จากประชาชาติธุรกิจ
"เขื่อนไซยะบุรี" ในมุมมองเจ้าของโครงการ ตอบประเด็น"เอ็นจีโอ"
โดย อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล
แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายสำคัญ มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลผ่าน ประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศพม่า ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม มีความยาวทั้งหมด 4,880 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงคนลุ่มแม่น้ำโขงกว่า 70 ล้านชีวิต เป็นต้นกำเนิด ชุมชน ประเพณี วัฒนธรรม
อีกด้านหนึ่งแม่น้ำโขงเป็นสายน้ำที่มีพลังในการสร้างเขื่อนผลิตกระเเสไฟฟ้า โดยในประเทศจีนมีการสร้างเขื่อนขึ้นหลายเเห่งบนแม่น้ำหลานชางเจียง ก็คือแม่น้ำโขงนั่นเอง
สำหรับแม่น้ำโขงตอนล่าง จากการศึกษาความเป็นไปได้คาดว่าสามารถสร้างเขื่อนได้ถึง 11 เเห่ง ผลิตไฟฟ้าได้ 10,209 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ยังมีเอ็นจีโอออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนว่า จะเกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตของชุมชนและระบบนิเวศของแม่น้ำโขง
โดยเฉพาะ "เขื่อนไซยะบุรี" ที่มีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นเขื่อนเเรกที่จะมีการสร้าง
เขื่อนไซยะบุรี
ต่อกรณี ที่มีการคัดค้าน โดยเฉพาะที่เอ็นจีโอเป็นห่วง ได้นำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับเจ้าของโครงการ
สมควร วัฒกีกุล ที่ปรึกษาด้านธุรกิจพลังน้ำ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถ้าจะพูดความจริงเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรี ต้องพูดเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งต้องทำอย่างเป็นระบบ คือเก็บกักในตอนบน และระบายออกมาในตอนล่าง ป้องกันน้ำท่วม และน้ำแล้ง ซึ่งการสร้างเขื่อนก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือทำให้ได้กระแสไฟฟ้า และทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น
"ธุรกิจไฟฟ้าพลังน้ำมีคุณค่าสูงมาก แต่ว่าหาแหล่งที่จะผลิตยากในประเทศไทยไม่มีที่จะทำได้แล้ว สำหรับเขื่อนไซยะบุรี ใช้เทคโนโลยีความรู้วิศวกรรมที่พัฒนามาตลอด 100 ปี เป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของทุกวันนี้" สมควรกล่าว
ที่ปรึกษาด้านธุรกิจพลังน้ำเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่แถบที่จะมีการสร้างขึ้นนี้อยู่กันอย่างยากลำบาก การคมนาคม สวัสดิการต่างๆ อย่าง สาธารณสุข การศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวกไม่ค่อยมี รายได้ อาชีพ ไม่สูงนัก เป็นชีวิตแบบดั้งเดิม มั่นใจว่า โครงการที่เข้ามาจะช่วยเปลี่ยนชีวิตไปในทางที่สะดวกสบายมากขึ้น มีสวัสดิการ สร้างอาชีพ อนาคตรุ่นลูกหลานดีขึ้น วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
แต่สำหรับประเด็นที่มีผู้ออกมาต่อต้าน อย่างเรื่อง การอพยพผู้คน การเดินเรือในแม่น้ำโขง พันธุ์ปลาที่อาจสูญหาย และตะกอนดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก
ภาพการก่อสร้างประตูเขื่อน โดยกันกั้นน้ำไว้ด้านเดียว เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้น้ำในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
สมควรบอกว่า ทางโครงการได้ปรึกษาหารือกับเจ้าเมืองเรื่องการอพยพผู้คนบางส่วน และตรงนี้เราดูแลอย่างดีที่สุด ช่วยเหลือเรื่องต่างๆ โดยมีเพียงโจทย์ง่ายๆ คือทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น สำหรับข้อเท็จจริงเรื่องสิ่งแวดล้อม การเดินเรือก็มีประตูให้เรือขนาด 500 ตัน ผ่านไปได้ มีทางเดินปลาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ อีกทั้งยังทำสถานีเพาะพันธุ์ปลาด้วย
"สำหรับตะกอนซึ่งเป็นแหล่งอาหารสัตว์ท้ายน้ำ รวมถึงสำหรับการเพาะปลูก เนื่องจากเราไม่ใช่เป็นเขื่อนเก็บกักน้ำ เพราะฉะนั้นที่ผิวน้ำก็มีการระบายอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีประตูระบายตะกอนขนาดใหญ่ติดอยู่ด้วยถึง 4 บาน มีทางระบายทรายด้วย ส่วนความปลอดภัยของเขื่อน ที่หลายคนคำนึงเรื่องแผ่นดินไหว ทั้งที่ลาวไม่ได้อยู่ในแนว แต่เราก็ได้ออกแบบไว้อย่างปลอดภัย
"ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคม ที่ทางเอ็นจีโอห่วง โครงการไม่ได้ละเลย เราทำอย่างสมบูรณ์ ลงทุนมาก และเป็นไปตามมาตรฐานสากล เขื่อนไซยะบุรีจะเป็นต้นแบบสำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่างต่อไปในอนาคต" สมควรกล่าว
ด้าน เรวัตร สุวรรณกิตติ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไซยะบุรี เพาเวอร์ บอกว่า แกนนำเอ็นจีโอไทย สร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำ ทำให้เข้าใจว่า สร้างเสร็จแล้วจะไม่ปล่อยท้ายน้ำ ทำให้ประชาชนไม่มีน้ำใช้ หรือโทษเขื่อนนี้เวลาหน้าน้ำมาก็ท่วมคนไทย ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกับสังคมไทย ว่าเขื่อนไซยะบุรีไม่ใช่เขื่อนเก็บกักน้ำ หน้าฝนน้ำมาเท่าไหร่ ปล่อยแค่นั้น หน้าแล้งก็เช่นกัน ไม่สามารถกักน้ำได้ผลกระทบกับวิถีชีวิตก็ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าท้ายเขื่อน หรือเหนือเขื่อนก็เหมือนเดิมหมดทุกอย่าง ด้านปลา เรามีการออกแบบเกี่ยวกับเรื่องทางปลาผ่านการศึกษา จ้างบริษัทเวิร์ลคลาส ปรับปรุงแบบให้ปลาเดินทางตลอดทั้งปี ทำให้รูปแบบสอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด
เรวัตร บอกว่า การสร้างเขื่อนครั้งนี้ยังได้พลิกวิถีชีวิตหมู่บ้านห้วยซุ่ย ซึ่งอยู่ตรงพื้นที่ก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง เดิมหมู่บ้านนี้เดิมไม่มีถนนเข้า ไม่มีสาธารณูปโภค เวลาเจ็บป่วยก็ไปหาหมอลำบาก เมืองเขามีแผนอพยพอยู่แล้วแต่ยังไม่มีเงิน พอโครงการไซยะบุรีเข้าไปเขาย้าย และได้ส่งเสริมอาชีพ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ปลาในบ่อ ชาวบ้านชอบที่ได้อยู่ใกล้กับเมือง มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
(จากซ้าย) สมควร วัฒกีกุล, เรวัตร สุวรรณกิตติ, ธรรมนูญ สุรรัตน์
รัฐบาลลาว กำหนดรูปแบบการอพยพไว้ 2 แบบ คือ ถ้าอพยพเกินครึ่งหนึ่งหมู่บ้านให้ย้ายที่เลย แต่ถ้าย้ายไม่ถึงครึ่งของหมู่บ้าน ให้ประชาชนที่น้ำท่วมให้ขึ้นไปอยู่ที่สูง
"เป็นแผนรัฐบาลลาว ต้องการรวมหมู่บ้านเล็กๆ เป็นหมู่บ้านใหญ่ เป็นผลดีด้านการปกครอง เราเข้ามาก็เป็นไปตามแผนรัฐบาล ผู้พัฒนาโครงการเป็นผู้ออกเงิน แต่รัฐบาลลาวเป็นผู้กำกับดูแลทั้ง 400 ครัวเรือน แม้เอ็นจีโอไทยและต่างชาติ พยายามกดดันแต่รัฐบาลลาวบอกว่า นี่เพื่อความกินดีอยู่ดีของคนลาว ทำไมประเทศที่รายได้ต่อหัวสูงกว่า กินดีกว่า ต้องการให้ลาวจนอยู่อย่างนี้หรือ มันยุติธรรมหรือไม่ ประเทศตนเองพัฒนาแล้ว ไม่ยอมให้ประเทศอื่นพัฒนา"
เรวัตรกล่าวอีกว่า เมื่อสองเดือนที่แล้ว สถาบันวิจัยแห่งหนึ่ง วิจัยว่า เวียดนามศักยภาพในการแข่งขันจะแซงไทย เพราะเริ่มลงมือศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว เพราะเห็นว่า พลังงานเป็นต้นทุนสินค้า ถ้าพลังงานถูกสินค้าถูกด้วย แต่ประเทศไทยการสร้างด้วยพลังงานน้ำใช้ต้นทุนน้อยสุดก็ไม่เอา แต่ต้องการให้ไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมลม ที่มีต้นทุนสูงมาก ต้องใช้เงินภาษีอุดหนุน สุดท้ายก็ต้องหารกับประชาชนทุกคน
"โครงการเขื่อนไซยะบุรีครั้งนี้ จะเกิดผลประโยชน์มากมายกับประเทศไทยและลาว ประเทศไทยจะได้พลังงานไฟฟ้าที่ต้นทุนราคาถูก ตลอด 29 ปีไม่มีการขึ้นราคา นี่เป็นผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้ ส่วนประเทศลาวจะได้ภาษี ได้ไฟส่วนหนึ่งในราคาถูก เหมือนประเทศไทยและเมื่อหมดสัมปทานก็จะยกเขื่อนเเห่งนี้พร้อมโรงไฟฟ้าให้ประเทศลาวด้วย" รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไซยะบุรี เพาเวอร์กล่าว
สุดท้ายคือ ธรรมนูญ สุรรัตน์ ผู้จัดการโครงการเขื่อนไซยะบุรี บริษัท ช.การช่าง บอกว่า เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ไม่ใช่เขื่อนสำหรับกักเก็บน้ำอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจผิด ดูได้จากการเลือกสถานที่ที่มีพื้นที่ของแม่น้ำกว้างพอเหมาะประมาณ 800 เมตร ตรงข้ามกับการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำที่ต้องเลือกพื้นที่เเม่น้ำที่เเคบที่สุด การทำงานของเขื่อนน้ำเข้ามาเท่าไหร่เราจะปล่อยผ่านตัวโครงการออกไปเท่านั้น
สมมุติหน้าฝนน้ำเข้ามา 10,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้น้ำ 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีมาเดินเครื่องทั้งหมด 8 เครื่อง ส่วนที่เหลืออีก 5,000 ลูกบาศก์เมตรปล่อยผ่านประตูน้ำไป ในหน้าเเล้ง น้ำอาจจะเหลือ 4,000 ลูกบาศก์เมตร จะใช้ 4,000 มาเดินเครื่อง 5-6 เครื่อง ระดับน้ำก็จะเหมือนเดิม
"ส่วนที่เอ็นจีโอกังวลเรื่องปลานั้นการสร้างเขื่อนในครั้งนี้ ก็จะทำช่องทางให้ปลาสามารถผ่านไปได้ ซึ่งเป็นการศึกษาออกเเบบเพิ่มเติมภายหลัง ธรรมดาร่องน้ำถ้าเป็นคอนกรีตก็จะเป็นพนังเรียบๆ แต่เราจะทำพื้นและพนังในลักษณะคล้ายลำธารโดยการใช้กรวดธรรมชาติ ให้เป็นทางลาด 100 เมตร ให้คดเคี้ยวเป็นการเพิ่มระยะทาง ถ้าทำในลักษณะตรงจากความสูง 1 เมตรระยะทาง 100 เมตรก็จะชันพอสมควร สำหรับข้อกังวลว่าปลาบึกอยู่น้ำลึกแล้วปลาบึกไปไม่ได้ นั้นโครงการก็มีการศึกษา โดยตั้งสถานีการศึกษาปลา อยู่ห่างจากเขื่อนไม่กี่เมตร"
"เรามีผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาตลอดทั้งปี ผลการศึกษาล่าสุดใช้ช่วงก่อนฝนตกจนผ่านฤดูฝนมาแล้วเราได้ปลาทั้งหมดที่ผ่านบริเวณนี้ 75 สายพันธุ์ 15 ตระกูล ปลาส่วนใหญ่ที่พบจะขนาดเล็กโดย 70 เปอร์เซ็นต์ที่ผ่านมีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม มีตัวใหญ่ที่สุดที่ตรวจสอบได้ยาว 2.50เมตร คาดว่าน่าจะเป็นปลาบึก และศึกษาต่อว่าปลาที่พบว่ายที่ร่องน้ำลึก หรืออยู่ด้านข้าง มีปริมาณเท่าไหร่ ว่ายน้ำขึ้นและลงในช่วงฤดูกาลใดเดือนใด และมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและนำผลที่ได้คือชนิดพันธุ์ปลา ลักษณะการว่ายมาออกแบบทางลาดปลา ภายหลังการศึกษาเรื่องการสร้างทางปลาครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญก็เเนะนำว่า ปลาบางสายพันธุ์ที่มีจำนวนน้อยก็จะจัดสร้างสถานีเพาะพันธุ์ปลาขึ้นมา โดยนำปลาที่มีค่าเฉลี่ยที่ผ่านทางปลามากที่สุดมาใช้ออกแบบพันธุ์ปลานั้นๆ ด้วย"
นี่คือมุมมองของเจ้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรี ต่อประเด็นที่เอ็นจีโอเป็นห่วง สำคัญที่สุดคือเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชีวิตในลุ่มน้ำโขง
ที่มา มติชนรายวัน
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต