จากประชาชาติธุรกิจ
ยอดส่งออกข้าวปี”60 ทะลุ 11.2 ล้านตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดันราคาข้าวเปลือกมะลิพุ่งตันละ 16,000 บาท เท่าโครงการจำนำ จับตาปัจจัยเสี่ยงบาทแข็ง-อากาศเปลี่ยน กระทบส่งออกปี”61 หดเหลือ 9.5 ล้านตัน พาณิชย์เตรียมประชุมข้าวครบวงจร 14 ม.ค.นี้ ถกปมขึ้น “บัญชีควบคุมข้าว” ไล่บี้ตรวจสต๊อกข้าวปูพรมทั้งประเทศ โรงสีหวั่นกระทบราคาตลาดดิ่ง
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า การส่งออกข้าวเดือนธันวาคม 2560 มีปริมาณ 8-9 แสนตัน ส่งผลให้ยอดส่งออกทั้งปี 2560 มีปริมาณ 11.2-11.3 ล้านตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และที่สำคัญเป็นปีที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 16,000 บาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาตันละ 9,500-11,000 บาท ถือเป็นราคาที่สูงเทียบเท่ากับช่วงที่ทำโครงการรับจำนำ หรือคิดเป็นราคาส่งออกตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐ
ส่วนคาดการณ์ส่งออกข้าวปี 2561 มีปริมาณ 9.5 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่ากว่าคู่แข่ง ทำให้ราคาข้าวไทยแข่งขันลำบาก และปัจจัยซัพพลายเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะปีนี้ซัพพลายข้าวเก่าจากสต๊อกของรัฐบาลหมดแล้ว อาจจะกระทบกับตลาดที่นิยมข้าวเก่า เช่น สิงคโปร์ ส่วนข้าวใหม่มีปริมาณน้อยกว่าที่คาดจากภาวะอากาศแปรปรวน มีฝนตกช่วงผสมเกสรทำให้ดอกร่วง เมล็ดข้าวลีบ อาจทำให้ราคาสูงขึ้น เสี่ยงจะเสียส่วนแบ่งตลาดในบางตลาด เช่น ฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามภาวะตลาดข้าวในปีนี้ว่าจะกระเตื้องมากขึ้นเพียงใด โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งยังรอเจรจาขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลกับรัฐวิสาหกิจจีน เพราะปัจจุบันส่งไปแล้ว 4 แสนตัน เหลือค้างอีก 6 แสนตัน และไทยพยายามผลักดันให้จีนซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านตัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับการหารือระดับการเมืองว่าจะเป็นอย่างไร
พร้อมกันนี้ ไทยเร่งรัดให้ AQSIQ มาตรวจสอบรับรองผู้ส่งออกไทยตามกฎหมายใหม่ของจีน เพราะในปีที่ผ่านมาจีนได้ตรวจสอบรับรองผู้ส่งออกที่ผ่านเกณฑ์ไปเพียง 1 รอบ มีผู้ผ่านเกณฑ์ 49 ราย คาดว่าจะมีการหารือกันอีกครั้งในช่วงที่รองนายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยือนไทยในช่วงกลางเดือนนี้
และที่น่าห่วงคือปีนี้ จีนให้โควตานำเข้าข้าวพิเศษกับกัมพูชาเพิ่มอีก 100,000 ตัน จากเดิม 200,000 ตัน รวมเป็น 300,000 ตัน ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าทำให้ข้าวกัมพูชาถูกกว่าไทยมากขึ้น จากตันละ 200 เป็น 300 เหรียญสหรัฐ ต้องแข่งขันราคารุนแรงขึ้น
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในวันที่ 14 มกราคมนี้ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการข้าวครบวงจร เพื่อประเมินทิศทางและกำหนดมาตรการผลักดันการดูแลข้าวแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ภายหลังจากที่คาดการณ์ว่าสต๊อกข้าวสารเก่าจากโครงการรับจำนำจะระบายหมดในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์มุ่งผลักดันการส่งออกข้าวคุณภาพสูง หรือข้าวพรีเมี่ยม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวไทย และอาจมีการหารือถึงแนวทางดูแลราคาสินค้าเกษตรตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมอบหมายให้กรมการค้าภายในศึกษาความเป็นไปได้ในการขึ้นบัญชีสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าควบคุม และใช้มาตรการตรวจสอบสต๊อกสินค้า โดยโฟกัสเฉพาะสินค้าเกษตรบางรายการที่มีปัญหาราคาผันผวน
ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการโรงสีข้าวหลายรายที่มองว่า วงการข้าวกำลังจะปั่นป่วนเพราะมีผู้ที่พยายามใช้เครื่องมือรัฐ “ตรวจเช็กสต๊อกข้าว” เพื่อหวังผลทางจิตวิทยาในการกดราคารับซื้อข้าว หลังจากราคาข้าวหอมมะลิขยับขึ้นไปสูงมาก เป็นผลดีจากรัฐใช้มาตรการรัฐชะลอการขายข้าวในยุ้งฉาง และการชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสี
“ข้าวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวมาก ถ้าตลาดรู้ว่ามีของเยอะ กดราคาลงแน่นอน สินค้าเกษตรไม่ใช่สินค้าอุตสาหกรรมที่จะรายงานตรง ๆ ได้ และสต๊อกข้าวที่มีเป็นการสต๊อกเพื่อการบริโภคในประเทศมีสัดส่วนพอ ๆ กับที่ส่งออกจะตรวจอย่างไร ข้าวมีอยู่ในประเทศก็ย่อมมีปริมาณมาก หากคนซื้อเห็นข้าวในสต๊อกมากจะส่งผลทางจิตวิทยา ชะลอสั่งซื้อกระทบราคาทันที ซึ่งในช่วงนี้ยังเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ปี 2560/2561 แต่ด้วยเหตุที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการให้ชาวนาเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางและให้โรงสีช่วยซื้อรัฐชดเชยดอกเบี้ยจึงทำให้ข้าวไม่ออกมาสู่ตลาด แต่หากรัฐมาตรวจสอบสต๊อกและเปิดเผยผลการตรวจ คนซื้อเห็นตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าคิดอย่างมาก”
ส่วนประเด็นที่ห่วงในด้านซัพพลายข้าวไทยว่าจะมีเพียงพอหรือไม่ ทางโรงสีมองว่าเพียงพอทั้งการส่งออกและบริโภค แต่การปล่อยข่าวว่าราคาแพงไม่มีคำสั่งซื้อ อาจจะทำให้การส่งออกลดลง
ด้าน ร.ต.ท.เจริญมองว่า การตรวจสอบสต๊อกไม่ได้เป็นปัญหากับผู้ส่งออก เพราะปัจจุบันผู้ส่งออกข้าวและผู้ประกอบการโรงสีจะต้องแจ้งปริมาณการถือครองสต๊อกข้าวให้กับกรมการค้าภายในทุกเดือนอยู่แล้ว ส่วนการเปิดเผยตัวเลขสต็อกก็ไม่น่าจะกระทบต่อตลาดข้าวมากนัก และในทางตรงกันข้ามจะส่งผลดีกับการวางแผนการทำตลาด
“เชียร์ให้ตรวจ เพราะจะได้รู้ข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีข้าวเปลือกเท่าไร ข้าวสารเท่าไร จากปกติใช้วิธีการคาดการณ์ ซึ่งมักจะไม่ถูกต้อง ส่วนตัวเลขสต๊อกที่เปิดเผยออกมาคงจะกระทบไม่นาน เพราะการทำตลาดหรือการกำหนดราคาเป็นเรื่องของผู้ประกอบการแต่ละคน บางครั้งต้องยอมรับความเสี่ยงนั้น”
eosgear,#สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต