สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Full Harvest เพิ่มมูลค่าให้ผักผลไม้มีตำหนิ

จากประชาชาติธุรกิจ

 

ภาพจาก fullharvest.com

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน”

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

มนุษย์เรานั้นนอกจากชอบตัดสินคนที่รูปร่างหน้าตาแล้ว ยังใช้ “ความงาม” เป็นเกณฑ์ตีราคาของทุกรอบตัว แม้กระทั่ง พืช ผัก ผลไม้ ทำให้แต่ละปีมีพืชผลทางการเกษตรที่ยังดี ๆ แต่มีตำหนินิดหน่อยกลายเป็นขยะปีละหลายพันล้านตันอย่างน่าเสียดาย

สตาร์ตอัพที่เราจะพูดถึงวันนี้ ให้โอกาสผักผลไม้ที่ “หน้าตาไม่ดี” เหล่านี้ มีที่ยืนในอาณาจักรอาหารอีกครั้งค่ะ

“Full Harvest” ก่อตั้งโดย “คริสทีน โมสลีย์” ผู้ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน “The Most Innovative Women in Food & Drink” โดยนิตยสาร Food & Wine เพราะนำเสนอโมเดลธุรกิจที่นอกจากช่วยลดปริมาณอาหารที่โดนทิ้ง (food waste) แล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเจ้าของฟาร์ม และลดต้นทุนให้เจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มด้วย

รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ปี 2014 ระบุว่า แต่ละปีมีอาหารที่ถูกทิ้งถึง1.3 พันล้านตัน หรือ 1/3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก ตีเป็นมูลค่าถึง 680 พันล้านเหรียญสำหรับประเทศอุตสาหกรรม และ 310 พันล้านเหรียญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ยังไม่รวมความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ทั้งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่พุ่งสูงขึ้น และปริมาณน้ำมหาศาลที่สูญไปในกระบวนการผลิต

ทั้งกว่า 50% ของผักผลไม้สดถูกทิ้งเป็นขยะ เพียงเพราะรูปร่างหน้าตาไม่ผ่านเกณฑ์ความงามที่ห้างค้าปลีกซึ่งเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่กำหนด

“คริสทีน” ก่อนก่อตั้งบริษัทของตนเองก็เคยคลุกคลีในอุตสาหกรรมอาหาร มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจให้บริษัทที่ผลิตน้ำผลไม้ออร์แกนิกสกัดเย็นชื่อดังแห่งหนึ่ง

ที่นี่เองที่เธอพบว่ามีผลไม้ดี ๆ จำนวนมากถูกทิ้งกลายเป็นขยะตั้งแต่หน้าฟาร์ม เพราะหน้าตาไม่เปอร์เฟ็กต์ตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด เล่นเอางงไปเหมือนกันว่า บริษัทจะอยากได้ผลไม้หน้าตาดีไปทำไม ในเมื่อท้ายที่สุดก็ต้องถูกนำเข้าเครื่องสกัดเย็นจนเละอยู่ดี แถมการเลือกซื้อแต่ผลไม้ที่หน้าตาดี ยังทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น มีผลให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาแพงไปด้วย

หลังจากศึกษาปัญหานี้มาพักใหญ่ คริสทีนมองเห็นช่องทางสร้างรายได้จากผักผลไม้ที่ถูกทิ้งขว้าง เลยเปิดบริษัท ชื่อ Full Harvest ในปี 2016 ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์แบบ business-to-business (B2B) ให้เจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่กับเจ้าของกิจการด้านอาหารได้ใช้ในการซื้อ-ขาย พืช ผัก ผลไม้ ที่มีตำหนิในราคาประหยัด

Full Harvest ช่วยให้เจ้าของฟาร์มมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะแทนที่จะทิ้งผลผลิตที่หน้าตาไม่ผ่านเกณฑ์เป็นขยะก็นำมาขายลดราคาได้ ส่วนร้านค้าที่ใช้พืชผักผลไม้เหล่านี้เป็นวัตถุดิบ เช่น ทำน้ำผักผลไม้ ซุป ซอส อาหารเด็ก อาหารแช่แข็ง ไปจนถึงอาหารสัตว์ ก็สามารถประหยัดต้นทุนด้วยเช่นกัน

กลุ่มเป้าหมายของคริสทีน คือฟาร์มขนาดใหญ่ ทั้งฟาร์มออร์แกนิกและฟาร์มแบบดั้งเดิมที่มีศักยภาพการผลิตในปริมาณมากและสม่ำเสมอ เพื่อจะได้สินค้ามากพอต่อความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งเป็นโรงงานหรือบริษัทที่มักสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก ๆ ล่วงหน้าเป็นอาทิตย์

Full Harvest ให้บริการผ่านเว็บเป็นหลัก เน้นออกแบบระบบที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เพียงแค่ลงทะเบียน เจ้าของฟาร์มก็อัพโหลดสินค้าขึ้นหน้าเว็บได้ง่าย ๆ ขณะที่ผู้ซื้อก็สั่งซื้อสินค้า พร้อมกดจ่ายเงินออนไลน์ได้รวดเร็ว ทันใจ

ตั้งแต่เปิดกิจการมาจนถึงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา Full Harvest ขายผักผลไม้มีตำหนิไปได้กว่า 1 ล้านปอนด์ และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มปริมาณนี้ให้ได้ถึง 4 เท่าภายในสิ้นปีนี้

ล่าสุดบริษัทเพิ่งระดมทุนได้มาอีก 2 ล้านเหรียญ ซึ่ง “คริสทีน” วางแผนจะเอามาจ้างพนักงานเพิ่ม พร้อมปรับฟังก์ชั่นต่าง ๆ ของระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และในอนาคตอาจขยับเข้าสู่การให้บริการขนส่งสินค้าแบบ on-demand เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าด้วย

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหา food waste ได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้น กลายเป็นแรงกดดันให้ห้างค้าปลีกใหญ่ ๆ

ต้องยอมลดมาตรฐานความงามของผักผลไม้ที่จะวางขายในห้างลงบ้าง แต่พลังที่แท้จริงน่าจะอยู่ในมือผู้บริโภค เพราะหากทุกคนช่วย ๆ กันเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เช่น หยุดกินทิ้งกินขว้างกันบ้าง ก็คงช่วยลดปริมาณ food waste ไปได้เยอะเลยทีเดียวค่ะ

 

 


eosgear,#สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : Full Harvest เพิ่มมูลค่าให้ผักผลไม้มีตำหนิ

view