จากประชาชาติธุรกิจ
10 สหกรณ์ปลูกกล้วยหอมเดือดร้อนหนัก ผลผลิตล้นทำราคาดิ่ง เหตุ “บริษัท ทีเค ประชารัฐ” ไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายที่เคยบอกไว้ อ้างเกษตรกรปลูกไม่ได้ตามมาตรฐานส่งออก
นายวิเชียร จังก๋า ประธานสหกรณ์การเกษตรพบพระ จำกัด จ.ตาก เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสหกรณ์ผู้ปลูกกล้วยหอมประสบปัญหาด้านราคากล้วยตกต่ำทั่วประเทศ และผลผลิตล้นตลาด เพราะไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ จากที่ก่อนหน้านี้สหกรณ์ได้ร่วมกับบริษัท ทีเค ประชารัฐ ทำตลาดส่งออกประมาณ 20 ตันต่อสัปดาห์ แต่ปัจจุบันบริษัท ทีเคฯ ไม่สามารถส่งออกได้ตามที่ตกลงไว้ ล่าสุดสหกรณ์จึงได้ส่งหนังสือเรียกร้องไปยังบริษัท ทีเคฯ และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ให้ช่วยเหลือกระจายผลผลิตสำหรับตลาดภายในประเทศด้วย แต่ไม่สามารถดำเนินการได้มากนัก เพราะตามห้างสรรพสินค้ามีโควตาเต็มหมดแล้ว ทั้งนี้ โครงการประชารัฐเป็นโครงการที่ดี แต่ต่อไปต้องพิจารณาเรื่องการหาตลาดด้วย
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์ผู้ปลูกกล้วยหอมกว่า 10 แห่ง ประสบปัญหาด้านราคา และปลูกแล้วไม่มีตลาดหรือหาตลาดไปไม่ได้ เพราะปลูกไม่ได้คุณภาพตรงตามเกรดมาตรฐานส่งออกที่ตั้งไว้ ดังนั้นสหกรณ์การเกษตรพบพระอาจต้องพัฒนาการเพาะปลูก ซึ่งทางกรมจะขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์บ้านลาด และสหกรณ์ท่ายาง จ.เพชรบุรี ที่ส่งออกกล้วยหอมไปตลาดญี่ปุ่นเป็นหลัก เข้ามาช่วยเหลือถ่ายทอดความรู้เบื้องต้น เพื่อให้สามารถปลูกกล้วยได้ตามมาตรฐานที่ตลาดส่งออกต้องการได้ในอนาคต ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรมีพื้นที่ปลูกกล้วยรวมกันประมาณ 300 ไร่ มีปริมาณผลผลิต 2,000 ตัน มีต้นทุนการปลูกที่ กก.ละ 6-7 บาท หากปลูกได้คุณภาพมาตรฐานส่งออกจะขายได้ 12 บาทต่อ กก. แต่ตอนนี้มีเกษตรกรปลูกได้เกรดตามมาตรฐานส่งออกเพียงไม่กี่กิโลกรัม
รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ผลผลิตและศักยภาพกล้วยไทย สร้างรายได้ทั้งตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศรวมปีละไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกล้วยหอม มีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ญี่ปุ่นได้ให้โควตากล้วยหอมทองจากไทยปีละ 8,000 ตัน แต่ที่ผ่านยังไม่เคยส่งออกได้เต็มโควตา โดยส่งออกได้เพียงปีละ 4,000 ตันเท่านั้น ดังนั้น ไทยยังมีโอกาสขยายมูลค่าการส่งออกกล้วยได้อีกมาก และสามารถส่งออกไปยังประเทศจีน เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย
สถานการณ์การผลิตและการตลาดกล้วย หอม มีศักยภาพในการส่งออก โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการสูง โดยปี 2559 ไทยมีจำนวนเนื้อที่เก็บเกี่ยว 37,020 ไร่ ผลผลิต 117,427 ตัน ผลผลิตต่อไร่ 3,172 กิโลกรัม ต้นทุนการผลิต 4,823 บาท/ตัน ราคาที่เกษตรกรขายได้ 12,777 บาท/ตัน ผลตอบแทนสุทธิ 7,954 บาท/ตัน มีจำนวนใช้ในประเทศ 113,703 ตัน ส่งออกกล้วยหอมสด ปริมาณ 3,725 ตัน มูลค่า 81.40 ล้านบาท ราคาส่งออก 21,855 บาท/ตัน คู่ค้าที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น จีน ลาว และคู่แข่งที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ เบลเยียม และคอสตาริกา
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน