จากประชาชาติธุรกิจ
ธุรกิจสายการบินดิ้นหนีสงครามราคา! หลังเจอพิษราคาน้ำมันโลกทุบตัวเลขรายได้-กำไรปี’60 อ่วมหนัก ทุกค่ายทั้ง “ฟูลเซอร์วิส-โลว์คอสต์แอร์ไลน์” ประสานเสียงยุติเกมดัมพ์ราคาเฟ้นกลยุทธ์ขยับขึ้นราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ย นำเสนอบริการเสริมหลากรูปแบบ ชอบแบบไหน คลิกจ่ายเพิ่มได้ หวังมัดใจลูกค้าประจำ-สร้างฐานลูกค้าใหม่ พร้อมทุ่มโหมทำการตลาดตุนยอดขายล่วงหน้า พี่ใหญ่ “การบินไทย” ย้ำธุรกิจเปลี่ยนเร็ว ต้องคิดให้เร็วเปลี่ยนให้ทัน
แหล่งข่าวระดับสูงจากธุรกิจสายการบินรายหนึ่ง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การแข่งขันด้านราคาตั๋วโดยสารของธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ มีแนวโน้มลดความรุนแรงลงอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจาก ทุกสายการบินประสบปัญหาต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 10 เหรียญสหรัฐ หรืออยู่ในระดับที่ราว 63-65 เหรียญสหรัฐ และยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาถึงปีนี้ บวกกับมาตรการการเก็บภาษีสรรสามิตน้ำมันเครื่องบินที่รัฐบาลประกาศปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ยังคงเป็นต้นทุนอีกส่วนหนึ่งที่ทุกสายการบินต้องแบกรับภาระอยู่ปัจจุบัน และทำให้ทุกสายการบินไม่สามารถนำกลยุทธ์ด้านราคามาแข่งขันได้อีกต่อไป
ปรับราคาตั๋วเฉลี่ย 5-10%
“ตอนนี้ทุกสายการบินเร่งปรับกลยุทธ์หนีสงครามราคาอย่างหนัก และกำหนดราคาขายตั๋วโดยสารเฉลี่ยสูงกว่าปีที่ผ่านมาราว 5-10% เพราะราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจสายการบินสูงถึงราว 30% ยังคงอยู่ในแนวโน้มที่ปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ในระดับ 70-75 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับช่วงปี 2 ปีก่อน หากทุกค่ายยังยึดการแข่งขันด้วยราคาต่อไปก็จะยิ่งเจ็บหนักทั้งด้านรายได้และกำไร เหมือนในปีที่ผ่านมาที่ทุกสายการบินมีตัวเลขกำไรที่ต่ำลง”
แหล่งข่าวรายนี้ยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สายการบินต่าง ๆ ก็ยังคงต้องนำกลยุทธ์ด้านราคาออกมาใช้บ้างในบางช่วงเวลา เนื่องจากทุกสายการบินจำเป็นต้องโหมทำการตลาดและขายตั๋วล่วงหน้า เพื่อตุนยอดขายล่วงหน้าบางส่วนไว้ในพอร์ต
สอดรับกับธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทย แอร์เอเชีย กล่าวว่า จากแนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เชื่อว่าทุกค่ายจะหยุดดัมพ์ราคาตั๋วโดยสารเพื่อแข่งขัน และน่าจะเห็นบางสายการบินที่ต้องปรับขึ้นราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยประมาณ 5% เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการแข่งขันสูงทำให้ราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยของแต่ละสายการบินค่อนข้างถูกมาก สำหรับไทยแอร์เอเชียปีนี้ได้กำหนดราคาเฉลี่ยโดยสารทั้งปีไว้ที่ประมาณ 1,650 บาทต่อเที่ยว เพิ่มจากประมาณ 1,560 บาทต่อเที่ยว เมื่อปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ราคาก็ยังคงมีต่อไปเพื่อย้ำแบรนด์ ซึ่งประเด็นนี้ต้องมีระบบการบริหารจัดการด้านราคาในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้ราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยทั้งปีไม่ต่ำกว่าฐานที่กำหนดไว้
มุ่งแข่ง “คุณภาพ-บริการ”
นายนัตดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากตลาดการบินที่ใหญ่ขึ้น แต่ละสายการบินต่างมีลูกค้าประจำของตัวเองมากขึ้นทิศทางการแข่งขันของธุรกิจสายการบินจากนี้ไปจึงมุ่งไปที่เรื่องของการปรับปรุงคุณภาพบริการที่จะมีการลงรายละเอียดแต่ละเส้นทางบินมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของนักเดินทางในแต่ละเส้นทาง เช่น กรุงเทพฯ-ซัปโปโร ของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ในอนาคตอาจมีการขายแพ็กเกจพ่วงให้เช่าอุปกรณ์เล่นสกีเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันโลว์คอสต์แอร์ไลน์เองก็เริ่มปรับมาเป็น สมาร์ทแอร์ไลน์ (Smart Airline) เพื่อให้เข้ากับยุคการเดินทางของสมาร์ท แทรเวลเลอร์ (Smart Traveler) เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้โดยสารที่เปลี่ยนไป
“ที่เห็นชัดเจนอย่างหนึ่งตอนนี้ คือ แต่ละสายการบินต่างมีแฟนประจำของตัวเองมากขึ้น กลุ่มแอร์เอเชียจึงให้ความสำคัญกับ “ลอยัลตี้ โปรแกรม” มากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างฐานลูกค้าประจำให้เหนียวแน่นมากขึ้น มีการสะสมไมล์ให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น”
นายยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมของธุรกิจสายการบิน ระหว่างสายการบินฟูลเซอร์วิสหรือพรีเมี่ยมแอร์ไลน์กับสายการบินโลว์คอสต์ มีความแตกต่างกันน้อยมาก เนื่องจากสายการบินโลว์คอสต์ได้ปรับตัวด้วยการมีบริการเสริมให้เลือกมากขึ้น ต่างจากในช่วงเริ่มต้นที่โลว์คอสต์แอร์ไลน์จะเป็น pure low-cost carrier ที่มีบริการเสริม ขณะที่สายการบินฟูลเซอร์วิส หรือพรีเมี่ยมแอร์ไลน์บางแห่งเริ่มทำตัวหรือให้บริการเหมือนสายการบินโลว์คอสต์มากขึ้น อาทิ จัดเก็บค่าจองที่นั่ง เป็นต้น
เพิ่มบริการใหม่ “จ่ายตามที่ใช้”
นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์กล่าวว่า จากแข่งขันที่รุนแรง กลยุทธ์ด้านราคาเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับการจูงใจลูกค้าให้ตัดสินใจใช้บริการอีกต่อไป สายการบินโลว์คอสต์จึงต้องเพิ่มบทบาทเป็นสายการบินลูกผสม (ไฮบริด) โดยมุ่งยกระดับการให้บริการ ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่เริ่มเห็นมากขึ้น เพื่อสร้างความประทับใจแก่ลูกค้า และดึงให้กลับมาใช้บริการซ้ำในโอกาสต่อ ๆ ไป
สำหรับไทยไลอ้อนแอร์ นอกจากนำเครื่องบินใหม่ แอร์บัส เอ330-300 แบบลำตัวกว้าง มาให้บริการเส้นทางบินระยะไกลแล้ว ยังลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยไทยไลอ้อนแอร์ถือเป็นโลว์คอสต์ไทยรายแรกที่ให้บริการสิ่งบันเทิงบนเครื่องบินบนจอภาพส่วนตัวหน้าที่นั่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม พร้อมช่องยูเอสบีสำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือทุกที่นั่ง ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าคนรุ่นใหม่ซึ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและความบันเทิง
ด้านนายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ กล่าวว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นกแอร์ ได้เปิดตัวบริการใหม่ที่ให้อิสระแก่ผู้โดยสารในการเลือกซื้อบัตรโดยสารและบริการต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของผู้โดยสารแต่ละคน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารในแง่ของความสะดวกสบาย ง่าย ไม่ซับซ้อน และรวดเร็ว โดยแบ่งบัตรโดยสาร เป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย Nok Lite สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการจะเดินทางโดยมีเพียงสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่อง, Nok X-tra สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการจะเดินทางพร้อมสัมภาระที่ต้องการโหลดขึ้นเครื่อง และ Nok MAX สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการโหลดสัมภาระขึ้นเครื่องและได้รับน้ำหนักสัมภาระ 15 กิโลกรัมสำหรับเส้นทางภายในประเทศ และ 20 กิโลกรัมสำหรับเส้นทางต่างประเทศ พร้อมรับบริการอาหารร้อนบนเที่ยวบิน นอกจากนี้ ผู้โดยสารยังสามารถเลือกบริการเสริม Nok Flexi สำหรับการเช็กอินในช่องทางพิเศษและการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการสำรองที่นั่ง
“บริการใหม่นี้มาได้รับการตอบรับดีมาก ที่สำคัญ นอกจากจะตอบโจทย์ความพึงพอใจของผู้โดยสารแล้ว ยังตอบโจทย์เรื่องรายได้ด้วย” นายปิยะกล่าว
เช่นเดียวกับนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปีนี้ไทยแอร์เอเชียยังได้เริ่มปรับกลยุทธ์การให้บริการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้เพิ่มบริการพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในปีที่ผ่านมา เช่น บริการ AirAsia Red Carpet บริการเคาน์เตอร์เช็กอินพิเศษ, สิทธิการใช้เลานจ์ในสนามบินก่อนขึ้นเครื่อง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ชื่อ BIG CARD เปิดให้สมาชิกที่สะสมไมล์ของสายการบินและพันธมิตรธุรกิจ สามารถนำคะแนนมาใช้แลกซื้อสินค้าบนเครื่องบิน ซื้อตั๋วเครื่องบิน ซื้อน้ำหนักกระเป๋า และช็อปปิ้ง โดยไม่ต้องใช้เงินสด ซึ่งจะพัฒนาให้สามารถนำ wallet ดังกล่าวไปใช้ทั่วอาเซียนได้ คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และคาดจะทำให้ยอดผู้โดยสารเติบโตแบบก้าวกระโดด
ธุรกิจการบินเปลี่ยนเร็ว
นายกฤตพล ฉันทฤธานนท์ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายบริหารพันธมิตรการบินและกลยุทธ์การพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมาธุรกิจสายการบินมีการเปลี่ยนแปลงสูงมาก และมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงทุก ๆ 3-5 ปี ทำให้ทุกสายการบินต้องเร่งปรับตัวเรื่องคุณภาพบริการเพื่อตอบสนองความหลากหลายของผู้ใช้บริการ สำหรับการบินไทยเองก็ต้องเตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันและการขยายตัวของตลาด รวมทั้งกลยุทธ์การเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศสู่เมืองรองของไทยมากขึ้น ไม่ใช่แค่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น จากภูเก็ต การบินไทย มีเที่ยวบินไปยุโรปสู่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี, สตอกโฮล์ม สวีเดน และโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก รวมถึงเมืองอื่น ๆ ในเอเชียแล้ว
“จากนี้ไปการแข่งขันจะสูงขึ้น ๆ ในทุกมิติ ทั้งตลาดในประเทศ ภูมิภาค และข้ามทวีป ทั้งจากสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (ฟูลเซอร์วิส) สายการบินต้นทุนต่ำ และสายการบินแบบลูกผสม (ไฮบริด) ทำให้การบินไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ มิติ ผ่านการสร้างความร่วมมือกับสายการบินอื่น ๆ ทั้ง นกแอร์ และไทยสมายล์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมวางตารางเวลาบินให้สอดคล้องกัน สามารถถ่ายเทผู้โดยสารซึ่งกันและกันได้ ด้วยการเน้นให้ไทยเป็นจุดถ่ายเทผู้โดยสารมากที่สุด” นายกฤตพลกล่าว
eosgear,#สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต