จากประชาชาติธุรกิจ
ความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะผลักดันประเทศ จากการทำอุตสาหกรรมหนักสู่ภาคบริการ เพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ดูจะประสบความสำเร็จไม่น้อย
ปี 2560 ที่ผ่านมา ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นทะลุกว่า 28 ล้านคน มากกว่าที่หลายคนคาดคิดไว้ และแม้แต่ “ชินโซ อาเบะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็คาดไม่ถึง จนดูเหมือนว่าการจะไปสู่เป้าหมายกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวให้ถึง 40 ล้านคนภายในปี 2020 ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝัน
ทำไมใคร ๆ ก็ไปญี่ปุ่น ? นอกจากวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ธรรมชาติที่สวยงาม สถานที่ท่องเที่ยวน่าตื่นตา ตลอดจนการเป็นเมืองแห่งการช็อปปิ้ง และอะนิเมะ เหล่านี้ถือเป็นไม้ตายสำคัญในการดึงนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในเอเชีย ให้พร้อมใจกันยกขบวนเยือนดินแดนแห่งดอกซากุระ นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้ทางการญี่ปุ่นยังมีแนวคิดจะผลักดันให้ “กาสิโน” กลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายในญี่ปุ่น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ที่รักการเสี่ยงโชคอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นจะไปได้สวย แต่ขณะเดียวกันมันก็สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นควบคู่กันด้วย
ในระยะหลัง พลเมืองชาวญี่ปุ่นมักจะได้ยินคำคำหนึ่งจากสื่อญี่ปุ่นบ่อย ๆ นั่นคือ “มลพิษนักท่องเที่ยว” แม้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวจะดีต่อเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม แต่บางพื้นที่ของประเทศ ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ไม่มีศักยภาพพอจะรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เกียวโต” อดีตเมืองหลวงของแดนอาทิตย์อุทัย เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในกรณีนี้สำนักข่าวอาซาฮี ชิมบุน รายงานสถานการณ์น่าสนใจเมื่อปลายเมษายนว่า ปัจจุบันเกียวโตมีนักท่องเที่ยวทะลักเข้าไปจำนวนมาก
“มาซารุ ทาคายามะ” ชาวเมืองเกียวโต และเจ้าของบริษัทการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้สัมภาษณ์ว่านักท่องเที่ยวล้นเมืองเป็นปัญหาที่คนในเมืองส่วนใหญ่ไม่พอใจนัก สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ สายรถบัสที่วิ่งไปในเส้นทางที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ทั้งคันเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว กลายเป็นว่าพื้นที่มีไม่เพียงพอสำหรับคนท้องถิ่นอีกต่อไป หรือร้านอาหารบางร้าน กลายเป็นแหล่งที่ได้รับความนิยมจากโลกโซเชียล หากคนท้องถิ่นต้องการใช้บริการภายในร้านก็ต้องจับจองล่วงหน้า และแน่นอนว่าส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจองคิวเต็มหมดแล้ว
“ที่สำคัญคือ ผมคิดว่านักท่องเที่ยวไม่ค่อยมีความเกรงอกเกรงใจเท่าที่ควร พวกเขาเสียงดัง กินบนถนน สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพวิถีชีวิตของคนในเมือง และทำให้กลิ่นอาย “มิยาบิ” (สุนทรียะแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น) ที่เป็นสิ่งที่โดดเด่นในเมืองเกียวโตจางหายไป” ทาคายามะกล่าวและเสริมว่า ช่วงหลัง โมเดลธุรกิจในเกียวโตที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ร่วมกับชาวเมืองอีกต่อไป มีหลายธุรกิจที่ฉวยโอกาสขาขึ้นทางการท่องเที่ยว สร้างเพื่อขายหรือบริการนักท่องเที่ยวเท่านั้น
นักท่องเที่ยวในญี่ปุ่นที่เริ่มมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2012 นอกจากจะมาจากนโยบายหนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาลญี่ปุ่น เช่น ฟรีวีซ่า บริษัททัวร์ราคาถูกก็เริ่มจัดทัวร์ท่องเที่ยวญี่ปุ่นในราคาจับต้องได้ ทำให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากจีนแผ่นดินใหญ่หลั่งไหลเข้าไปจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว “ทาคาโอะ อิคาดะ” ได้ให้ความเห็นว่า แม้ว่า “มลพิษนักท่องเที่ยว” จะเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ที่แย่กว่า คือ “การไม่มีนักท่องเที่ยว” เลยต่างหาก
อิคาดะชี้ว่า ปัญหาสำคัญของการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นปัจจุบันคือ นักท่องเที่ยวกระจุกตัว โดยเฉพาะในโตเกียว เกียวโต ภูเขาไฟฟูจิ และฮอกไกโด สาเหตุที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยเดินทางไปเยือนในพื้นที่อื่นมากนัก เป็นเพราะไม่สะดวกสบายเท่า และรัฐบาลไม่ได้พยายามกระจายนักท่องเที่ยวไปในพื้นที่อื่น ๆ เท่าที่ควร
รัฐจึงต้องเร่งปรับปรุงระบบการขนส่ง ที่พัก ให้สะดวกมากขึ้น รวมถึงหนุนให้ร้านท้องถิ่น รับเงินอิเล็กทรอนิกส์และเครดิตการ์ด เนื่องจากร้านค้าส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นรับเฉพาะเงินสด เพราะคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้จ่ายด้วยเงินสด สวนทางกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
อีกปัญหาหลักคือ ธุรกิจส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมีขนาดเล็ก ไม่มีกำลังขยายพื้นที่หรือรีโนเวตรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีเพิ่มขึ้น โดยอิคาดะเสนอว่ารัฐบาลควรเข้า “ช่วยเหลือด้านการเงิน” รีโนเวต เพื่อสร้างความประทับใจทั้งกับตัวผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว จะทำให้การท่องเที่ยวมีความยั่งยืน นักท่องเที่ยวกลับมาท่องเที่ยวซ้ำอีก
“ดังนั้นญี่ปุ่นก็ควรปรับปรุงด้วย อย่างการปรับปรุงการบริการให้สามารถรับรองนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างครบวงจร เพราะที่น่าห่วงคือหากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ท่องเที่ยวภายในประเทศลดปริมาณลงตามจำนวนประชากรที่ลดลงแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ใช่แลนด์มาร์กสำคัญของประเทศ จะสูญหายตามไปด้วย”
ที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพยายามหาทางออก นอกจากแผนที่จะทำให้กาสิโนเป็นสิ่งถูกกฎหมายแล้ว ยังได้จัดเก็บข้อมูลปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทะลักจนล้นเมือง เพื่อนำไปใช้ในการป้องกันแก้ไขปัญหา และปี 2019 เป็นต้นไป จะบังคับใช้กฎหมายให้นักท่องเที่ยวต้องจ่ายภาษีก่อนออกนอกญี่ปุ่นคนละ1 พันเยน เพื่อนำไปปรับปรุงโครงการพื้นฐานรองรับนักท่องเที่ยวให้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยให้ธุรกิจท่องถิ่นปรับพฤติกรรมใหม่ให้พึ่งพาเงินสดลดน้อยลงด้วย
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต