สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เขื่อนไซยะบุรี ผลประโยชน์ของคนไม่กี่กลุ่ม หายนะของคนลุ่มน้ำโขง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย .... รัฐวิทย์ เรืองประโคน มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ


 
       
       รายงานข่าวจาก “เครือมติชน” ที่ทยอยกันออกมาเป็นซีรีส์ ตั้งแต่ เยือนเขื่อนไซยะบุรี ฟังข้อมูลผู้ก่อสร้าง (ข่าวสด 23 ม.ค.) "เขื่อนไซยะบุรี" ในมุมมองเจ้าของโครงการ ตอบประเด็น "เอ็นจีโอ" (มติชน 29 ม.ค.) ช.การช่าง ตอบคำถาม โครงการไซยะบุรี ปลาผ่านได้ ตะกอนทราย ก็ผ่านได้ (ประชาชาติธุรกิจ 4 ก.พ.) และ เดินเครื่องโครงการไซยะบุรี ฝายไฮเทคกั้นแม่น้ำโขงปั่นไฟฟ้า (ประชาชาติธุรกิจ 6 ก.พ.) คือผลผลิตที่บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าไซยะบุรี ได้พานักข่าวในเครือมติชนลงพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดอกให้สัมภาษณ์ฝ่ายเดียว แต่อ้างถึงประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย แต่กลับเลี่ยงไม่พูดถึงผลตอบแทนที่บริษัทจะได้จากโครงการนี้ และไม่พูดถึงผลเสียต่อระบบนิเวศ การขึ้น-ลงของน้ำ การไหลของตะกอน การอพยพของปลา ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการทำอาชีพประมง การทำเกษตร การท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักของประชาชนนับล้านในทุกประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
       
       คำถามหลักๆ ที่ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงถามมายังรัฐบาลไทย ลาว และ ช.การช่าง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยังไม่มีคำตอบ คือ เขื่อนนี้สร้างเพื่อผู้ลงทุน หรือเพื่อใคร และไทยต้องการไฟฟ้าจากเขื่อนนี้จริงหรือ และความเสียหายต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ อีกทั้งวิถีชีวิตประชาชนริมฝั่งโขง ทั้งลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม จะคุ้มค่ากับไฟฟ้าที่ได้มาหรือไม่ และเมื่อหายนะมาถึง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
       
       ปัจจุบันรัฐบาลลาว ไทย กัมพูชา วางแผนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างทั้งสิ้น 12 โครงการ เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแรกที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ซึ่งตัวเขื่อนอยู่ในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว ห่างจากเมืองหลวงพระบางไปทางใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร และอยู่เหนือ อ. เชียงคาน จ. เลย เพียง 200 กิโลเมตร เขื่อนมีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ และ 90 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้ประเทศไทย
พิธีกรรมเลี้ยง ขึ้น-เลี้ยงลง ซึ่งถูกจัดขึ้นในต้นฤดูจับปลา เพื่อขอขมาแม่น้ำและขอโชคในการจับปลาจากแม่น้ำโขง ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามชุมชนริมแม่น้ำโขง
       บริษัทที่ลงทุนสร้างเขื่อนนี้ คือ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดย ช. การช่าง และบริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีธนาคารของไทยอย่างน้อย 6 แห่งให้การสนับสนุนเงินกู้และการค้ำประกัน คือ ธนาคารไทยพาณิชย์, กสิกรไทย, กรุงเทพ, กรุงไทย, ทิสโก้ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า โดย กฟผ. ต้องลงทุนในโครงการสายส่งอีกหลายหมื่นล้าน เพื่อรองรับไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนมกราคม 2562
       
       ทว่า โครงการมูลค่ามหาศาลที่สร้างโดยบริษัทเอกชนและบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจยักษ์ ใหญ่ และสนับสนุนโดยธนาคารชั้นนำของไทย กลับไม่ปรากฎว่าได้ทำการประเมินผลกระทบ“ข้ามพรมแดน” ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ อีกทั้งยังไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็น หรือได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างที่ควรจะเป็น
       
       ผู้ลงทุนพยายามอธิบายให้คนแม่น้ำโขงคลายกังวล ซึ่งส่วนหนึ่งกลายมาเป็นพาดหัวข่าวที่ว่า "โครงการไซยะบุรี ปลาผ่านได้ ตะกอน ทราย ก็ผ่านได้" แต่ คำอ้างนี้ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับรายงาน “การประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” ปี 2553 โดยสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งระบุว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักจะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศพื้นฐาน การไหลของน้ำและตะกอน การขึ้นลงของน้ำตามธรรมชาติ การอพยพย้ายถิ่นของปลาในแม่น้ำโขง และแน่นอนว่าจะกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนนับ 60 ล้านคน
       
       ทั้งนี้ในรายงานการศึกษาดังกล่าวยังเสนอให้ระงับโครงการ สร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงออกไปอย่างน้อย 10 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งกัมพูชาและเวียดนามต่างสนับสนุนข้อเสนอนี้
อาหารประจำวันสามารถหาเอาได้จากแม่น้ำโขงทั้งสิ้น ทั้งปลาและผักที่ปลูกตามริมตลิ่ง
       นายเรวัตร สุวรรณกิติ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ กล่าวว่า "แกนนำเอ็นจีโอไทยสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำ" จึงทำให้ชาวบ้านเข้าใจไปว่าเขื่อนนี้จะทำให้น้ำท่วม น้ำแล้ง
       
       แต่นายเรวัตร ผู้เคยกล่าวหาชาวบ้านว่าไร้การศึกษานั้น จะรู้หรือไม่ว่าชาวบ้านและผู้ที่ติดตามข้อมูลเขื่อนไซยะบุรีต่างทราบดีว่า เขื่อนนี้เป็นเขื่อนประเภท Run-of-River แม้จะไม่มีอ่างเก็บขนาดใหญ่เหมือนเขื่อนอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขื่อนนี้ไม่ได้กักน้ำไว้
       
       เพราะในความเป็นจริง เขื่อนไซยะบุรีจะปิดประตูเขื่อนทุกวันเพื่อกักน้ำไว้ มีความลึกสูงสุดประมาณ 33 เมตร อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจะกินพื้นที่ 49 ตารางกิโลเมตร ที่สำคัญ เขื่อนจะปล่อยน้ำทุกวันเพื่อผลิตไฟฟ้า
       
       รายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ระบุไว้ชัดเจนว่า การเปิด-ปิดประตูเขื่อนจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนมีความลึกต่างกันประมาณ 3-6 เมตร (ขึ้นอยู่กับระยะห่างจากตัวเขื่อน) นอกจากชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านริมน้ำโขงจะตกอยู่ในอันตรายแล้ว ยังมีเรื่องของปลาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะเป็นปลาที่อพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล ชาวประมงรู้ดีว่าในช่วงน้ำกำลังลดซึ่งเป็นช่วงที่จับปลาได้มากที่สุด หากระดับน้ำขึ้น แม้ไม่ถึง 10 เซนติเมตร หรือน้ำขุ่นจนผิดปกติ ชาวบ้านจะจับปลาไม่ได้ทันที เพราะปลาจะหลงน้ำและเปลี่ยนทิศการว่าย หากระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงหลายเมตรทุกๆ วัน หายนะจะมีมากเพียงใด
       
       ในส่วนของ "ลิฟท์ปลา" และ "ทางปลาผ่าน" ซึ่ง มีความยาวสูงสุดถึง 3,000 เมตร ซึ่งบริษัทอ้างว่าใช้การได้ดีกับปลาในแม่น้ำโขง จนถึงบัดนี้ยังไม่มีงานศึกษาวิจัยที่มีมาตรฐานรองรับข้ออ้างดังกล่าว ตรงกันข้ามกับรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และรายงานทางวิชาการอีกหลายฉบับที่ชี้ว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงจะปิดกั้นเส้นทางอพยพ ลดจำนวนและความหลากหลายของพันธุ์ปลา มีเพียงปลาผิวน้ำขนาดเล็กไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่กระโจนขึ้นทางปลาผ่านของ เขื่อนได้ในระยะทางสั้นๆ ไม่กี่สิบเมตร
ความสุขประจำวันของชาวประมงริมน้ำโขง คือการลงเรือหาปลาเพื่อนำมาประกอบอาหารในแต่ละวัน หากมีเหลือก็จะนำไปขายเพื่อจุนเจือครอบครัว
       แม้แต่นักวิชาการจากกรมประมง นายนฤพล สุขุมาสวิน ก็ได้เคยกล่าวในหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ว่า ปลาบึกซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่และมีสถานะใกล้สูญพันธุ์นั้นต้องอาศัยน้ำลึกใน การอพยพ และเป็นไปไม่ได้เลยที่ปลาบึกจะใช้ "ทางปลาผ่าน" ส่วน "ลิฟท์ปลา" ก็เหมาะสำหรับขนปลาแซลมอนที่อพยพมาคราวละมาก ๆ ในเวลาเดียวกัน
       
       เรื่องการระบายตะกอน แม้ผู้พัฒนาโครงการจะอ้างว่าเขื่อนนี้มีประตูระบายตะกอน 4 ประตู แต่การควบคุมการปล่อยตะกอนให้สัมพันธ์กับการไหลและการขึ้น-ลงของระดับน้ำ และคุณภาพของตะกอนที่ปล่อยนั้น มีคำถามว่าใครเป็นผู้ดูแล
       
       ตะกอนในแม่น้ำโขงเป็นตะกอนที่ไหลตามน้ำเป็นปกติตลอด 24 ชั่วโมง แต่เขื่อนจะปล่อยตะกอนบางช่วงเวลา เพื่อไม่ให้กระทบการผลิตไฟฟ้า และในฤดูร้อนซึ่งมีน้ำน้อย เขื่อนจะไม่สามารถไล่ตะกอนออกได้เป็นระยะเวลาหลายเดือน และจะกลายเป็นตะกอนเน่าเสียและเป็นพิษ เมื่อถูกระบายออกมาในต้นฤดูฝน ตะกอนเน่าเสียเหล่านี้จะทำให้คุณภาพน้ำโขงซึ่งมีออกซิเจนอยู่ในปริมาณที่ จำกัดอยู่แล้ว กลายเป็นน้ำเน่าเสีย และมันย่อมกระจายไปตามลำน้ำ ข้ามพรมแดนไทยเข้ามาที่ อ. เชียงคาน จ.เลย และแม่น้ำตลอดสายในที่สุด
       
       ในเรื่องความต้องการไฟฟ้าและการจัดการระบบพลังงานของไทย ซึ่งหลายคนเป็นห่วงนั้น ความจริงก็มีงานศึกษา เรื่อง “ข้อเสนอแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2555-2573 (แผนพีดีพี 2012) และกรอบเพื่อการพัฒนาความรับผิดตรวจสอบได้ของการวางแผนภาคพลังงานไฟฟ้า” โดย ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน และดร. คริส กรีเซน ได้ระบุชัดเจนว่า การคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าของไทยสูงเกินจริง และนำมาซึ่งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เกินความต้องการ เอื้อต่อประโยชน์ผู้ลงทุนเป็นหลัก ทั้งที่ไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองถึง 15-20%
ชาวบ้านที่บ้านอาฮง ต. ไคสี จ. บึงกาฬ ยังคงดำรงชีวิตด้วยการปลูกพืชผักริมโขงทั้งเพื่อขายและเพื่อรับประทานในครอบ ครัว ในช่วงน้ำลดของทุกปี
       ที่สำคัญ แผนพีดีพีที่ผ่านมาก็ไม่เคยให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อมาตรการด้าน ประสิทธิภาพพลังงาน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน พลังงานความร้อนร่วม การยืดอายุการใช้งานโรงไฟฟ้า และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงไฟฟ้า
       
       แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยควรมีหน้าที่เป็นแผนแม่บท ที่กำหนดแนวทางให้มีการลงทุนด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แผนที่มีขึ้นเพื่อสร้างตัวเลขรองรับและความชอบธรรมให้กับการลงทุนที่ ล้นเกินอย่างเขื่อนไซยะบุรี
       
       ความไร้มาตรฐานที่สำคัญคือ โครงการนี้ไม่มีรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนในด้านต่างๆ ทั้งๆ ที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำของภูมิภาคที่มีผู้คนพึ่งพาอาศัยกว่า 60 ล้านคน ทั้งด้านการประมง การเกษตร การค้าขาย และการท่องเที่ยว ฯลฯ แม้โครงการไซยะบุรีจะเคยจัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดย Pöyry Energy AG แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นรายงานที่ไม่มีมาตรฐาน และบริษัทนี้ก็กำลังถูกหลายองค์กรฟ้องร้องในศาลประเทศฟินแลนด์ เกี่ยวกับมาตรฐานในการดำเนินงานของบริษัท
       
       แม้นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จะ ได้บอกกล่าวกับนักข่าวทั้งหลายในเครือมติชนที่บริษัทพาลงพื้นที่ว่า "การรับเหมาก่อสร้างงานนี้ ไม่ใช่มุ่งแต่จะทำกำไรสูงสุด แต่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย" แต่เจ้าของโครงการกลับไม่เอ่ยถึงรายได้ค่าไฟฟ้าที่บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ ช.การช่าง ถือหุ้นใหญ่จะได้รับจากโครงการอย่างน้อย 370,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมถึงประโยชน์จากสัญญารับเหมาก่อสร้างเขื่อน และผลประโยชน์จากราคาหุ้นของบริษัทที่เพิ่มขึ้นทวีคูณ
       
       ในขณะที่ประชาชนผู้พึ่งพาแม่น้ำโขงต่างรู้ดีว่า มันเป็นเพียงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่ร่วมกันสร้างเขื่อนไซยะบุรีเท่านั้น ผู้ที่จะรับชะตากรรมคือผู้ที่อาศัยพึ่งพิงลำน้ำโขงมาช้านาน พวกเขารู้ดีว่า เขื่อนไซยะบุรีนอกจากจะทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำที่ไม่มีเส้นแบ่งแยกพรมแดน แล้ว ยังจะทำลายเศรษฐกิจชุมชนริมโขงตลอดลำน้ำ และนั่นหมายถึงการทำลายแหล่งความมั่นคงทางอาหารของคนทั้งภูมิภาคด้วย
       
       คำถามต่อจากนี้คือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อหายนะที่จะเกิดขึ้น บริษัท ช.การช่าง รัฐบาลลาว รัฐบาลไทย หรือ กฟผ.

ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เขื่อนไซยะบุรี ผลประโยชน์ ไม่กี่กลุ่ม หายนะ ลุ่มน้ำโขง

view