จาก โพสต์ทูเดย์
จากบันทึกในสมุดภาพเรื่อง “เสด็จฯ เยือนทวีปยุโรป 5 ประเทศในปีพุทธศักราช 2503” ซึ่งภายในสมุดภาพเล่มนี้ ได้บอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระ นางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จประพาสทวีปยุโรป อันประกอบไปด้วย อังกฤษ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ โปรตุเกส และเดนมาร์ก ซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปยุโรปในครานั้น หนึ่งในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยเป็นอย่างยิ่งคือ กิจการโคนมในประเทศเดนมาร์ก และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของกิจการโคนมในประเทศไทย
ทีมงานโลก 360 องศา จึงออกเดินทางไปยังประเทศเดนมาร์ก เพื่อตามหาสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมื่อ 52 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการสืบค้นเราพบว่าในครานั้นเสด็จพระราชดำเนินเยือนฟาร์มทดลองปศุ สัตว์ของทางราชการที่มีชื่อว่า ฟาร์ฮอล์ม (Farholm) เพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานและการสาธิตการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร รวมถึงการเลี้ยงสุกรและโคนม หากแต่ว่าในปัจจุบันฟาร์มทดลองแห่งนี้ปิดตัวลงไปแล้ว อันเนื่องมาจากอาชีพเกษตรกรรมและปศุสัตว์ในประเทศเดนมาร์กได้รับความนิยม น้อยลง แต่อาคารฟาร์มทดลองยังคงได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และแปร เปลี่ยนเป็นสำนักงานของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่นั่นเราได้มีโอกาสพบกับผู้จัดการบริษัทแห่งนี้ ซึ่งบอกกับเราว่าตัวเขาเองไม่เคยทราบมาก่อนว่าที่แห่งนี้ครั้งหนึ่งพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริค เคยเสด็จพระราชดำเนินมา ณ ที่แห่งนี้เมื่อ 52 ปีที่แล้ว ทำให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนี้รู้สึกปลาบปลื้มใจเมื่อได้ทราบถึง ประวัติดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราในฐานะชาวไทยที่ได้มีโอกาสเดินทางตามรอยเส้นทาง เสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตประเทศไทยได้เพียง 2 ปี รัฐบาลเดนมาร์กและภาคเอกชนได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโครงการฟาร์มสาธิต และศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย–เดนมาร์ก ซึ่งในครานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริค ที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเพื่อเป็นองค์ประธานในการทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวัน ที่ 16 ม.ค. ปีพุทธศักราช 2505 นับจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วของอุตสาหกรรมโคนมไทย ซึ่งทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่าคนไทยมีสุขภาวะที่สมบูรณ์แข็งแรง อันเกิดจากการเข้าถึงการบริโภคนมทุกครัวเรือน ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมก็มีรายได้ที่มั่นคงจากการจำหน่ายน้ำนมดิบเพื่อ ป้อนอุตสาหกรรมนม แต่กว่าจะมาถึง ณ จุดนี้ได้ อาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมก็ต้องล้มลุกคลุกคลานและเผชิญกับปัญหาอุปสรรค นานัปการ ซึ่งคุณธวัชชัย สำโรงวัฒนา ประธานกรรมการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เล่าให้เราฟังว่า ความยากในการพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมของประเทศไทย คือ การบริหารอุปสงค์และอุปทานให้มีความสอดคล้องกัน กล่าวคือ นอกจากจะต้องส่งเสริมให้มีการเลี้ยงโคนมแล้ว ก็จะต้องส่งเสริมให้ผู้คนหันมาบริโภคนมสดแท้ควบคู่กันอีกด้วย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดการเกื้อหนุนในอุตสาหกรรมโคนม อันจะก่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ครบวงจร โดยมีประเทศเดนมาร์กเป็นหนึ่งในต้นแบบของการบริหารจัดการ
หากย้อนกลับไปในยุคเริ่มต้นนั้น นมจะถูกบรรจุและจัดจำหน่ายในรูปแบบของขวดแก้ว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิทยาการที่ได้รับจากประเทศเดนมาร์ก จนกระทั่งเข้าสู่ยุคของความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี จึงได้มีการนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการบรรจุภัณฑ์ พร้อมกันนั้นยังได้มีการเปลี่ยนวัสดุบรรจุภัณฑ์จากขวดแก้วมาเป็นกระดาษและ พลาสติก ซึ่งมีน้ำหนักเบา ทนต่อแรงกระแทก มีหลายขนาด หลายราคา และที่สำคัญที่สุดคือ มีประสิทธิภาพในการรักษาคุณภาพน้ำนมมากกว่าขวดแก้ว ทำให้สามารถขนส่งไปยังพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารได้ ส่งผลให้ผู้คนในชนบทมีโอกาสเข้าถึงการบริโภคนม อันจะนำมาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรงได้
โครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาวะเด็กไทยมาตั้งแต่ปีพุทธ ศักราช 2553 ซึ่งคุณสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาทุพพลภาพของเด็กไทยแล้ว โครงการนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอีกด้วย เพราะวัตถุดิบสำคัญในการผลิตคือน้ำนมดิบ ซึ่งก่อนที่จะเกิดโครงการนี้ ประเทศไทยเกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดอยู่บ่อยครั้ง แต่การเกิดขึ้นของโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนนั้น ทำให้ความต้องการน้ำนมดิบภายในประเทศมีปริมาณสูง มากไปกว่านั้นนมโรงเรียนผลิตจากน้ำนมโคสดแท้ ทำให้ผู้ปกครองคลายความกังวลได้ว่าไม่มีการผสมนมผง ซึ่งที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการปนเปื้อนเมลามีนในนมผง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าที่นมกล่องแรกของคนไทยจะเกิดขึ้น แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยของเรามีนมหลากรูปแบบให้เลือกบริโภค และเรามีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่มีทั้งประสบการณ์ มีองค์ความรู้ มีเครือข่าย มีอนาคต และที่เรามาถึงจุดนี้ได้ก็เป็นเพราะเรามีจุดเริ่มต้นจากความสัมพันธ์อันดี ระหว่างสองประเทศ อันเกิดจากความตั้งใจของกลุ่มคนรุ่นบุกเบิกและที่สำคัญยิ่งเหนือสิ่งอื่นใด คือ นมกล่องแรกของคนไทยเกิดจากพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกลของพระเจ้าแผ่นดินของ เรา
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต