได้ มาเป็นจำนวนมาก แต่มันเทียบไม่ได้กับคุณค่าและสิ่งดีๆงามๆอันเป็นเอกลักษณ์ที่ต้องสูญเสียไป
       
       ***********************************************************
       
       งานใส่บาตรเทียน วัดบุญยืน ต.กลางเวียง อ.เวียงสา ปีนี้ จัดขึ้นในวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2556 ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ททท.สำนักงานแพร่(รับผิดชอบพื้นที่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทร. 0-5452-1127
       
       ส่วนเฮือนรถถีบ เปิดทุกวันเวลา 14.00-16.30 น. วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิด เวลา 9.00-11.00 น. และ 14.00-16.30 น.

ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ณ น่าน เวียงสา ใส่บาตรเทียน หนึ่งเดียวในโลก ดังแล้ว อย่าให้เพี้ยน ปิ่น บุตรี

view