จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
สกว. - มะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ สูง ในการส่งออก ทำให้รายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก โดยตลาดส่งออกมะม่วงที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน เกาหลี ไต้หวัน ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ก็ถือเป็นตลาดใหม่ที่น่าจะมีแนวโน้มการส่งออกได้ดีเช่นกัน เนื่องจากราคาในท้องตลาดของประเทศเหล่านี้ค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงต้องพัฒนาการส่งออกมะม่วงให้สามารถแข่ง ขันกับตลาดโลกให้มากขึ้น ทั้งในแง่ต้นทุนและคุณภาพของมะม่วงที่ทำการส่งออก
จากการศึกษาของ ผศ.ดร.จาตุพงศ์ วาฤทธิ์ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่าปัญหาสำคัญของการส่งออกมะม่วง คือ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อกำจัดกักกันหนอนแมลงวันทองหรือแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นแมลงที่ทำลายผลไม้ได้หลายชนิด
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะใช้การอบไอน้ำเพื่อกำจัดหนอนแมลงวันทอง สำหรับการส่งออกมะม่วง แต่วิธีการนี้ใช้ระยะเวลานาน จากการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการส่งออกในจังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่าเมื่อมะม่วงผ่านการอบไอน้ำในระดับอุตสาหกรรมแล้ว บางส่วนจะเกิดการเสียหายเนื่องจากความร้อนที่ได้รับระหว่างการอบไอน้ำ ซึ่งจะปรากฏให้เห็นชัดเจนที่ปลายทางขนส่งในต่างประเทศ ทำให้สูญเสียรายได้จากการขายผลผลิต
นอกจากนี้จากข้อมูลของศูนย์พัฒนาการผลิตและควบคุมศัตรูผักผลไม้เพื่อ การส่งออก ระบุว่าการอบไอน้ำโดยให้จุดเย็นสุดที่ชิดเมล็ดของผลมะม่วงอาจทำให้มะม่วง เกิดความเครียดเนื่องจากความร้อน ทำให้คุณภาพของผลมะม่วงลดลง รวมทั้งใช้ระยะเวลานานทำให้ต้นทุนสูง
ผศ.ดร.จาตุพงศ์และคณะจึงศึกษาการใช้คลื่นไมโครเวฟในการให้ ความร้อนแก่มะม่วงเพื่อการส่งออก ด้วยการพัฒนาเทคนิคการอบร้อนมะม่วงด้วยไมโครเวฟ เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟสามารถกำเนิดความร้อนภายในเนื้อของอาหารได้อย่างรวด เร็ว โดยระยะแรกคณะวิจัยได้ทดสอบเพื่อดูการกระจายตัวของความร้อนในผลมะม่วง
จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการทดลองในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการอบร้อนให้สมบูรณ์โดยใช้ไมโครเวฟร่วมกับไอน้ำ และทำการลดอุณหภูมิให้ได้ระดับที่สามารถเก็บรักษาโดยไม่มีการเสียหายเชิง คุณภาพ
คณะวิจัยทดลองใช้คลื่นไมโครเวฟในมะม่วง 2 พันธุ์ คือ โชคอนันต์และน้ำดอกไม้สีทอง ขนาด 300-350 กรัม/ผล พบว่าอุณหภูมิที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดกักกันหนอนแมลงวันทองควรสูงกว่า 46 องศาเซลเซียส โดยมีช่วงเวลาการรักษาอุณหภูมิคงที่ที่แตกต่างกันได้ถึง 20 นาที ในการพัฒนากระบวนการอบร้อนด้วยไมโครเวฟขนาด 400 วัตต์ ในเวลาไม่เกิน 1 นาที ได้อุณหภูมิภายในผลมะม่วงในระดับ 48-55 องศาเซลเซียส ร่วมกับไอน้ำ ตามด้วยการอบไอน้ำเพื่อคงอุณหภูมิมะม่วงไว้
จากนั้นจึงลดอุณหภูมิด้วยน้ำเย็น เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพดี สามารถลดระยะเวลาการอบร้อนทั้งกระบวนการเมื่อเปรียบเทียบกับการอบด้วยไอน้ำ ปกติได้มากกว่า 90% ในช่วงการให้ความร้อนขั้นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่ามีอัตราการตายของหนอนระยะไข่ 100% ส่วนการเปลี่ยนแปลงสมบัติทางกายภาพและเคมี ได้แก่ สี ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้
ปริมาณสารที่ละลายน้ำทั้งหมด พบว่าไม่มีความแตกต่างจากมะม่วงสด และมีผลให้เกิดความเสียหายในมะม่วงเนื่องจากความร้อนน้อยกว่าการอบด้วยไอน้ำ แบบปกติ โดยไม่พบความเสียหายที่เปลือกแต่มีการเสียหายในเนื้อเพียงเล็กน้อยแค่ 1.1% เท่านั้น ซึ่งดีกว่าการอบด้วยไอน้ำที่มีอัตราการเสียหายทั้งที่เปลือกและเนื้อมะม่วง ในปริมาณที่สูงกว่า
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.จาตุพงศ์กล่าวว่า การใช้ไมโครเวฟยังมีจุดอ่อนอยู่เล็กน้อย ได้แก่ การเกิดความร้อนสูงเป็นบางจุดในเนื้อมะม่วงเนื่องจากการรวมศูนย์ของไมโครเวฟ หากมีการศึกษาเชิงลึกถึงลักษณะของสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ก็จะสามารถออกแบบระบบที่ทำให้มีการกระจายตัวของคลื่นไมโครเวฟได้สม่ำเสมอ และสามารถลดข้อจำกัดที่เป็นจุดอ่อนของวิธีการนี้ลงได้ในอนาคต
ผลงานวิจัยนี้นับเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ มีอยู่ในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมเกษตรจากต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังเป็นโครงการวิจัยแบบสหวิทยาการขนาดเล็กที่ใช้องค์ความรู้พื้น ฐานทั้งทางด้านวิศวกรรม กีฏวิทยา และเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการส่งออกผลไม้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการวิจัยยังใช้เป็นเทคโนโลยีต้นแบบเพื่อใช้สำหรับ การส่งออกผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติทางกายภาพใกล้เคียงกับมะม่วงได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังต้องการการขยายผลเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจะสามารถดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีให้พร้อมสำหรับอุตสาหกรรมส่งออกมะม่วง ได้ในอนาคต
ผู้สนใจวิธีการใช้คลื่นไมโครเวฟในการให้ความร้อนแก่มะม่วงเพื่อการ ส่งออก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.จาตุพงศ์ โทร. 0-53878-113
การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,รักษ์ไม้,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก