สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฝรั่งสงสัย ปลากัดไทย หายใจยังไงระหว่างสู้กัน?

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       ขณะที่เราอาจสนใจแค่สีสันและ การกัดเก่งหรือไม่เก่งของปลากัดไทย แต่ฝรั่งกลุ่มหนึ่งสงสัยได้ในพฤติกรรมก้าวร้าวของปลากัดไทยว่า ระหว่างต่อสู้ที่ต้องใช้พลังงานมหาศาลนั้น พวกมันนำออกซิเจนจากไหนมาใช้ และพวกเขาก็พบว่าปลาสายพันธุ์ดุนี้สามารถฮุบอากาศเหนือผิวน้ำระหว่างต่อสู้ จึงมีแรงในการกัดกันได้ต่อเนื่อง
       
       ปลากัดที่นักวิทยาศาสตร์นำมาศึกษาคือปลากัดป่าภาคกลางที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “เบตตาสเปลนเดนส์” (Betta splendens) ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าปลาตัวผู้ของสายพันธุ์นี้มีการแสดงลักษณะของความก้าว ร้าวที่พร้อมจู่โจมคู่ต่อสู้ และยังสามารถดึงออกซิเจนมาใช้ได้ทั้งจากในอากาศและในน้ำ
       
       บีบีซีเนเจอร์ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบว่า ปลากัดชนิดนี้ควบคุมความสามารถดังกล่าว เพื่อจัดการพลังงานระหว่างต่อสู้ในระยะเวลาสั้นๆ ได้อย่างไร และพวกเขาก็พบว่าปลากัดตัวผู้จะขึ้นไปที่ผิวน้ำในการต่อสู้เพื่อช่วยในการ ดูดซึมออกซิเจน
       
       “ดูเหมือนเหงือกเล็กๆ ที่ช่วยในการใช้ชีวิตในแหล่งน้ำออกซิเจนต่ำนั้น จะทำงานไม่ทันการต่อสู้อันเข้มข้น และมีความต้องการอากาศหายใจมากขึ้น” ดร.สตีเฟน พอร์ทูกัล (Dr. Steven Portugal) จากราชวิทยาลัยสัตวแพทย์ (Royal Veterinary College) ลอนดอน อังกฤษ อธิบายผ่านทางบีบีเนเจอร์
       
       ดร.พอร์ทูกัลได้ศึกษาเรื่องนี้ร่วมกับคณธทำงานจากมหาวิทยาลัยควีน แลนด์ (University of Queensland) ออสเตรเลีย และตีพิมพ์งานวิจัยลงวารสารคอมพาราทีฟไบโอโลจีแอนด์ฟิสิโอโลจีพาร์ทเอ (Comparative Biology and Physiology Part A)
       
       สำหรับปลากัดป่าภาคกลางนี้พบได้ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแหล่ง น้ำที่มีออกซิเจนต่ำหรือในนาข้าว โดยปลากัดที่พวกเขานำมาศึกษานั้นอยู่ในกลุ่ม อนาบันโตได (Anabantodei) ซึ่งมีความสามารถพิเศษที่สามารถดึงออกซิเจนจากอากาศและน้ำโดยใช้อวัยวะพิเศษผ่านเหงือกและผิวหนังได้
       
       “ตัวผู้ของสปีชีส์นี้จะมีสีสันฉูดฉาดและก้าวร้าวมากเมื่อเผชิญหน้า กับเพศเดียวกัน โดยเชิงประวัติศาสตร์คนท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ประโยชน์จาก พฤติกรรมดังกล่าวของปลาและจับมาสู้กันในถังน้ำที่ใช้เพื่อการประลอง คล้ายกับกรณีชนไก่” ดร.พอร์ทูกัลอธิบาย
       
       นับแต่ปลากัดถูกนำออกมาจากป่าเพื่อใช้ในการแข่งขันกัดกัน ปลาชนิดนี้ก็กลายเป็นปลาที่ได้รับความนิยมในการเพาะเลี้ยง โดยนักผสมพันธุ์ให้ความสนใจในการพัฒนาพันธุ์เพื่อเพิ่มสีสันและลักษณะท่าทาง ที่สวยงามให้มากขึ้น แต่ ดร.พอร์ทูกัลพุ่งความสนใจไปที่การใช้พลังงานเพื่อการแสดงพฤติกรรมดังกล่าว

       ในห้องปฏิบัติการนักวิจัยได้จับปลากัดตัวผู้ 2 ตัวมาเจอกันในถังน้ำเพื่อให้พวกมันแสดงพฤติกรรมการต่อสู้ แต่ปลาทั้งสองถูกแยกอยูในขวดที่สามารถมองเห็นกันผ่านกระจกแก้ว ซึ่งพวกเขารายงานว่าปลากัดเริ่มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวทันทีเมื่อถูกนำมาเจอ กัน
       
       นักวิจัยวิเคราะห์ก๊าซที่อยู่ภายในถังน้ำทั้งก่อนและหลังการต่อสู้ เพื่อทำความเข้าใจว่าปลากัดใช้พลังงานไปเท่าไรระหว่างกัดกัน และพวกมันได้รับออกซิเจนจากไหน ซึ่ง ดร.พอร์ทูกัลกล่าวว่า ในช่วงการต่อสู้นั้นดูเหมือนปลากัดจะอาจได้รับออกซิเจนจากน้ำอย่างเพียงพอ พวกมันจึงขึ้นสู่ผิวน้ำบ่อยขึ้นเพื่อหายใจเอาออกซิเจนจากอากาศให้มากขึ้น หรืออีกแง่หนึ่งพวกมันขึ้นไปหายใจนั่นเอง
       แต่ปลากัดก็ไม่ได้พักอยู่ที่ผิวน้ำ โดยทีมวิจัยสังเกตว่าปลากัดตัวผู้ทั้งสองจะขึ้นสู่ผิวน้ำในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้น พวกมันจึงต่อสู้กันต่อไปได้ ซึ่งการหายใจเป็นจังหวะเดียวกันของปลานี้เป็นกลไกป้องกันในการกันผู้ล่า เพราะการขึ้นผิวน้ำเพียงลำพังเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อ การหายใจเป็นจังหวะสอดคล้องกันจึงลดการถูกจู่โจมโดยลำพังได้
       
       ดร.พอร์ทูกัลกล่าวว่า การกัดกันของปลากัดนั้นเป็นพฤติกรรมที่ค่อนข้างเป็น “สุภาพบุรุษ” เพราะหากคู่ต่อสู้ต้องการอากาศหายใจก่อน ซึ่งเป็นเรื่องช่วยไม่ได้หากเราคิดจะใช้โอกาสนี้จู่โจม เพราะคู่กัดนั้นหมดแรงจนถึงขั้นต้องหายใจก่อน แล้วหันหลังขึ้นผิวน้ำเพื่อรับอากาศ จึงเป็นช่วงเวลาดีที่สุดที่จะเข้าจู่โจม
       
       แต่หากการจู่โจมระหว่างคู่ต่อสู้ขึ้นไปหายใจไม่สำเร็จ คู่ต่อสู้ก็จะกลับมาพร้อมออกซิเจนเต็มเปี่ยม และเราเองก็จะต้องขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อหายใจเช่นเดียวกัน ซึ่งมีโอกาสที่เราจะพลิกตกเป็นรองและถูกจู่โจมกลับ ดังนั้น จึงต้องหายใจพร้อมหันหรือไม่เช่นนั้นก็เลือกเสี่ยงที่จะถูกจู่โจมระหว่าง ขึ้นสู่ผิวน้ำและกลับมาต่อสู้
       
       อย่างไรก็ดี ดร.พอร์ทูกัลบอกว่าเขาแปลกใจที่พบว่า ปลากัดตัวผู้นั้นสู้จนเกือบหมดลมระหว่างเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ และออกซิเจนเสริมเกือบทั้งหมดนั้ได้จากการเทียวขึ้นผิวน้ำบ่อยๆ ซึ่งดูเหมือนว่าพวกมันจะหายใจไม่พอในแต่ละครั้ง ดังนั้น เขาให้ความเห็นว่าการกัดกันจึงต้องการออกซิเจนในปริมาณมาก


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ฝรั่งสงสัย ปลากัดไทย หายใจยังไง ระหว่างสู้กัน

view