จากประชาชาติธุรกิจ
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเงียบ ๆ สำหรับโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังทั้ง 2 ปีติดต่อกัน ทว่าในความเป็นจริง การรับซื้อมันสำปะหลังในราคารับจำนำของรัฐบาล ปรากฏเรื่องอื้อฉาวไม่แพ้โครงการรับจำนำข้าว เพียงแต่โครงการนี้ใช้เงินน้อยกว่า แต่วิธีการรับจำนำ การส่งมันเข้าโกดังกลาง ตลอดจนการระบายมันสำปะหลังในสต๊อก ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถตอบคำถามแก่สาธารณชนได้
หากขุดคุ้ยเข้าไปดูในรายละเอียดก็จะพบวิธีแปลกพิสดารที่กระทรวง พาณิชย์นำมาใช้ อาทิ การขายมันเส้นแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ที่อ้างว่าขายให้กับรัฐบาลจีน ตลอดจนไม่ยอมเปิดประมูลขายมันในสต๊อกเป็นการทั่วไป จากกรณีความน่าสงสัยในพฤติกรรมข้างต้น "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์นายเสรี เด่นวรลักษณ์ นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย เพื่อหาคำตอบในมุมมองของผู้ค้าและส่งออกมันสำปะหลัง
- การส่งออกมันสำปะหลังปี 2556
ปี นี้การส่งออกมันสำปะหลังในด้านปริมาณจะใกล้เคียงกับปีก่อน คือประมาณ 7.9 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นมันเส้น 4.8 ล้านตัน, แป้งดิบ 2.25 ล้านตัน และแป้งแปรรูป 8.5 แสนตัน แต่ด้านมูลค่าจะได้ประมาณ 84,149 ล้านบาท หรือปรับลดลงจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 84,678 ล้านบาท เพราะมีปัจจัยเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
- แนวโน้มราคาปีนี้เทียบปีก่อน
ราคา ส่งออกมันสำปะหลังยังคงขึ้นอยู่กับราคาธัญพืชอื่น เช่น ข้าวโพด และข้าวสาลี ซึ่งปีก่อนข้าวสาลีแพง อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมที่มีภัยแล้ง ส่งผลให้ราคามันอัดเม็ดขยับขึ้นไปถึง 235 เหรียญ แต่ตอนนี้ราคาลงมาเหลือ 200 เหรียญ ทางภาคเอกชนก็อยากส่งออกมันไปสหภาพยุโรป เพื่อดึงราคาในส่วนที่ส่งออกไปตลาดจีนเพิ่มขึ้นด้วย สมาคมส่งความเห็นไปให้รัฐบาล แต่รัฐบาลไม่ปล่อยมันในสต๊อกออกมา เลยเสียโอกาสตรงนี้ไป ส่วนปีนี้ราคามันคงลดลง ทาง World Bank คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวโพด-ข้าวสาลีน่าจะดี ประกอบกับราคาที่ผ่านมาจูงใจให้มีการเพิ่มผลผลิต อาจจะทำให้ราคาธัญพืชปีนี้ลดลงประมาณ 10% การใช้ข้าวสาลีก็คงจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่กระทบมันสำปะหลังมากนัก เราขายไปจีนเป็นมันเส้นได้ในราคาประมาณ 240 เหรียญมาทดแทน
จริง ๆ แล้วราคามันในประเทศไม่ใช่ขึ้นอยู่กับราคามันเส้นจีน พื้นฐานมันต้องแข่งขันกับราคาข้าวโพด ข้าวสาลี ในอดีตสต๊อกเยอะ ผลผลิตมันเยอะ แต่หลังจากสหรัฐนำเอาข้าวโพดไปทำเอทานอล ของไม่มีล้น ก็มีคนเข้าไปซื้อ ไม่ต้องแทรกแซง ราคามันจึงไม่มีทางตกลงมาก
- ปัญหาการจำนำมันเหมือนข้าวไหม
ถ้า ไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวก มันสำปะหลังขายหมดอยู่แล้ว ต่อให้คุณภาพมีปัญหาบ้างก็ขายหมด แต่ที่ดึงกันไปดึงกันมาเป็นเพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัว แต่ไม่ได้ตกค้างเหมือนข้าว รูปแบบเดียวกันแต่ปัญหาไม่เหมือนกัน มันสำปะหลังถ้าบริหารดี ๆ ก็ชะลอได้
- การรับจำนำมันปีนี้ 2555/25556
ขณะ นี้มีมันสำปะหลังเข้าโครงการไปแล้ว 7 ล้านตันหัวมันสด ยังเหลือเวลาอีกไม่มากก็จะสิ้นสุดโครงการ ผมคิดว่าขณะนี้หัวมันสดแทบจะหมดแล้ว สรุปคงมีมันเข้าโครงการประมาณ 8-9 ล้านตัน ไม่ถึง 10 ล้านตันแน่ ทางกระทรวงพาณิชย์สามารถนำงบประมาณที่จะใช้จำนำมันไปใช้อย่างอื่นได้ ในปีนี้ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะต้องทบทวนโครงการรับจำนำมัน เพราะอันที่จริงโครงการนี้ก็ไม่ได้ผูกพันเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลใช้ในการหา เสียงเลือกตั้งเหมือนกับข้าวที่จะต้องรับจำนำทุกเม็ด อาจจะปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกการรับจำนำมันก็ได้
- ดูจากสภาพผลผลิตและตลาดแล้ว จำเป็นต้องจำนำมันหรือไม่
สมาคม บอกมาโดยตลอดว่า เราไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปิดรับจำนำมัน ถ้าจัดให้ชาวไร่กับโรงงานคุยกันซะว่าราคาหัวมันจะเป็นเท่าไหร่ เพราะถ้าต่ำกว่านั้นชาวไร่เขาก็ไม่ขุดมันขึ้นมาขาย แล้วตรงนั้นรัฐบาลค่อยเข้ามาดูแล ชาวไร่-โรงงานคุยกันปีละครั้งก็พอ
- เทียบราคาหัวมันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ไม่ มีโครงการจำนำ ราคาหัวมันก็ไม่ตก แต่ที่มันตกเพราะพอมีโครงการจำนำเข้ามา ทางโรงงานก็ปล่อยมันมาเข้าแถว ถ้าไม่เข้าโครงการก็รอต่อ พอรอนานเข้ามันก็เน่า ก็เข้าโครงการรับจำนำไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่รับมันเน่า และถ้าชาวไร่ไม่รอ โรงงาน-ลานมันก็มีอีกช่องทางหนึ่ง ดังนั้นการรับจำนำจึงเป็นการสร้างสถานการณ์ ถ้าไม่มีโครงการรับจำนำ ราคาหัวมันก็ไม่ตก
- หลังปิดโครงการจำนำ รัฐควรบริหารสต๊อกอย่างไร
พอ ปิดโครงการแล้วก็ขายได้ เอามันที่รับจำนำเข้ามาแบ่งเป็นลอตเล็ก ๆ ประมูลทุกสัปดาห์ ให้ทุกคนมีโอกาสประมูลเท่ากัน รัฐบาลก็จะได้ราคาสูงสุด ตลาดก็ปรับไป แต่หากประมูลแล้วได้ราคาต่ำ กระทรวงพาณิชย์ก็ยกเลิกได้แล้วเปิดประมูลใหม่ ๆ แต่ว่าการประมูลแบบนี้ ผมว่าคนที่เกี่ยวข้องไม่มีโอกาสได้ผลประโยชน์ เพราะมันโปร่งใสเกินไป ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมเปิดประมูลเลย
- สมาคมได้เน้นย้ำให้เปิดประมูลหรือไม่
ทาง สมาคมก็พูดอย่างนี้ทุกปี แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ว่าอะไร เราให้ความเห็นแล้ว ถ้าเขาไม่เลือก เขาก็ต้องอธิบายกับทุกคนได้ว่าทำไมไม่เอาอันนั้น แล้ววิธีที่รัฐบาลเลือกขายมันแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน มันดีกว่าการประมูลอย่างไร ที่ผ่านมาก็ไม่เคยอธิบายว่าทำไมคุณไม่เปิดประมูล เขาก็บอกว่า G to G สามารถขายได้ยกลอตแล้วดีกว่าอย่างไร หากต้องการขายยกลอต กลัวราคาตกหรือ คนฟังเข้าใจ ยอมรับได้หรือไม่เท่านั้นเอง
- ปีนี้ก็จะ G to G อีก หวั่นว่าปีนี้จะระบายเหมือนเดิมอีก
มัน เข้าระบบไปแล้ว ตามหลักการทำ G to G สมัยก่อน รัฐบาลก็จะตั้งคนมาทำงานแทนรัฐบาล คือ องค์การคลังสินค้า (อคส.) รัฐบาลผู้ซื้อก็ต้องตั้งองค์กรเข้ามาซื้อ อย่าง G to G ข้าว ฟิลิปปินส์มี NFA หรืออินโดนีเซียมีบลูล็อก รัฐบาลเขาตั้งให้มาซื้อขายแบบ G to G บางครั้งซื้อขายกันในราคามิตรภาพ แบบนี้คือ G to G แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ ก็อ้างว่าขายให้รัฐวิสาหกิจจีน มีเป็นพันเป็นหมื่นรัฐวิสาหกิจ ก็เขียนคำว่า G to G เข้าไป แต่ส่งจริง ๆ หรือให้ใครส่งไปไหน ไม่มีใครรู้
- ขาย G to G แล้ว เอกชนอยู่ได้อย่างไร
รัฐบาล ไม่ได้รับจำนำมันทั้งประเทศเหมือนอย่างข้าว ยังมีของหมุนเวียนอยู่ เพียงแต่มีความได้เปรียบเสียเปรียบในการหาซื้อมันบ้าง แต่ทุกคนก็หวังว่าวิธีการแบบนี้มันจะไม่ยาว
- แนวทางการแก้ปัญหาราคามัน
ปัจจุบัน มีเกษตรกร 30-40% เขาทำได้ดี ก็เอามาเป็นตัวอย่าง รัฐบาลก็เข้าไปสนับสนุนกลุ่มนี้ ให้ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ก็ทำให้ผลผลิตภาพรวมเพิ่ม ส่วนการดูแลเสถียรภาพราคา ก็ต้องสร้างคลัสเตอร์มันสำปะหลังระหว่างโรงงานกับเกษตรกร มีการวางแผนการผลิต-การตลาดร่วมกัน ครอบคลุมผลผลิตส่วนใหญ่ก็มาคุยกัน ชาวไร่รู้ว่าโรงงานต้องการเท่าไหร่ ก็ขุดหัวมันสำปะหลังมาให้พอดี ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องราคาหัวมันตกต่ำ
จัดระบบปลูกเหมือน zoning ข้าวแต่มันสำปะหลังต้องจัดคลัสเตอร์กับโรงงาน ข้อจำกัดของข้าวคือ เกี่ยวแล้วต้องบริหารจัดการไม่ให้เสีย แต่มันสำปะหลังขุดเท่าที่ต้องการขายได้และเก็บไว้ในดิน เพียงแต่โรงงานและเกษตรกรต้องตกลงราคาพื้นฐาน หรือลดการส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าว
ทำแบบนี้แล้ว รัฐบาลก็ไม่ต้องทำโครงการรับจำนำ เพราะมันสำปะหลังแค่บริหารดี ๆ ราคาก็อยู่ได้ ทุกวันนี้ราคาที่รัฐบาลแทรกแซงก็ไม่ได้มีผลกับตลาดหรืออะไร แต่สิ่งที่เสียไปคือค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการแทรกแซงและความเสียหายจาก คุณภาพ คือกลายเป็นไปเร่งให้ชาวไร่ไปขุดหัวมันขึ้นมาจำนำ กลายเป็นหัวมันมีคุณภาพด้อยกว่าที่ค้าปกติ และปริมาณผลผลิตต่อไรก็ต่ำ และที่เสียที่สุด คุณภาพมันสำปะหลังที่เก็บในโครงการ ไม่ว่าจะแป้งหรือมันเส้นด้อยกว่าปกติมาก ยิ่งเก็บนานก็ยิ่งเสื่อมอายุด้วย หากปรับที่เสียมาทำระบบก็คงจะมีประสิทธิภาพกว่า ระบบนี้สมาคมเคยหารือกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สวทช. และหอการค้าไทยก็ให้ความสนใจจะผลักดัน เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ ผมก็ไม่รู้ว่าจะเข้าคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังรับพิจารณาหรือไม่
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต