จาก นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน
การุณย์ มะโนใจ
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ บ้านห้วยหญ้าไซ
สืบ เนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ณ บ้านห้วยหญ้าไซ ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ได้มีพระราชดำริ จะอพยพราษฎรที่มีฐานะยากจน ไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตัวเอง มาจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ ในลักษณะ "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ในพื้นที่ต้นน้ำแม่ตาช้าง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตาช้าง ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ โดยที่ "คน" สามารถอยู่ร่วมกับ "ป่า" ได้อย่างมีจิตสำนึก ในการมีส่วนร่วมพิทักษ์รักษา "ป่า" และฟื้นฟูสภาพ "ป่า" ที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์เพื่อรักษาความสมดุลระบบนิเวศอย่าง ยั่งยืน
ความเป็นมา หลักการและเหตุผล
กองทัพภาค ที่ 3 โดยจังหวัดทหารบกเชียงรายได้ประสานงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อสำรวจ ภูมิประเทศ และข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ ในห้วงระยะเวลา ระหว่าง วันที่ 31 สิงหาคม-28 ธันวาคม 2542 ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดทหารบกเชียงราย ผู้แทนกองทัพภาคที่ 3 ผู้แทนสำนักพระราชวัง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ (กปร.) ผู้แทนสำนักงานพัฒนาที่ดินเชียงราย และหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตาช้าง ผลการสำรวจเบื้องต้นสรุปได้ว่า พื้นที่ที่จะจัดตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณแหล่งต้นน้ำแม่ตาช้าง เป็นพื้นที่ทำกินเก่าของชาวเขาเผ่าอาข่า (พิกัด NB 441891) ซึ่งฝ่ายปกครองได้อพยพออกไปเมื่อ 8 ปีก่อนแล้ว พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านห้วยหญ้าไซไปทิศเหนือ ประมาณ 13 กิโลเมตร อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย หมู่ที่ 9 ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
วันที่ 16 มกราคม 2543 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่จัดตั้งหมู่บ้าน ตามพระราชดำริ เมื่อปี 2542 หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตาช้าง ได้ถวายรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ป่า พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน รวมพื้นที่ จำนวน 15,000 ไร่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับทราบและทอดพระเนตรพื้นที่โดยรอบด้วยความพอพระทัย ได้ตรัสขึ้นว่า "นี่แหละที่ฉันฝันไว้" ซึ่งหมายถึงว่า พื้นที่ที่จะจัดตั้งหมู่บ้าน ตรงกับที่พระองค์ทรงอยากจะให้เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ (คุณสหัส บุญญาวิวัฒน์) ได้ขอพระราชทานชื่อ "โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ" พระองค์ได้มีพระมหากรุณาธิคุณให้ใช้ชื่อโครงการดังกล่าวได้ เมื่อเวลา 16.29 น. และจะได้นำราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ซึ่งไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง จำนวน 21 ครอบครัว จำนวนประชากร 92 คน จากบ้านร่มฟ้าทอง ตำบลตับเต่า อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จำนวน 17 ครอบครัว และจากบ้านห้วยสลัก ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย จำนวน 4 ครอบครัว เข้ามาอยู่ในโครงการเป็นการสนองพระราชดำริที่จะให้ "คน" อยู่ร่วมกับ "ป่า" โดยที่ "คน" ไม่ทำลาย "ป่า" ดังพระราชดำรัสของพระองค์ ที่ได้ตรัส ไว้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา "12 สิงหา มหาราชินี" ว่า "เพราะตกลงกับเขาก่อนแล้วว่าจะไม่มีการถางป่าหรือบุกรุกป่าเข้าไปอีก ถ้าอยากอยู่กับข้าพเจ้าในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ก็ต้องหยุด ชาวบ้านแถวนี้ต้องเป็นผู้สนับสนุนทะนุบำรุงป่าไปในตัว"
พื้นที่เป้า หมายเพื่อดำเนินการ บริเวณต้นน้ำแม่ตาช้าง เป็นพื้นที่ทำกินเก่าของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า (พิกัด NB 441891) อยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย หมู่ที่ 9 ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โดยมีเนื้อที่ดำเนินการ จำนวน 15,000 ไร่ จำแนกเขตป่าตามลักษณะพื้นที่ (Zoning) ออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. พื้นที่ป่าธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ จำนวน 3,500 ไร่ หรือ 23.33% ของพื้นที่
2. พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม จำนวน 7,000 ไร่ หรือ 46.67% ของพื้นที่
3. พื้นที่ไร่เลื่อนลอย จำนวน 4,500 ไร่ หรือ 30% ของพื้นที่
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่า ได้อย่างสงบสุข มีส่วนร่วมพิทักษ์รักษาป่า และฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
2. เพื่อให้พื้นที่ต้นน้ำลำธาร สามารถอำนวยน้ำที่มีคุณภาพดี มีปริมาณพอเพียง และมีการกระจายจ่ายแจกได้อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงท้ายน้ำ
3. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกของราษฎรให้เกิดความรัก และหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่ และที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่
กรอบแนวคิดการพัฒนา
แนว คิดการพัฒนาโครงการตามพระราชดำรินั้น จะต้องนำพระราชดำริมาจัดทำแผนอย่างมีระบบ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมตามลักษณะสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงในพื้นที่นั้นๆ โดยมีงบประมาณเป็นตัวกำหนดปริมาณงานให้สำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับแผนพัฒนาป่าไม้นั้น ได้สนองพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ โดยมุ่งเน้นให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน คนไม่ทำลายป่า และปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังได้นำพระราชดำริ "ป่าเปียก" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งเป็นทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้ โดยการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างแนวป้องกันไฟเปียก โดยการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน เพื่อกักเก็บน้ำชะลอความชุ่มชื้นและกักเก็บตะกอนไว้บางส่วน
ปัญหาของ ราษฎรในพื้นที่คือ การขาดแคลนข้าวในการบริโภค ในส่วนของศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ได้รับมอบหมายจากกรมการข้าว เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 ให้รับผิดชอบ แนะนํา และส่งเสริมเรื่องการผลิตข้าว ของเกษตรกรให้เพียงพอต่อการบริโภค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตข้าวนาดําบนที่สูงแบบขั้นบันไดเป็นต้นแบบการใช้พื้นที่ สําหรับการปลูกพืชบนที่สูงแบบอนุรักษ์ และพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน มีเป้าหมายให้เกษตรกรได้รับความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เกษตรกรมีข้าวเพียงพอต่อ การบริโภค การดําเนินงานมีขั้นตอนการดําเนินงาน คือถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการปลูกข้าวนาดําแบบขั้นบันไดให้เกษตรกร จํานวน 21 ครอบครัว พื้นที่ประมาณ 47 ไร่ ติดตาม ดูแล แก้ไขปัญหา รวบรวมข้อมูล และรายงานผลการดําเนินงาน การดําเนินงานมีการจัดทําแปลงเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวนาดําบนที่สูงแบบขั้นบันไดและติดตามการประเมิน ผล ประชุมชี้แจงเกษตรกร และร่วมวางแผนการดําเนินงาน ในฤดูนาปี 2553 จัดทําแปลงเรียนรู้การปลูกข้าวนาดําแบบขั้นบันได สนับสนุนปัจจัยการผลิตตามความจําเป็น ติดตาม ดูแล แก้ไขปัญหา การปลูกข้าวของเกษตรกร เก็บเกี่ยวข้าว บันทึกข้อมูลต่างๆ และรายงานสรุปผลการดําเนินงาน
ผลการดําเนินงาน ฤดูนาปี 2553 ประชุมชี้แจงเกษตรกร และร่วมวางแผนดําเนินงานโดยมี เกษตรกรเข้าร่วม จํานวน 21 ครอบครัว พื้นที่ประมาณ 47.50 ไร่ เป็นแปลงนาดําทั้งหมด ใช้ข้าวพันธุ์บือโปะโละ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรใช้ปลูกในพื้นที่โครงการ และได้มีการจัดทําแปลงเรียนรู้การทํานาดําแบบขั้นบันได จํานวน 1 แปลง พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ตกกล้า (แห้ง) ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 ปักดำ วันที่ 28 มิถุนายน 2553 เก็บเกี่ยว วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 ให้เกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม แต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การดูแลรักษาการเฝ้าสังเกต โรค แมลง และการป้องกันกําจัด โดยให้เกษตรกรนําความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติในแปลงนาของตนเอง ใช้ระยะปลูก 25x25 เซนติเมตร หลังปักดําให้เกษตรกรดูแลเรื่อง น้ำ วัชพืช และสัตว์ศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวโดยใช้เคียว ระหว่าง วันที่ 10-30 พฤศจิกายน 2553 ตากโดยวิธีสุมซัง ประมาณ 3-4 วัน แล้วนวดโดยวิธีฟาด
จาก ผลการดําเนินงานในฤดูนาปี 2553 ผลผลิตข้าวที่ได้ รวม 21,875 กิ โลกรัม จํานวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 21 ครอบครัว แยกเป็นผู้ใหญ่ จํานวน 79 คน เด็ก จํานวน 34 คน อัตราบริโภคทั้งปี ประมาณ 24,850 กิโลกรัม (ข้าวเปลือก) ปรากฏว่า ผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ ในฤดูนาปี 2553 ของเกษตรกร ส่วนใหญ่เพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี และยังมีเกษตรกรบางรายที่ผลผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค เนื่องจากมีพื้นที่ทํานาน้อย สภาพแปลงนาเป็นนาขุดใหม่ กักเก็บน้ำไม่อยู่ และยังพบปัญหาโรคไหม้ในระยะกล้าจนถึงระยะแตกกอ
โครงการนี้เป็นเพียง หนึ่งในพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้พระราชทานให้พสกนิกรชาวไทย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยของพระองค์ ที่ปรากฏขึ้นในประเทศ ซึ่งก็ยังมีโครงการลักษณะนี้ในอีกหลายพื้นที่ ที่พสกนิกรผู้อยู่ในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ หรือผู้ที่ได้รับรู้ถึงการดำเนินงานตามโครงการในพระราชดำริตามพื้นที่ต่างๆ ต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ