มาตรการในทางกฎหมายกับการแก้ไขปัญหาสัตว์เลี้ยงจรจัด
โดย : ยศพล ศุภวิจิตรกุล
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ความพยายามในการแก้ไขปัญหาและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการคุกคาม ทรมาน และละทิ้งสัตว์เลี้ยง ได้รับการผลักดันโดยถูกนำเสนอเป็นร่างกฎหมาย
“ความยิ่งใหญ่และความเจริญในจริยธรรมและศีลธรรมของชาติหนึ่งชาติใดนั้น สามารถวัดได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกและการปฏิบัติต่อสัตว์ (The greatness of a nation and its moral progress can be judged by the way its animals are treated)” (มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi))
การให้ความคุ้มครองดูแลสัตว์ในประเทศไทย ในช่วงระยะเวลาก่อนปี พ.ศ. 2535 นั้น จะเป็นการให้ความคุ้มครองดูแลในลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศีลธรรม (Moral) เป็นส่วนใหญ่ เช่น การห้ามทารุณสัตว์ และการห้ามใช้แรงงานสัตว์เกินสมควร เป็นต้น ต่อมา ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2535 การให้ความคุ้มครอง ดูแลสัตว์ จะเป็นในลักษณะที่มนุษย์มีความเคารพต่อธรรมชาติมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการออกกฎเกณฑ์เพื่อรองรับแนวความคิดในการอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในธรรมชาติ เช่น การให้ความคุ้มครองแก่สัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองแก่สัตว์ป่าทุกประเภทตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ โดยไม่จำกัดถิ่นที่อยู่อาศัยหรือสถานที่หากินของสัตว์ เช่น สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่บนบก สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในน้ำ หรือสัตว์ป่าที่หากินอยู่กลางอากาศ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สาระสำคัญของกฎเกณฑ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นการให้ความคุ้มครองเฉพาะแก่สิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์ป่าเท่านั้น จึงทำให้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการคุกคาม ทรมาน และละทิ้งสัตว์เลี้ยงนั้น ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปในสังคมไทย
และระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ กล่าวคือ สัตว์เลี้ยงที่ถูกละทิ้งจนกลายเป็นสัตว์จรจัด นอกจากจะเป็นภาระในการเลี้ยงดูโดยภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว สัตว์จรจัดดังกล่าวยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิตของประชาชนภายในชาติได้ นอกจากนั้น การบริโภคเนื้อสัตว์เลี้ยงบางประเภท เช่น การบริโภคเนื้อสุนัขและเนื้อแมวในบางท้องถิ่นของประเทศไทย อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในการท่องเที่ยว ที่ต่างชาติอาจมองว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่โหดร้าย ป่าเถื่อน และด้อยพัฒนาทางจิตใจได้ เป็นต้น
ความพยายามในการแก้ไขปัญหาและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการคุกคาม ทรมาน และละทิ้งสัตว์เลี้ยง ได้รับการผลักดันโดยถูกนำเสนอเป็นร่างกฎหมายจากองค์กรต่างๆ หลายองค์กรทั้งที่เป็นองค์กรภาครัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ และองค์กรภาคเอกชนที่ไม่ได้แสดงหาผลกำไร เช่น สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (Thai Society for Prevention of Cruelty to Animals (TSPCA)) เป็นต้น โดยได้ร่วมมือกันร่าง “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ....” ขึ้น ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ถือว่าเป็นร่างกฎหมายเฉพาะฉบับแรกของประเทศไทยที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครอง ดูแล ป้องกันการทารุณทรมานและละทิ้งสัตว์เลี้ยง
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. .... ฉบับที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้ถูกนำเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว มีสาระสำคัญของบัญญัติ รวมทั้งสิ้น 7 หมวด 31 มาตรา โดยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อต้องการที่จะให้ความคุ้มครองดูแลสัตว์เลี้ยง ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีชีวิต ความรู้สึก และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญประเภทหนึ่งของสิ่งแวดล้อม (2) เพื่อคุ้มครองมิให้สัตว์เลี้ยงต้องถูกกระทำการทารุณกรรม (3) เพื่อคุ้มครองให้เจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้เพื่อการแสดง
การให้ความคุ้มครอง ดูแล และจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์ตามร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ เป็นการให้ความคุ้มครองดูแลเฉพาะแก่สัตว์เลี้ยงประเภทต่างๆ ดังนี้ (1) สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน (2) สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน (3) สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร (4) สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง (5) สัตว์เลี้ยงอื่น ซึ่งสัตว์เลี้ยงทุกประเภท จะได้รับความคุ้มครองดูแลโดยไม่จำกัดว่าสัตว์นั้น จะเป็นสัตว์ที่มีเจ้าของหรือไม่มีเจ้าของก็ตาม โดยตัวอย่างของการให้ความคุ้มครอง ดูแล และจัดสวัสดิภาพแก่สัตว์ ตามร่างพระราชบัญญัติฯ มีดังนี้
(1) การงดเว้นกระทำการหรือการกระทำการใด ๆ ที่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ และมีผลทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวด ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลให้สัตว์นั้นตาย ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (2) เจ้าของและผู้ครอบครองสัตว์ มีหน้าที่ต้องจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์ของตน โดยต้องทำการเลี้ยงหรือดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ (3) ในระหว่างการขนส่งสัตว์ หรือการนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง เจ้าของสัตว์ ผู้ครอบครองสัตว์ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์รายใด ไม่กระทำการเลี้ยง ดูแล หรือจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท (4) การปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท เว้นแต่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะนำสัตว์นั้นไปดูแลแทน เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าหากบทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ ผ่านการพิจารณาอนุมัติได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ก็จะเป็นบทบัญญัติในทางกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่มีสาระสำคัญโดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการให้ความคุ้มครอง ดูแล ป้องกันการทรมาน และจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว จะได้ให้ความคุ้มครอง ดูแล ป้องกันการทารุณกรรม และจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์เลี้ยงในลักษณะที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ปัญหาในทางปฏิบัติบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการควบคุม ดูแล และจำกัดจำนวนประชากรสัตว์เลี้ยงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมดูแลสุนัขจรจัด หรือแมวจรจัด อาจจะไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เพราะเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยง อาจทำการปล่อยหรือละทิ้งสัตว์เลี้ยงในสถานที่ที่ไม่มีบุคคลใดทราบได้ว่าสัตว์เลี้ยงดังกล่าวมีใครเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ดังนั้น การที่จะทราบได้ว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์เลี้ยง อาจเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติหากไม่ได้มีการบันทึกและจัดทำฐานข้อมูลเอาไว้อย่างเป็นระบบ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต