จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com) | ||||
...เบื้องหัวนอนเมืองสุโขไทนี้ มีกุดีพิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส มีป่าหมากป่าลาง ป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพยาดาในเขาอันนั้น เปนใหญ่กว่าผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขไทนี้แล ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย... “เขาอันนั้น” ในศิลาจารึกนี้ก็คือ “เขาหลวง” ขุนเขาอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีเส้นทางเดินขึ้นไปพิชิตยอดโหดหินติด 1 ใน 10 ของเมืองไทย |
||||
เขาหลวง อุทยานแห่งชาติรามคำแหง จ.สุโขทัย นอกจากจะเป็นดินแดนที่มีสภาพธรรมชาติอุดมสมบูรณ์แล้ว ที่นี่ยังเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ ที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยแห่งอดีตกาลให้ได้สืบค้นเรียนรู้กัน โดยเฉพาะการเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญมานับแต่โบราณกาล ในสมัยกรุงสุโขทัย “พ่อขุนรามคำแหง” โปรดฯให้สร้างอ่างดินขนาดใหญ่เพื่อใช้กักเก็บน้ำ ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นเขื่อนสรีดภงส์ในเวลาต่อมา ขณะที่บริเวณเขาหลวงวันนี้มีร่องรอยอดีตของโบราณสถาน รวมถึงสถานที่สำคัญๆที่เกี่ยวพันกับอดีตอันรุ่งโรจน์ของเขาหลวงปรากฏอยู่ ทั่วไป อาทิ สรีดภงส์(ทำนบพระร่วง) โซกพระร่วงลองพระขรรค์ ถนนพระร่วง เขาแม่ย่า เขาเจดีย์งาม เป็นต้น ส่วนรอบๆเขาหลวงมีซากเมืองโบราณตั้งอยู่กระจัดกระจาย ไม่ว่าจะเป็น เมืองเพชร เมืองศรีคีรีมาศ เมืองบางพาน เมืองกันเตาและอีกหลายๆเมือง |
||||
ตำนานนี้เล่าขานว่า พระอภัยคามินีกษัตริย์แห่งดินแดนแถบนี้ได้ออกมาจำศีลที่เขาหลวง และมาพบรักกับธิดาพญานาคที่ปลอมตัวเป็นหญิงงามขึ้นมาจาก“ปล่องนางนาค” ทั้งคู่ต่างครองรักกันจนธิดาพญานาคตั้งครรภ์ แต่เนื่องจากเป็นผู้มีบุญ โอรสที่คลอดจึงออกมาจากการสำรอกโดยไม่มีรก ณ ถ้ำบนเขาหลวง ที่ต่อมาถูกเรียกขานกันว่า ถ้ำ“มเห-รก”(หมายถึงไม่มีรก) |
||||
และด้วยตำนานนี้ทำให้ใครหลายๆคนเชื่อว่า “เขาหลวง”เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองสุโขทัยนับจากอดีตถึงปัจจุบัน เขาหลวง เขาสรรพยา ความสำคัญของเขาหลวงอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฏเด่นชัดก็คือ ที่นี่เป็นแหล่งสมุนไพรชั้นดี มีพันธุ์ไม้สมุนไพรมากกว่า 265 ชนิด อาทิ รางจืด เปล้าน้อย กระวาน มะขามป้อม โด่ไม่รู้ล้ม อบเชย กระวาน เจ็ดกำลังช้างสาร เจ็ดกำลังวัวเถลิง ดีหมี ฯลฯ |
||||
ปัจจุบันทางอุทยานฯได้มีการจัดพื้นที่ นำสมุนไพรในเขาหลวงมาปลูกทำเป็นสวนพืชสมุนไพรไว้ตรงด้านซ้ายของทางขึ้นเขา หลวงเอาไว้ให้ผู้สนใจได้ศึกษากัน ทางสูงชัน ไม่หวั่นไหว “ใกล้ตา ไกลตีน” นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมมีความรู้สึกเช่นนี้ หลังจากพี่ “ทนงค์ อ้นทอง” นักวิชาการเกษตร หนึ่งในทีม สื่อความหมาย อช.รามคำแหง ชี้ให้ดูยอดเขาหลวงที่ตั้งตระหง่านเงื้อมอยู่เบื้องบน |
||||
จากจุดสตาร์ทตรงซุ้มประตูใต้ต้นไม้ใหญ่ พี่ทนงค์พาพวกเราไปสักการะ “หลวงพ่อพุทธพิทักษ์พนาวัน” ที่ประดิษฐานอยู่ถัดจากซุ้มประตูปากทางขึ้นเข้ามาหน่อย เพื่อความเป็นสิริมงคล เอาฤกษ์เอาชัย ให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากการเดินทาง หลังจากนั้นการเดินทางก็เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 9 โมงปลายๆ งานนี้เห็นระยะทางเบาะๆแค่ 3.7 กม. แต่ประทานโทษ!!! มันช่างชันนัก เฉลี่ยแล้วความชันอยู่ที่ประมาณ 35-40 องศา แถมเป็นทางเดินชันแบบขึ้น ขึ้น และขึ้นอย่างเดียว แถบไม่มีทางราบให้ได้พักน่อง เดินสบายๆแบบการเดินดูสาวๆตามห้างสรรพสินค้าเลย |
||||
สำหรับผู้เยี่ยมยุทธ์อีกพวกหนึ่งที่ผมขอคารวะให้ก็คือ เหล่าพี่ๆลูกหาบที่เห็นหน้าตาของแต่ละคนดูออกไปทางพ่อหาบ ลุงหาบ หรือปู่หาบมากกว่า พี่ๆพวกนี้เขาเดินหาบคอนสัมภาระอันหนักอึ้งของพวกเราไปแบบเรื่อยๆแต่มั่นคง แถมยังเร็วกว่าชาวคณะของผมอยู่ไม่น้อย |
||||
สิ่งน่าสนใจรายทาง จากจุดเริ่มต้นเราเดินผ่านจุดสำคัญๆ อย่าง ประดู่ใหญ่ มออีหก มาแวะพักเหนื่อยตรงจุดชมวิว ที่สามารถมองลงไปเห็นวิวทิวทัศน์เบื้องล่างได้ดีทีเดียว “เขาลูกแหลมๆที่เห็นนั่นเรียกเขานมสาวครับ” พี่ทนงค์บอกกับผม ซึ่งนมสาวนะผมชอบแต่กับเขานมสาวนี่เห็นทีจะต้องขอบาย เพราะมันมีนมสาวแค่ข้างเดียว งานนี้เราจึงออกเดินหน้าต่อไปแวะพักกินข้าวกลางวันกันที่บริเวณต้นตะเคียน คู่ |
||||
หลังอิ่มหนำสำราญ ได้น้ำได้ท่าจากธรรมชาติที่ทางอุทยานฯต่อท่อจากตาน้ำลงมาพักไว้ในถังให้นัก ท่องเที่ยวได้เติมเป็นระยะๆแล้ว พวกเราก็ออกเดินทางกันต่อ เส้นทางในช่วงครึ่งหลัง ความชันไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าช่วงแรก เพียงแต่ว่าระหว่างทางมีสิ่งน่าสนใจให้ชม ให้ถ่ายรูปมากกว่า ซึ่งผมถือโอกาสนี้แวะหยุดพักไปในตัว จุดแรกเป็นกลุ่มต้นปรงต้นใหญ่ในป่าไผ่ที่ผมเห็นเส้นทางเดินชันดิกในเบื้องหน้าแล้ว บอกได้เลยว่า “ปลงไม่ตก” |
||||
|
||||
จากต้นไทรใหญ่เหลือระยะทางสู่ยอดเขาเพียงแค่ 700 เมตร แต่เป็น 700 เมตรที่ยังโหดหินเหมือนเส้นทางช่วงที่ผ่านๆมา พี่ทนงค์พาผมมาแวะดู “ปล่องนางนาค” ในจุดต่อมา |
||||
สู่จุดหมาย จากปล่องนางนาคไปนับว่าใกล้ถึงยอดเต็มที แต่พี่ทนงค์ได้ลดกำลังใจด้วยการบอกว่า ยังเหลือทางชันมากในช่วงสุดท้ายอีกเนินหนึ่งหลังเดินเลยจากจุดพระยาแล่นเรือ ไป |
||||
“มีหลายคนคิดว่ามาถึงเนินสุดท้ายแล้ว เลยรีบจ้ำอ้าววิ่งขึ้นไป ทำเอาเข่าอ่อนเป็นตะคริวกันมามากแล้ว ผมแนะนำว่าให้เดินไปเรื่อยๆไม่ต้องรีบ” งานนี้เชื่อผู้เชี่ยวชาญดีที่สุด ผมจึงรวบรวมลมปราณอีกครั้ง ค่อยเดินขึ้นไปแบบไม่เร่งรีบ เพราะจุดหมายอยู่อีกไม่ไกล เมื่อเดินขึ้นไปอีกสักพักก็ได้เฮ!!! เพราะเรามาถึงแล้ว ยอดเขาหลวง ณ ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร |
||||
นอกจากนี้เส้นทางพิชิตยอดเขาหลวงยังสอนใจผมว่า เป้าหมายไม่ได้มีไว้ให้พุ่งชนเหมือนอย่างโฆษณา หากแต่เป้าหมายของที่นี่มีไว้ให้เราได้ขึ้นไปพิชิตแบบไม่เร่งรีบร้อนรน หากแต่รู้ในศักยภาพ เรี่ยวแรงกำลังของตัวเอง บางครั้งหลายๆเรื่องราวในชีวิตหากเร่งรีบใจร้อนเกินไป อาจจะทำให้เป้าหมายที่หวังตั้งใจไว้พังทลายก็เป็นได้...(อ่านต่อตอนหน้า : สัมผัสความงาม ชมพระอาทิตย์ตก-ขึ้น บนยอดเขาหลวง) ***************************************** |
||||
การเดินทาง สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-พรานกระต่าย-คีรีมาศ เข้าถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 423 ก.ม. และเส้นทาง กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-สุโขทัย-คีรีมาศ ระยะทางประมาณ 457 ก.ม. การเดินทางขึ้นเขาหลวง ควรฟิตเตรียมร่างกายให้พร้อม บนยอดเขาหลวงมีที่พักเป็นสถานที่กางเต็นท์ โดยทางอุทยานฯมีเต็นท์จำนวนหนึ่งไว้ให้เช่าบริการ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องนอนต่างๆ ขณะที่ผู้นำเต็นท์ไปเองเสียค่าใช้พื้นที่ 30 บาท/คน/คืน นอกจากนี้ยังมีร้านสวัสดิการอยู่ข้างบน มีสินค้าของกินบ้างอย่างขาย เช่น น้ำอัดลม ปลากระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป ในราคามากกว่าพื้นล่างประมาณ 2 เท่า เพราะต้องเสียค่าลูกหาบแบกขึ้นมา บนเขาหลวงต้องนำอาหารขึ้นมาเอง ด้านบนไม่มีขาย โดยมีจุดก่อไฟและจุดทำอาหารที่ทางอุทยานฯจัดเตรียมไว้ให้ ส่วนน้ำดื่มมีน้ำดื่มสะอาดจากธรรมชาติไว้บริการ มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ แยกชายหญิง มีไฟปั่นเปิดให้บริการในช่วงค่ำถึงเวลา 4 ทุ่ม ผู้สนใจสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเขา หลวงเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาหลวง 0-5591-0000-1 นอกจากนี้ยังสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงในสุโขทัยได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานสุโขทัย 0-5561-6228-9 |
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต