จาก โพสต์ทูเดย์
การพัฒนาพื้นที่อันดามันเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวระดับโลก แต่กลับไม่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเล ที่ต้องเผชิญมานาแล้วนานเล่า
กานต์ กมลรัตน์
ยิ่งพัฒนามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำลายมากเท่านั้น
คำนี่เชื่อว่าเป็นคำที่ใช้ได้กับกลุ่มบุคคลหนึ่งในประเทศไทย ที่ ณ ตอนนี้ ก็ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใด ๆ มาขจัดปัญหาที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อขึ้นนั้น ให้หมดไปได้
“ชาวเล” ชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของชายฝั่งอันดามัน ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 41 ชุมชนหรือกว่า 12,000 คน ในพื้นที่ 5 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ที่ยังต้องรับชาตะกรรม กล่าวคือ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ยังต้องเผชิญหน้ากับผลพวงจากการพัฒนาสมัยใหม่ที่ไม่สมดุล ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง การพัฒนาความเจริญกับวิธีชีวิตและวัฒนธรรมชาวเล
ปัญหาที่ชาวเลยังต้องเผชิญมานาแล้วนานเล่า คือการได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่อันดามัน ในการพัฒนาสู่การเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวระดับโลก และการประกาศเป็นเขตพื้นที่อุทยานทางทะเล หรือประกาศอื่น ๆ ของทางรัฐ ซึ่งวิถีชีวิตของชาวเลดั้งเดิมนั้น จะเป็นการใช้ชีวิตที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ทำมาหากินตามเกาะแก่ง เช่น การทำประมง ออกจับปลา ประกอบกับการมีวัฒนธรรมชนเผ่าที่เข้มแข็งมานานกว่า 300 ปี
ปัญหาที่ถือว่าถึงขั้นเรื้อรังของกลุ่มชาวเลนั้นคือ ความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในเรื่องของเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ที่กลุ่มชาวเลนั้นไม่ได้มีไว้ครองครองตามกฎหมาย แต่กลับไปอยู่ในกลุ่มของเอกชนที่อ้างสิทธิ์เหนือที่ดินของชาวเล จนเกิดการขับไล่ออกจากพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 25 ชุมชน ที่มีโอกาสถูกไล่ที่ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และประกอบพิธีกรรมที่กำลังค่อย ๆ ถูกกลืนหายไป
ความไม่มั่นคงในการทำมาหากิน โดยจากการที่มีนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวในแถบชายฝั่งอันดามัน เป็นการเบียดขับวิถีการทำมาหากินของชาวเลต้องเปลี่ยนไป ทำให้ชาวเลไม่มีสิทธิในการเข้าไปทำมาหากินในที่ทำกินดั้งเดิมที่เคยหากินกัน มาแต่รุ่นบรรพบุรุษ
ถึงแม้ว่ามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ได้เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลตามแนวทางจัดทำพื้นที่ วัฒนธรรมพิเศษชาวเล และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบด้วยการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การให้ชาวเลสามารรถประกอบอาชีพประมงหาทรัพยากรตามเกาะต่าง ๆ ได้ โดยผ่อนปรนพิเศษในการใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของชาวเล รวมทั้งด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหาในเรื่องของสัญชาติหรือการไม่มีบัตรประชาชน การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมของชาวเลแล้วนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถเปลี่ยนปัญหาที่ชาวเลพบเจอมานมนานพลิกกับสู่วิถีดั้งเดิมของชาวเล ได้
ชาวเลแหลมตง : ใกล้แล้วที่จะไม่มีที่ยืน
ชาวเลแหลมตง เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ อีกหนึ่งชุมชนชาวที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่วิกฤติ จากการที่ความเจริญทางการท่องเที่ยวเข้ามาเบียดเบียนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ จนขณะนี้พื้นที่อยู่อาศัยของชาวเล อยู่ในพื้นที่เล็ก เพียงแค่ 2 ไร่เศษ กับประชากรเกือบ 200 คนใน 35 ครัวเรือน
ปัญหาที่ที่ดินของชาวเลแหลมตงนั้นได้เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลเริ่มมีการส่ง เสริมการท่องเที่ยวในช่วงประมาณปี 2526-2527 โดยการเข้ามากว้านซื้อที่ดินของนายทุน ใช้วิธีการขู่ การใช้ความไม่รู้หนังสือของชาวเลหลอกให้เซ็นเอกสาร จากปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลสืบเนื่องมาในปัจจุบัน คือ สิทธิครอบครองที่ดินที่เหลืออยู่ 2.3 ไร่นั้น มีข้อมูลว่า ที่ดินผืนนี้ได้ค้ำประกันการกู้เงินธนาคารให้แก่บริษัทเอกชน แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นยังเป็นของชาวเล
นั้นหมายความว่า อนาคตของชาวเลที่แหลมตง ยังยืนอยู่บนความไม่แน่นอน
นายหมัด ประมงกิจ ผู้นำชาวเลชุมชนแหลมตง จ.กระบี่ กล่าวว่า ตอนนี้ทางชุมชนได้เสนอให้ทำเป็นโฉนดชุมชน ชาวเลสามารถบริหารจัดการที่ดินผืนนี้ร่วมกัน แต่ขณะนี้กลับถูกแย้งไปเพราะนายทุน แต่อย่างไรก็ตามกลับไม่มีหน่วยงานทางภาครัฐมาจัดการในด้านสาธารณูปโภค นำประปา และปัญหาขยะให้
นางสิบนางปิง ชาวเลอูรักลาโว้ยแหลมตง ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนวิถีทำมาหากินของชาวเลที่นี่ ใช้เรือแจวออกเรือหาปลาเป็นปกติ แต่เมื่อมีโรงแรมและรีสอร์ท ทุกอย่างก็เปลี่ยน จากที่ใช้เรือแจวหาปลา ก็เปลี่ยนเป็นใช้เรือติดเครื่อง แต่ก่อนอาชีพหลักทำประมง แต่ตอนนี้ลูกหลานก็หันหน้าไปรับจ้างนำเที่ยวและรับจ้างขับเรือให้กับโรงแรม และรีสอร์ท
ขณะเดียวกัน สถานที่แห่งจิตวิญญาณก็ถูกรุกล้ำจากผลกระทบดังกล่าว ซึ่งแต่เดิมนั้น ชาวเลแหลมตงมีพื้นที่สุสาน 4 แห่ง แต่ปัจจุบันเป็นที่สร้างโรงแรม 4 แห่ง มีการขุดพบกระดูกบรรพบุรุษชาวเล และตอนนี้ชาวเลใช้สุสานอยู่ที่อ่าวผี มีเนื้อที่ไม่ถึง 1 ไร่ มีคนมีตั้งลวดหนามและตัดถนนผ่านกลางสุสาน
นอกจากปัญหาด้านที่ดินและการดำรงชีวิตที่ถูกนายทุนเข้ามารุกรานเป็นปัญหา ที่สามารถสะท้อนถึงการรับผิดชอบของหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว การศึกษาของเด็ก ๆ ชาวเล ก็ยังหนีไม่พ้นของผลกระทบดังกล่าว ที่ปัจจุบันต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่า อนาคต...จะเป็นอย่างไร
โรงเรียนบ้านแหลมตง สถานศึกษาเพียงแห่งเดียวบนเกาะพีพี เป็นแหล่งให้ความรู้กับเด็ก ๆ รวมทั้งเด็ก ๆ ชาวเล ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เริ่มเปิดสอนในตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2519 หรือ 36 ปีมาแล้ว ปัจจุบันประกอบด้วยนักเรียนทั้งหมด 34 คน และครู 5 คน บนพื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน
นางสาววราภรณ์ อมรพันธุ์ ครูประจำชั้นอนุบาล 1 และ 2 กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางโรงแรมและรีสอร์ทอยู่รอบโรงเรียน บางที่มีการเอารั้วมากั้น หรือบางที่ก็มาแจ้งกับทางโรงเรียนว่าเด็กนักเรียนเสียงดังเกินไป รบกวนแขกที่มาพัก ซึ่งนี้ก็ถือว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการสร้างโรงแรมและ รีสอร์ท
“เด็ก ๆ บางจะต้องเดินมาเรียนเอง เพราะทางโรงแรมแถวนี้เขาไม่ให้เอารถขึ้นมาส่งเด็ก รถก็จะมาส่งที่ปากทางข้างบน แล้วเด็กก็จะเดินขึ้นมาโรงเรียน ถ้าวันไหนน้ำขึ้นสูง ก็จะต้องเดินเลยไปอีกหนึ่งหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร” นางสาววราภรณ์ กล่าว
นี้แสดงให้เห็นว่า นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เข้ามาทีหลัง ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพี่น้องชาวเลที่ยึดถือกันมาช้านานกว่า 300 ปี แต่ด้วยระบบทุนนิยมที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนา จนหน่วยงานในส่วนที่ต้องดูแลรับผิดชอบ อาจมองข้างจุดนี้ แต่มันเป็นจุดที่ไม่เล็ก เพราะเป็นแหล่งสั่งสมวิถีวัฒนธรรมและการดำรงชีวิต ที่มีเข้ามาก่อนระบบการพัฒนา ปัจจุบันชาวชุมชนแหลมตงได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของกลุ่ม ชาติพันธุ์ชาวเล ซึ่งเป้นกลุ่มด้วยโอกาส และถูกรุกรานด้วยนโยบายของรัฐ ด้วยการเข้าร่วมกับ เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในอันดามันและชนเผ่าพื้นเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องสิทธิความเป็น “คนไทย” ให้ปรากฏออกมาสู่รูปธรรมมากว่ามติแผ่นกระดาษ
ราไวย์ : จิตวิญญาณของการต่อสู้เพื่อ “ความไม่เป็นธรรม”
นอกจาก...ชาวเลที่อาศัยบนเกาะพีพีแล้ว ที่หาดราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ชุมชนชาวเลกว่า 2,000 คน ได้มาอาศัยที่ทางริมหาดบนพื้นที่ 19 ไร่ 2 งาน ในการอยู่อาศัยและทำมาหากิน แต่ก็ยังไม่วายที่จะถูกเอกชนใช่สิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายมาเบียดเบียนวิถี ชีวิตและการดำรงอยู่ของชาวเล การตั้งถิ่นฐานที่มีมากว่า 300 ปี ก็ยังไม่สามารถอ้างสิทธ์ในการเป็นเจ้าของผืนดินที่บรรพบุรุษได้สะสมมาไว้ให้ กับลูกหลานได้
นายสนิท แซ่ซั่ว สมาชิกชาวเลตระกูลบางจาก กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี้ได้ถูกเอกชนอ้างสิทธิ์เหนือที่ดินโดยจำนวนหนึ่งนั้นได้มีการ ฟ้องร้องต่อศาล เพราะชาวบ้านไม่มีโฉนดที่ดิน โดยขณะนี้มีชาวบ้านแพ้คดีไปแล้ว 2 ราย ยกฟ้องแล้ว 1 ราย และกำลังรอพิจารณาคดีอยู่ 7 ราย ในวันที่ 30 มกราคม 2556
นายสนิท เล่าว่า เหตุที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องจากเอกชนเพียงเพราะไม่มีโฉนดที่ดินตามกฎหมาย เพราะชาวบ้านที่นี่คิดว่า ผืนดินแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะ ใครสามารถจะมาใช้ประโยชน์อะไรก็ได้ แต่ก็ต้องยึดหลักตามวิถีวัฒนธรรมประเพณีตามบรรพบุรุษที่สั่งสมกันมา โดยเอกชนที่เข้ามาส่วนใหญ่นั้นจะเป็นธุรกิจทางด้านสปา โรงแรม และสำนักงานเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังทราบมาว่าที่ดินบางแปลงที่นี่นั้น ได้มีข้าราชการท้องถิ่นได้ทำหนังสือขายที่ดินให้กับเอกชนอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีบุคคลที่ถือโฉนดอยู่ทั้งหมด 26 เจ้า ขณะที่ชาวบ้านไม่มีคนถือเลย เพราะชาวบ้านไม่รู้เรื่องกฎหมาย ไม่รู้ว่าจะต้องมีการจับจองที่ดิน จึงทำให้ชาวบ้านตอนนี้ตกเป็นจำเลยโดยไม่รู้ตัว
“ผมเชื่อในความยุติธรรม แต่คุณต้องยุติธรรมในแบบลงพื้นที่มั่ง ไม่ใช่ยุติธรรมเพียงแค่ในเอกสารอย่างเดียว”
คำพูดของนายสนิทที่ต้องการความยุติธรรมอย่างเป็นธรรม แสดงถึงความขัดแย้งของกฎหมายในแผ่นกระดาษกับกฎหมายทางมนุษย์
อึกหนึ่งอุปสรรคในการต่อสู้คือ เมื่อถึงขึ้นตอนในการขึ้นศาลนั้น จะมีอุปสรรคทางด้านการใช้ภาษา จึงต้องมีล่ามไว้คอยช่วยแปล นอกจากนี้ภาษาที่ใช้กันในศาลเป็นภาษาทางกฎหมาย ชาวเลไม่มีความรู้ทางด้านนี้
“ไม่ว่าเราจะชนะคดีหรือแพ้คดี เราก็จะอยู่และตายที่นี่”
คำกล่าวอย่างหนักแน่นของนายหนัง หมิเด็น อายุ 74 ปี ชาวบ้านที่อยู่ในระหว่างการรอพิจารณาคดีในวันที่ 30 มกราคม 2556 นี้ แม้เป็นเพียงคำพูด แต่ก็เป็นการแสดงการต่อสู้ แม้หลังชนฝาด้วยการไม่มีหลักฐานเอกสารสิทธิ์ทางกฎหมายก็ตาม
ไม่ไกลจากราไวย์มากนัก ชุมชนชาวเลแหลมตุ๊กแกก็ประสบปัญหาไม่ต่างอะไรกับชาวเลราไวย์ ที่มีนายทุนเข้ามาอ้างสิทธิ์ในที่ดินกว่า 11 ไร่
นายมะเย้ง ประมงกิจ อายุ 70 ปี ชาวเลแหลมตุ๊กแก เล่าว่า ที่ดินที่นี่นั้นได้มีนายทุนเข้ามารังวัดที่ดินอยู่เรื่อย ๆ แต่ชาวบ้านจะคอยเป็นหูเป็นตาและต่อต้าน แม้ว่าพวกเราจะไม่มีโฉนดที่ดิน แต่พวกเราก็พร้อมต่อสู้ ด้วยประเพณีวัฒนธรรมของชาวเลเราที่มีมากว่า 300 ปี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ได้มีความพยายามเข้ามารังวัดโดยเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ตามคำร้องของผู้ถือเอกสารสิทธิ์ โดยอ้างว่าเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินและบ้านเรือนของชาวบ้าน จำนวน 11 ไร่ แต่ชาวบ้านกว่า 200 คนร่วมกันชุมนุมคัดค้านไม่ได้มีการรังวัด เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า เนื่องจากเจ้าของที่ดินมี น.ส.3ก. จำนวน 11 ไร่ ออกในปี พ.ศ.2526 ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ การประกาศเป็นพื้นที่เขตอุทนายแห่งชาติ ก็ได้สร้างผลกระทบต่อการทำมาหากินของชาวเลแหลมตุ๊กแก จากการที่ชาวเลที่นี่สามารถออกหาปลาในพื้นที่น้ำตื้นได้ แต่ต้องออกไปหาปลาในน้ำลึก ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรค “น้ำหนีบ” และเสี่ยงต่อการถูกจับจนเกิดเป็นปัญหาหนี้สินหมุนเวียน
นายอีหิ้ม ประมงกิจ อายุ 54 ปี ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคน้ำหนีบจนร่างกายพิการซีกล่าง ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีชาวเลที่ออกเรือหาปลาแล้วโดนทางการอุทยานจับในปี 2553 มี 17 ราย ปี 2554 มี 6 ราย และในปี 2555 มี 9 ราย ซึ่งชาวบ้านที่ถูกจับนั้น ต้องใช้เงินประมาณ 50,000 บาท ในการประกันตัว ซึ่งทำให้ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยกว่า 120 ต่อวัน มาประกันตัวออกไป แต่ก็ต้องจำเป็นในการประกันตัว เพราะไม่มีใครหาเลี้ยงครอบครัว
“ตั้งแต่มีมติครม.ออกมา ก็ทำให้การดำรงชีวิตเปลี่ยน การออกหาปลาต้องออกไปไกลกว่าเดิมมาก ทำให้ตอนนี้ชาวบ้านกลัวในการออกหาปลา จึงอยากให้เอามติออกมาเจรจาในการผ่อนปรน”
แม้จะมีมติจากทางครม.มากว่า 2 ปีแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการผ่อนปรนเขตพื้นที่ให้ออกหาปลาได้ เลย ทำให้แสดงถึงความเอาใจใส่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่ไม่ส่งผลกระทบโดยรวมของประเทศ แต่สำหรับชาวบ้านบางกลุ่มกลับไม่เป็นผล ซ้ำร้าย ยังเป็นการตอกย้ำแผลให้ลึกลงไปอีก
จากปัญหาชาวบ้านสู่นโยบายภาครัฐ
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน “วิกฤติ วิถีชาวเล” ขึ้น ที่บริเวณชุมชนชาวเล หาดราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีเวทีเสาวนาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อหาทางออกในปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ชาวเล
นางสาวนฤมล อรุโณทัย นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า ขณะนี้ สถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวเล ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะ ชาวเลที่อาศัยอยู่ที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ที่กำลังถูกรุกราน จากวัฒนธรรมสมัยใหม่ และความเป็นอยู่แบบคนเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม ที่อาศัยหาอยู่หากินบริเวณทะเลอันดามันมาเป็นเวลานาน มากกว่า 300 ปี จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันมีชุมชนชาวเล 41 ชุมชนกระจายในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา สตูล ตรัง และกระบี่ ประชากรประมาณ 12,000 คน
“มตริครม.มีลักษณะกว้าง ๆ ฉะนั้นจะต้องมีการพูดคุยกันในหลาย ๆ ระดับ ทั้งระดับบริหาร ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ และในส่วนของที่อยู่อาศัยนั้นตามกฎหมายได้ยึดเอาโฉนดเป็นหลักฐานสำคัญ แต่ทางรัฐยังไม่ยอมรับหลักฐานในเชิงมานุษยวิทยา เช่น คำบอกเล่าที่มีมานานหรือสุสานที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ ถ้าสมมติว่าผู้คนในกระบวนการยุติธรรมมีการสืบสาวราวเรื่อง มาเก็บข้อมูลในชุมชนว่าเขาตั้งถิ่นฐานมานานแค่ไหนแล้ว นอกจากนี้แล้วยังต้องรู้ระบบคิดและการทำมาหากิน และอยากให้ในระดับผู้บริหารมาดูเรื่องนี้ด้วย เพราะว่าจะทำให้สามารถคลี่คลายปัญหาได้กว้างขึ้นและร่วมกันวางนโยบาย โดยมองจากล่างขึ้นบน” นางสาวนฤมล กล่าว
จากปัญหาทุกอย่างตั้งแต่ชาวเลเกาะพีพี ชาวเลหาดราไวย์ ชาวเลแหลมตุ๊กแก จนกระทั่งมามองหนทางการแก้ปัญหาของนักวิชาการ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววันนี้ แต่ก็เป็นการปูทางในการแก้ปัญหาแนวใหม่ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมทางกฎหมายที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตและ วัฒนธรรมให้สามารถเดินไปด้วยกันได้ อีกทั้งวิถีของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะต้องควบคู่ไปกับวิถีทางแห่งวิถีชน อย่างไรก็ตามผู้บริหารก็มีส่วนสำคัญในการสางนโยบายในการแก้ไขปัญหา แต่ต้องเป็นนโยบายที่เป็นในเชิงปฏิบัติ ไม่ใช้เป็นนโยบายลมปาก ทั้งนี้ก็เพื่อพี่น้องชาวเลกว่า 12,000 คน ที่ยังต้องได้รับความช่วยเหลือ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต