จาก เดลินิวส์ออนไลน์
การ ใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากจะทำให้โครงสร้างของดินเสีย สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมแล้ว ยังทำให้บรรดากบ เขียดในนาล้มตายไปด้วย เปรียบเสมือนการฆ่าช้างเอางา เพราะไม่เพียงแต่เราจะฆ่าหอยซึ่งเป็นศัตรูพืชในนาเราเท่านั้น เรายังทำให้สัตว์อื่น ๆ ที่อยู่ละแวกใกล้เคียง อย่าง ปู ปลา ตายไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก” นี่คือคำพูดของ นายสมัคร ฟักทองอยู่ หมอดินอาสา
นายสมัคร เป็น หมอดินอาสาประจำตำบลวังกระจบ อำเภอเมือง จังหวัดตาก ที่ประสบความสำเร็จในการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยใช้ หญ้าแฝก ปลูกขวางความลาดเทผสมผสานเทคโนโลยีชีวภาพ ปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ ได้แก่ การสร้างบ่อดักตะกอนดิน เพื่อดักตะกอนดินลดความสูญเสียหน้าดิน ช่วยชะลอความเร็วของน้ำไหลบ่า ทำให้ดินมีความชุ่มชื้นมากขึ้น และปรับรูปแปลงนา โดยขุดและยกระดับคันดินรอบแปลงนา โครงสร้างทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำหลากท่วมแปลงนาในฤดูฝนและยังสามารถกัก เก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มเกษตรกรกัน ผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง และสาธิตการผลิตปุ๋ยหมักจากฟางข้าว โดยใช้สารเร่งซูเปอร์ พด.1 และผลิตน้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอร์รี่ โดยใช้สารเร่ง ซูเปอร์ พด.2 อีกทั้งยังประดิษฐ์เครื่องคลุกเคล้าวัสดุแทนการใช้จอบ และรถดัมพ์เพื่อขนวัสดุอีกด้วย
หมอดินสมัคร เล่าว่า ตนมีอาชีพในการทำนาเป็นหลักควบคู่กับปลูกพืชผักสวนครัว ทำการเกษตรแบบผสมผสาน และปลูกพืชสมุนไพรบ้าง ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีก็ทำการเกษตรแบบเกษตรกรทั่วไปที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสาร เคมีกำจัดศัตรูพืชในการเพาะปลูก จึงประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไม่คุ้มค่ากับรายได้ที่ตอบแทนมา สักเท่าไร จนกระทั่งได้สมัครเข้าเป็นหมอดินอาสากับกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ตลอดจนการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนเทคนิคการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีต่าง ๆตนจึงได้นำแนวทางเหล่านี้มาปรับใช้กับพื้นที่ของตน โดยเฉพาะการทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลงไม่น้อยกว่า 20% สิ่งแวดล้อมดีขึ้น หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงเลิกใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด
เมื่อเห็นผลดีของการลด ละ เลิกการใช้สารเคมี โดยหันมาพึ่งพาปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถผลิตเองได้ จึงแนะนำให้เกษตรกรรายอื่นหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีด้วย ปัจจุบันพื้นที่ของหมอดินสมัคร จำนวน 8 ไร่ ได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกษตรกรในละแวกใกล้เคียงหรือเกษตรกรทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ โดยเฉพาะวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองที่ไม่ค่อยมีที่ไหนทำกัน จะได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
สำหรับวิธีการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง ของที่นี่เริ่มจากการหาเศษพืช อย่างเช่น เศษฟางข้าว เศษหญ้า หรือซังข้าวโพด ที่หาได้ในท้องถิ่น มาผ่านกรรมวิธีการบดให้ละเอียด หลังจากนั้นนำมาใส่ลงในรางที่เตรียมไว้ รางละประมาณ 4-5 ตัน ใส่น้ำให้ชุ่มเพื่อให้มีความชื้น แล้วนำไปเข้าเครื่องผสมหรือเครื่องโม่ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง เพื่อคลุกเคล้าให้เขากัน แล้วใส่มูลสัตว์ลงไปผสมให้เข้ากันโดยใส่น้ำลงไปขณะผสมด้วย เพื่อให้มูลสัตว์ที่นำลงไปผสมมีความชื้น เมื่อคลุกเคล้าเข้ากันดีแล้ว จึงดัมพ์ขึ้น (เป็นเครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกแทนการใช้จอบกลับกอง ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและแรงงานได้มาก) เทลงพื้นแล้วจึงทำการบรรจุใส่กระสอบเพื่อเก็บไว้ใส่แปลงพืชที่ปลูกไว้ต่อไป
“อยากให้พี่น้องเกษตรกรทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นนาปี นาปรัง หรือพืชสวน ต่าง ๆ อยากให้หันกลับมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้นและใช้สารเคมีน้อยลง เพราะว่าสารเคมีนั้นเป็นมหันตภัยที่ใหญ่หลวง ต้องรู้จักวิธีใช้เพราะเมื่อใช้ไปแล้วมีแต่ผลกระทบต่าง ๆ มากมาย เปรียบเสมือนศัตรูเงียบที่คืบคลานเข้ามาทำร้ายเราอย่างเลือดเย็น ลองหันกลับมามองดูว่า ทำไมสมัยปู่ย่า ตายาย ถึงทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีแล้วยังอยู่ได้ ดังนั้น เราเองก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม อยากให้หันกลับมามองวัตถุดิบในท้องถิ่นว่ามีอะไรบ้างที่จะมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ได้ เช่น เศษฟางข้าว หรือตอซัง แทนที่จะเผาทิ้งให้เสียเปล่าอีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมลพิษเราหันมาไถกลบซึ่ง ได้ประโยชน์มากกว่าคือเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ถึงแม้อาจจะเห็นผลช้าไปหน่อย แต่ถ้าทำอย่างต่อเนื่องจะเป็นการสร้างผลดีกับดินอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้อยู่คู่กับลูกหลานเราไปนาน ๆ ด้วย” หมอดินสมัคร ฝากแง่คิดทิ้งท้าย
สำหรับเกษตรกรรายใดที่สนใจการทำการเกษตรแบบเดียวกับ นายสมัคร ฟักทองอยู่ สามารถติดต่อขอความรู้เพิ่มเติมไปได้โดยตรงที่ 51 บ้านแก่งหิน หมู่ที่ 2 ต.วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก หรือที่เบอร์โทรศัพท์ 08-4492-4406.