จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยงการเก็บรายได้รัฐบาลเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณเตือนวิกฤตฐานะการคลังของประเทศที่อยู่ในภาวะถังแตก
ผลการเก็บรายได้ที่ออกมาต่ำกว่าเป้าถึง 3.66 หมื่นล้านบาทนั้นได้สะเทือนเลื่อนลั่น เพราะทำให้ยอดการเก็บรายได้รัฐบาลสะสมเดือนที่ 8 ของปีงบประมาณ 2555 เหลือเกินเป้าไม่ถึง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น
เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เกินเป้ากว่า 3 หมื่นล้านบาท
การเก็บรายได้เดือน พ.ค. เพียงเดือนเดียวสะท้อนให้เห็นว่ารายได้ของประเทศอยู่ในภาวะที่อ่อนแอและ เปราะบาง ทำให้ภาพรวมรายได้ประเทศอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงขึ้นมาทันที
เหตุผลทำให้การเก็บภาษีของรัฐบาลอยู่ในภาวะวิกฤตมาจาก 2 สาเหตุ
อันดับแรกการเก็บภาษีนิติบุคคลของกรมสรรพากร เดือน พ.ค. ต่ำกว่าเป้าถึง 2 หมื่นล้านบาท จากพิษน้ำท่วมผสมโรงกับวิกฤตยูโรโซน ทำให้ผู้ประกอบการรายได้หาย กำไรหด
ยอดการเสียภาษีจึงหายวูบไปในทันที
นอกจากนี้ การลดภาษีน้ำมันดีเซลของกรมสรรพสามิต ทำให้รายได้หายไปเดือนละ 9,000 ล้านบาท
หากนับตั้งแต่ที่รัฐบาลลดภาษีน้ำมันดีเซลมาถึงตอนนี้ ก็ทำให้รายได้ในปีงบประมาณนี้หายวับไปแล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น การเก็บรายได้เดือน พ.ค. ที่ต่ำกว่าเป้าจึงไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะจากปกติรายได้เดือน พ.ค. ที่เป็นช่วงที่การเก็บรายได้จะสูงเป็นอย่างมาก เพราะมีการเสียภาษีนิติบุคคล ในภาวะปกติช่วงที่ผ่านมาเฉพาะการเก็บภาษีเดือนนี้ล้วนแล้วแต่จะทำให้ยอดรวม การเก็บภาษีเกินเป้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
แต่วันนี้สถานการณ์กลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ นอกจากเก็บเพิ่มไม่ได้แล้ว ยังทำให้ภาพรวมของการเก็บรายได้ภาษีของประเทศกลับทรุดลงไปจนอยู่ในอาการ โคม่าและน่าเป็นห่วง
สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ว่า การเก็บรายได้ทั้งปีน่าจะได้ตามเป้า ไม่กระทบกับการเบิกจ่ายงบประมาณ
โดยขณะนี้พบว่ามีรายได้ภาษีที่จัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกินอยู่ 9,000 ล้านบาท จึงจะดึงส่วนนี้กลับมาเป็นรายได้ของรัฐบาล
จะเห็นว่ากระทรวงการคลังเริ่มดิ้น ตัดรายได้จากตรงโน้น ตรงนี้ มาโปะรายได้ภาษีรวมของประเทศ เพื่อรักษาภาพว่า ฐานะการเงิน การคลังของประเทศยังไม่มีปัญหา
ขณะที่กรมสรรพากร ที่เป็นตัวหารายได้หลักของประเทศ ก็เดินหน้าสั่งสรรพากรพื้นที่เดินลุยรีดภาษีผู้ประกอบการยกใหญ่ มีการตรวจเข้มภาษีนิติบุคคลรายใหญ่ร่วม 3,500 ราย ที่เป็นผู้เสียภาษีถึง 80% ของภาษีนิติบุคคล ให้มีการเสียภาษีงวดกลางปีในเดือน ส.ค.นี้ให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังสั่งสรรพากรพื้นที่เอกซเรย์ผู้ประกอบการที่เสียภาษีใน 20 อันดับแรกของแต่ละพื้นที่ ให้มีการเสียภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกทางหนึ่งด้วย
แน่นอนว่า มาตรการแบบนี้ทำให้บรรดาผู้ประกอบการที่เป็นเป้าถูกรีดภาษี จะออกมาโวยกรมสรรพากรเป็นการใหญ่ เพราะอยากให้การเก็บภาษีกระจายไปในทุกกลุ่ม ไม่ได้ปักธงที่ผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว
เพราะลำพังที่ผ่านมาเจอทั้งน้ำท่วม นโยบายขึ้นค่าจ้างของรัฐบาล และยังมีพิษเศรษฐกิจยุโรปขนาบข้างมาอีกเรื่อง ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน และยังมาโดนรีดภาษีเพิ่ม จะทำให้ล้มทั้งยืน
อย่างไรก็ตาม การรีดภาษีของกรมสรรพากร อย่างหนัก ก็ยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่ารายได้ของรัฐบาลจะได้ตามเป้า
เพราะในส่วนของกรมสรรพสามิตยังเก็บต่ำกว่าเป้า โดยเฉพาะการลดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลที่คาดว่าทั้งปีรายได้จะหายไปถึง 1 แสนล้านบาท
นั่นหมายความว่าช่วงเวลาที่เหลือ 4 เดือน กรมสรรพากรต้องเก็บภาษีให้ได้เกินเป้าถึง 1 แสนล้านบาท หรือเดือนละ 2.5 หมื่นล้านบาท จึงจะนำมาอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นได้
ในทางปฏิบัตินั้นเห็นท่าทางจะเป็นจริงได้อยาก
ความวัวไม่ทันจางหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เมื่อ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ยังออกมาปรามกรมสรรพากรในการไล่บี้เก็บภาษีจากบรรดาผู้ประกอบการ โดยสั่งให้เก็บภาษีแต่งวดปัจจุบันและในอนาคต โดยห้ามเตะต้องการทำงานในลักษณะเป็นการเก็บภาษีย้อนหลังจนทำให้ภาคธุรกิจ ต้องเดือดร้อน
นโยบายดังกล่าวจึงทำให้แผนการไล่ล่ารีดภาษีของกรมสรรพากรต้องชะงักงัน เหยียบเบรกไม่ทันกันในทุกพื้นที่
เพราะในยามที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง การไล่เบี้ยเก็บภาษีย้อนหลังกับผู้เสียภาษีไม่ครบถ้วน ถือเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการหาเงินมาเติมถังเงินของประเทศไม่ให้แตก
แต่เมื่อเจ้ากระทรวงออกมาเบรก ก็ต้องทำให้ผู้ปฏิบัติชะงัก ทำให้รายได้ของประเทศทั้งปีตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่ถังแตกมากขึ้น
หากเกิดปรากฏการณ์ถังแตก เก็บรายได้ไม่เข้าเป้า นี่อาจจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี เป็นประวัติศาสตร์และผลงานที่รัฐบาลไม่อยากจดจำก็ได้
นอกจากนี้ กิตติรัตน์ ยังมีนโยบายที่เป็นความเสี่ยงกับรายได้ของประเทศเพิ่มเติมเข้ามาอีก โดยมีการเชิญให้ผู้ประกอบการเข้ามาเสียภาษีให้มากขึ้น เพราะรัฐบาลมีแผนการลดภาษีให้ต่ำกว่า 20% หลังปี 2556 ซึ่งนั่นหมายความว่ารายได้ของในประเทศจะสาหัสมากขึ้นกว่านี้ไปอีก
ลำพังการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปีนี้ และ 20% ในปีหน้า ก็ทำให้รายได้ของกรมสรรพากรหายไปแล้ว 1.5 แสนล้านบาท
ยังมีการลดภาษีจากนโยบายของรัฐบาล ผ่านสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในหลายมิติ ตัวอย่างเช่น ให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนด้านการประหยัดพลังงาน สามารถนำเงินลงทุนมาหักภาษีได้โดยตรง ซึ่งทำให้ภาษีกรมสรรพากรหายไปไม่ใช่น้อย
การลดอัตราภาษี และการให้หักภาษีจากการลงทุน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพากรไม่เข้าเป้า และส่งผลกระทบภาพรวมของประเทศเป็นไข้จับสั่นอยู่ทุกวันนี้
ทั้งหมดยังไม่รวมกับการลดภาษีตัวอื่นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีบุคคลธรรมดา ที่ต้องทำให้ภาษีหายไปเป็นหมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะหากไม่ลดจะถูกครหาว่าลดภาษีนายทุน แต่ยังรีดภาษีมนุษย์เงินเดือนที่หาเช้ากินค่ำ
การดำเนินการแยกยื่นภาษีสามี ภรรยา ก็ทำให้รายได้ของกรมสรรพากรหายไปอีกปีละหลายพันล้านบาท เป็นเรื่องที่กรมสรรพากรเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้วว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ถูก ต้อง
แม้ว่ากรมสรรพากรจะดำเนินการแก้กฎหมายให้มีการแยกยื่นไม่ทัน แต่ก็มีนักกฎหมายตีความว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีผลบังคับแล้ว แม้ว่ากรมสรรพากรจะไม่แก้กฎหมายก็ตาม
เมื่อมองไปรอบด้านจะเห็นหนทางที่สะท้อนว่า การเก็บรายได้ของประเทศมีแต่ลดลง เพราะนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเอาใจนายทุน ส่งผลกระทบให้ต้องไปลดภาษีตัวอื่นตามไปด้วย
การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่เป็นเจ้าพ่อบุญทุ่ม เป็นรัฐบาลที่ให้แหลกแจกสะบัด ทำให้รัฐบาลติดหล่มเป็นรัฐบาลลด แลก แจก แถม จนไม่กล้าที่จะเก็บภาษีหารายได้เพิ่ม เพราะจะทำให้เสียฐานคะแนนนิยมรัฐบาล
ยิ่งรัฐบาลประกาศชัดว่าจะไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ซึ่งการขยายเวลาลดภาษีดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้ แม้ว่าหลายฝ่ายเสนอให้รัฐบาลเก็บเพิ่มขึ้น
ขณะที่ข้อเสนอของกรมสรรพสามิตเสนอให้มีการเก็บภาษีธุรกิจบาป เบียร์ สุรา บุหรี่ รวมถึงปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ แต่รัฐบาลสั่งเก็บเข้าลิ้นชัก เพราะไม่อยากให้กระทบนายทุนใกล้ชิดการเมือง
เมื่อรายได้เดิมยังชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้ใหม่ไม่หาเพิ่ม แต่รัฐบาลยังเดินหน้าใช้จ่ายมือเติบ จากโครงการประชานิยมอย่างมันมือ ก็ยิ่งทำให้รายได้ของประเทศตกลงสู่ก้นเหวมากขึ้น
ยิ่งเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่เต็มใจ ปัญหายูโรโซนทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวเหลือแค่ครึ่งเดียว เศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 5-6% ก็เป็นเรื่องยาก และเมื่อเศรษฐกิจโตไม่ได้เป้า รายได้ที่จะเก็บได้ก็ต้องน้อยตามลงไปอีก
การเก็บรายได้ของประเทศ ที่จะปิดหีบภาษีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงอยู่ในอาการโคม่าอย่างหนัก เพราะทั้งสถานการณ์โดยรวม และนโยบายของรัฐบาล ล้วนแต่เป็นผลลบที่ทำให้การเก็บรายได้เข้าสู่ภาวะถังแตกทั้งนั้น...
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ