สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลกระทบของ “มลพิษทางอากาศ” ต่อระบบเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิต

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ดุลยธรรม โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 

ปัญหามลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ปัญหาขยะล้นเมืองและขยะมีพิษ รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ของกรุงเทพฯและปริมณฑล จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ และไม่มีมาตรการเชิงรุกทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ จึงขอเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้

มาตรการแรก ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ลดการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

มาตรการที่ 2 ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยมีการกำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจนสำหรับแหล่งปล่อยมลพิษแต่ละประเภท การกำหนดค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษ หรือการควบคุมการปล่อยมลพิษ วิธีนี้อาจมีจุดอ่อนในแง่ที่ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการลดมลพิษที่แตกต่างกัน และไม่ได้ปรับเปลี่ยนต้นทุนหน่วยสุดท้ายในการก่อมลพิษ

มาตรการที่ 3 ควรศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ แต่ภาษีสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดมลพิษและปกป้องสิ่งแวดล้อม การที่รัฐ

มีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมมากนั้นหมายความว่า รัฐนั้นย่อมมีการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย ดังนั้น รายได้จึงมิใช่เป้าหมายของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม

โดยหลักการที่สำคัญของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม คือ หลักการ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย (polluter pay principle) กล่าวคือ ผู้ก่อมลพิษทางอากาศ หรือมลพิษใด ๆ ควรเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย

ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ไปในการควบคุม บำบัด และป้องกันมลพิษ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ต้นทุนของการใช้มาตรการต่าง ๆ ของรัฐในการควบคุมและป้องกันมลพิษ ควรจะสะท้อนออกมาเป็นต้นทุนภายในของการผลิต และการบริโภคสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดมลพิษ

ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง หรือการซื้อขายใบอนุญาตสิทธิในการปล่อยมลพิษ หรือซื้อขายสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติก็ได้ หรืออาจใช้ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ ภาษีและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และระบบรับซื้อคืน การวางประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยควรมีการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

มาตรการที่ 4 สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ประเภทที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้

มาตรการที่ 5 ต้องยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง

มาตรการที่ 6 ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5

มาตรการที่ 7 สนับสนุนให้มีการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด โดยปรับเปลี่ยนให้รถสาธารณะให้เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานสะอาด

มาตรการที่ 8 เสนอระบบพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ช่วยลดปัญหา

สิ่งแวดล้อม พร้อมใช้นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เน้นการเติบโตแบบยั่งยืน

เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดใช้พลังงานจากถ่านหิน หรือพลังงานจากฟอสซิลลง

มาตรการที่ 9 การปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลง และทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้

มาตรการที่ 10 ปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง ทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ควรทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง นอกจากนี้ การใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ EEC ยังทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อาจทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศแบบมาบตาพุดปะทุขึ้นมาได้อีกในอนาคต

ส่วนมาตรการลดมลพิษทางอากาศที่อาจไปเพิ่มภาระหรือต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนนั้น อาจต้องมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือ หรือสินเชื่อ

เพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การห้ามไม่ให้รถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์วิ่งบนท้องถนน การกำหนดอายุการใช้งานรถยนต์ การห้ามรถยนต์บางประเภทวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นในในบางช่วงเวลา เป็นต้น

ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตของทุกคน จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนจึงสามารถทำให้แก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน หากรัฐบาลปล่อย

ให้ปัญหามลพิษทางอากาศยืดเยื้อไป

เกินกว่า 2 เดือน จะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตรุนแรงมากขึ้น

ในส่วนของผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นอาจสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500 ล้านบาท จากการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯและปริมณฑล การชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้ง และโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพ

นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยและคนจนในกรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนงานก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้าริมถนน หรือผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในพื้นที่มลพิษเข้มข้นสูง ตำรวจจราจร พนักงานเก็บขยะ พนักงานทำความสะอาดถนน พนักงานขับรถสาธารณะและกระเป๋ารถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งไม่มีเครื่องป้องกันผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ และมีสุขภาพย่ำแย่ลง โดยมีผลวิจัยชี้ว่าตำรวจจราจรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ปฏิบัติงานริมถนนในกรุงเทพฯ มีอายุขัยเฉลี่ยลดลง

นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องเผชิญการจราจรติดขัดที่ต้องอยู่บนท้องถนนเกิน 4 ชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น

มีข้อน่าสังเกตว่า เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

งานวิจัยของธนาคารโลกชี้ด้วยว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการแก้ไข สูงถึง 20% ของจีดีพีโลก

รายงานประเมินผลกระทบมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลกยังชี้ว่า ทุก ๆ ปีมีประชากรจากทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษรุนแรงทางอากาศมากกว่า 7 ล้านคน ขณะที่ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีค่ามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70

โดยเฉพาะเมืองที่มีปัญหาความยากจนจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่เมืองในยุโรปมีสถานการณ์เรื่องมลพิษทางอากาศดีขึ้นอย่างชัดเจน จากการส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ระดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศในสแกนดิเนเวียยังทำให้การลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจมีคุณภาพสูง คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดการทำร้ายสุขภาพของประชาชนอีกด้วย


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต

Tags : ผลกระทบของ “มลพิษทางอากาศ” ต่อระบบเศรษฐกิจ-คุณภาพชีวิต

view