จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
หากการสื่อสารขัดข้องในช่วงภัย พิบัติ ไม่ว่าจะเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ฯลฯ ไม่เพียงแค่คนในครอบครัวจะห่วงใยญาติมิตรในพื้นที่ประสบภัย แต่การช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็ยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก นิสิตเกษตรจึงพัฒนาแอปพลิเคชันที่ต่อยอดจากการแอปรายงานการจราจร สู่แอปแจ้งตำแหน่งที่ถูกต้องของผู้ประสบภัย พร้อมภาพถ่ายของผู้ประสบเหตุ เพื่อสอบถามผู้เชี่ยวชาญในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ณัฐวุฒิ ถนอมวงษ์ ซึ่งใกล้จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับทีมวิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่า ในช่วงเกิดเหตุภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่ทำลายโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ อาจส่งผลต่อการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย เขาจึงพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟนในระบบแอนดรอยด์เพื่อใช้สำรวจพื้นที่ ประสบภัย
เขาเล่าแนวคิดให้ฟังว่า หากในพื้นที่ประสบภัยมีการจัดศูนย์อพยพ โดยภายในศูนย์มีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหรือแพทย์ และกำหนดให้มีอาสาสมัครออกไปค้นหาผู้ประสบภัยตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งแอปพลิเคชันที่เขาพัฒนาขึ้นนี้จะช่วยให้อาสาสมัคร หรือทีมกู้ภัยส่งข้อมูลผู้ประสบภัยไปยังศูนย์อพยพได้ ทั้งตำแหน่งที่ถูกต้องและภาพถ่ายของผู้ประสบภัยเพื่อให้แพทย์ประจำศูนย์อพยพ ให้คำแนะนำในการดูแลผู้ประสบภัยเบื้องต้น โดยปรากฏข้อมูลของผู้ประสบทั้งตำแหน่งและภาพถ่ายบนแผนที่
ลักษณะการส่งต้อข้อมูลของเครือข่าย "แอดฮ็อก"
ระยะการส่งข้อมูลระหว่างมือถือ โดยไม่ผ่านเครือข่ายของโอเปอเรเตอร์
แอปพลิเคชันดังกล่าวช่วยสร้าง “เครือข่ายแอดฮ็อก” ที่สมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ ซึ่งรับส่งสัญญาณดาวเทียมจีพีเอส (GPS) ได้ด้วย สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างสมาร์ทโฟนด้วยกันได้ผ่านสัญญาณไว-ไฟ ซึ่ง ณัฐวุฒิ กล่าวว่า เขาต่อยอดการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้จากโครงการปริญญานิพนธ์ของรุ่นพี่ ซึ่งพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้เครือข่ายแอดฮ็อก เพื่อรายงานสภาพจราจร โดยเขาได้พัฒนาแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมาสำหรับเป็นปริญญานิพนธ์ของเขาเอง
ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยระหว่างการนำเสนอผลงานในโครงการ MT^2 (Mobile Technology for Thailand) ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์ปาร์ค) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด เมื่อวันที่ 24 เม.ย.55 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และณัฐวุฒิยังเป็นสมาชิก "ห้องปฏิบัติการวิจัยเครือข่ายไร้สาย" (Intelligent Wireless Network Group: IWING)
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ