สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สามารถ โพสต์แนะเร่งเพิ่มรถไฟฟ้าใต้ดินแทนการ ‘ถอดเก้าอี้’ หลังผู้โดยสารใช้มากขึ้นราว 3 แสนคน/วัน

จากประชาชาติธุรกิจ

หลังจากที่ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ได้ประกาศผ่าน ว่า รถไฟฟ้า MRT ได้เพิ่มพื้นที่ว่างในขบวนรถไฟสายสีน้ำเงิน(หัวลำโพง-บางซื่อ) โดยถอดเก้าอี้นั่งผู้โดยสารออกเฉพาะที่นั่งแถวกลาง เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้มากขึ้น เริ่มทดลองให้บริการขบวนแรก ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.60 เป็นต้นไป ก็เกิดเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ตามมาเป็นอย่างมาก

ด้าน นายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า หากบีอีเอ็มจะดำเนินการอะไรที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการจะต้องหารือหรือแจ้งให้ รฟม. รับทราบเป็นทางการก่อน แต่กรณีนี้ บีอีเอ็มไม่ได้มีการหารือ หรือแจ้งให้ รฟม.รับทราบเลย ดังนั้นจึงเตรียมเรียกตัวแทนบีอีเอ็มเข้ามาชี้แจง

ล่าสุดเมื่อวันนี้ (22 พ.ย.)นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า ควรจะเร่งเพิ่มรถไฟฟ้าใต้ดิน แทนการถอดเก้าอี้

โดยมีข้อความระบุว่า รถไฟฟ้าสายนี้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2547 ถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 13 ปี แล้ว มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากประมาณ 147,000 คนต่อวันในปี พ.ศ. 2547 เป็นประมาณ 300,000 คนต่อวันในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม บีอีเอ็มยังคงใช้จำนวนรถไฟฟ้า 19 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ เท่าเดิมตลอดเวลากว่า 13 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนมีผู้โดยสารแน่น และผู้โดยสารต้องรอรถนาน บีอีเอ็มได้แก้ปัญหาดังกล่าวดังนี้

1. บีอีเอ็มทดลองถอดเก้าอี้ช่วงกลางของตู้โดยสารตู้กลางออกทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งละ 1 แถว ทำให้จำนวนผู้โดยสารนั่งลดลง 14 คน (ฝั่งละ 7 คน) จากการคำนวณของผมพบว่า การถอดเก้าอี้ช่วงกลางออกจะทำให้ได้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 6 ตารางเมตร ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารยืนได้ประมาณ 36 คน (คิดความหนาแน่นของผู้โดยสาร 6 คน/ตารางเมตร) นั่นคือจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 22 คนต่อตู้ แต่ถ้าบีอีเอ็มถอดเก้าอี้ช่วงกลางออกทุกตู้ตามที่มีข่าว ตู้ละ 2 แถว รวมทั้งหมด 6 แถว (1 ขบวน มี 3 ตู้) จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 66 คนต่อ 1 ขบวน

จากข้อมูลของ รฟม. พบว่า ในปัจจุบันรถไฟฟ้าใต้ดินมีความจุผู้โดยสาร 885 คนต่อขบวน ประกอบด้วยจำนวนผู้โดยสารนั่ง 126 คน และผู้โดยสารยืน 759 คน ดังนั้น หลังจากถอดเก้าอี้ช่วงกลางออกทุกตู้ จะทำให้มีความจุผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 951 คนต่อขบวน ประกอบด้วยผู้โดยสารนั่ง 84 คน และผู้โดยสารยืน 867 คน หรือคิดเป็นจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 7.5%

2. ผมได้รับการบอกเล่าจากผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินคนหนึ่งว่า ในช่วงเวลาประมาณ 08.00 น. ของวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เขาต้องรอรถไฟฟ้าที่สถานีสวนจตุจักร (หมอชิต) เพื่อเดินทางไปสถานีเตาปูนนานผิดปกติ กล่าวคือ ต้องรอนานถึงประมาณ 15 นาที จากปกติที่รอไม่เกิน 5 นาที ซึ่งสอดคล้องกับเว็บไซต์ของบีอีเอ็มที่ระบุว่า ในชั่วโมงเร่งด่วนเวลา 06.00–09.00 น. และ 16.30-19.30 น. จะปล่อยรถไม่เกิน 5 นาทีต่อขบวน ผู้โดยสารคนดังกล่าวจึงสอบถามพนักงานประจำสถานีถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ได้ความว่าในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า บีอีเอ็มตัดการเดินรถจากสถานีหัวลำโพงถึงเตาปูน เหลือสิ้นสุดแค่สถานีสวนจตุจักร ไม่วิ่งต่อไปถึงสถานีเตาปูน แล้วกลับไปรับผู้โดยสารที่สถานีพหลโยธิน (ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว) เพื่อขนผู้โดยสารเข้าเมือง โดยจะทำเช่นนี้ต่อเนื่องกัน 3 ขบวน พอถึงขบวนที่ 4 จึงจะวิ่งไปจนถึงสถานีเตาปูน

การตัดช่วงการวิ่งให้บริการเช่นนี้ ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าผู้โดยสารที่สถานีสวนจตุจักรต้องรอรถไฟฟ้าเป็นเวลานานประมาณ 15 นาที จึงจะสามารถเดินทางไปสถานีกำแพงเพชร บางซื่อ หรือเตาปูนได้ เป็นผลให้มีผู้โดยสารเต็มชานชาลา ในทิศทางกลับกัน ผู้โดยสารที่สถานีเตาปูนที่เดินทางมากับรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ต้องรอรถไฟฟ้าใต้ดินนานประมาณ 15 นาที จึงจะสามารถเดินทางไปสถานีบางซื่อ กำแพงเพชร หรือสวนจตุจักรได้ ทำให้มีผู้โดยสารเต็มชานชาลาเช่นเดียวกัน

การกระทำดังกล่าวของบีอีเอ็มทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย และต้องเสียเวลา ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอให้ รฟม. รีบดำเนินการดังนี้

1. ตรวจสอบสัญญาสัมปทานระหว่าง รฟม.กับบีอีเอ็มว่า มีการกำหนดจำนวนผู้โดยสารนั่งและผู้โดยสารยืนต่อขบวนไว้หรือไม่ อย่างไร

2. ตรวจสอบสัญญาสัมปทานระหว่าง รฟม.กับบีอีเอ็มว่า มีการกำหนดความถี่ในการปล่อยขบวนรถไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ไว้หรือไม่ อย่างไร

3. เร่งรัดให้บีอีเอ็มเพิ่มตู้หรือขบวนรถไฟฟ้า โดยในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น ควรเพิ่มจำนวนตู้จาก 3 ตู้ เป็น 4 ตู้ต่อขบวน อนึ่ง ในขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดินหรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ 300,000 คนต่อวัน ในปัจจุบัน แต่บีอีเอ็มก็ยังคงใช้จำนวนขบวนรถไฟฟ้าเท่าเดิมคือ 19 ขบวน ต่างกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งมีผู้โดยสารน้อยกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินมาก กล่าวคือ มีประมาณ 50,000 คนต่อวัน แต่บีอีเอ็มใช้รถไฟฟ้าถึง 23 ขบวน

ทั้งหมดนี้ หวังว่า รฟม.จะรีบสั่งการให้บีอีเอ็มเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อทำให้ผู้โดยสารเดินทางสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : สามารถ โพสต์แนะเร่งเพิ่มรถไฟฟ้าใต้ดินแทนการ ‘ถอดเก้าอี้’ หลังผู้โดยสารใช้มากขึ้นราว 3 แสนคน/วัน

view