จากประชาชาติธุรกิจ
ผู้ส่งออกหวั่นนโยบายข้าวอินทรีย์ 3 ปี 1 ล้านไร่ ดันผลผลิตข้าวอินทรีย์ทะลุ 5 แสนตัน สวนทางตลาดส่งออกที่มีเพียง 20,000 ตัน ซ้ำไม่มีมาตรฐานสากล-ด้านโรงสีเมินร่วมโครงการรับซื้อข้าวอินทรีย์ ติงนโยบายบีบตั้งราคาซื้อนำตลาด แต่ไม่คุมผู้ส่งออกซื้อข้าวสารราคาสูง เป็นเหตุให้ไม่มีตลาดรองรับ เสี่ยงขาดทุน
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ ปีละ 300,000 ไร่ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่ปลูกให้ได้ 1 ล้านไร่ภายใน 3 ปี เท่ากับว่าจะมีปริมาณข้าวอินทรีย์ 500,000 ตันข้าวเปลือก หรือราว 250,000 ตันข้าวสาร แต่ไม่มีแนวทางการสร้างมาตรฐานสากล และแผนการทำตลาดข้าวอินทรีย์ควบคู่ไปด้วย ถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะมีหลายจังหวัดได้เพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้น ขณะที่ความต้องการข้าวอินทรีย์ในตลาดโลกต่อปีมีเพียง 1,000-10,000 ตันเท่านั้น และไทยส่งออกเพียงปีละ 20,000 ตัน เทียบกับยอดส่งออกข้าวทั้งปี 11 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.1%
“อยากให้ระวังผลที่จะตามมาจากการส่งเสริม เพราะตลาดข้าวอินทรีย์ยังมีขนาดเล็กในวงจำกัด อย่าส่งเสริมโดยคิดว่าผู้ส่งออกจะขายได้ หากจะส่งเสริมต้องเริ่มทำตลาดในประเทศก่อนสำหรับข้าวอินทรีย์ที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากล จากนั้นจึงค่อย ๆ พัฒนาสู่การส่งออก”
ร.ต.ท.เจริญกล่าวเพิ่มว่า รัฐบาลให้เงินอุดหนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ปีแรก 2,000 บาท และปีที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 บาท และปีที่ 3 เพิ่มเป็น 4,000 บาท พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้โรงสีช่วยรับซื้อในราคานำตลาด ทั้งที่ควรปล่อยให้ราคาซื้อขายเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ใช่ตั้งราคาสูงจนแข่งขันไม่ได้ ถือเป็นการปลูกฝังให้ยึดติดกับการให้ราคาเป็นตัวตั้ง ทั้งที่ความจริงการปลูกข้าวอินทรีย์ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 400 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่ หมายถึงต้นทุนต่อหน่วยลดลง ถือเป็นกำไรขั้นที่ 1 และการปลูกอินทรีย์ทำให้สิ่งแวดล้อมดี และสุขภาพชาวนาดีขึ้น ถือเป็นกำไรขั้นที่ 2 แล้ว ขาดมาตรฐานสากล-ราคาสูง
นางโสพรรณ มานะธัญญานายกสมาคมผู้ผลิตข้าวถุง กล่าวว่า หากมีการส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ควรหาตลาดรองรับ โดยเริ่มจากตลาดในประเทศ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดตอนนี้ก่อน โดยขอให้พาณิชย์แต่ละจังหวัดจัดทำเป็นสินค้าประจำจังหวัด หรือเป็นของฝาก พร้อมทั้งเร่งผลักดันให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยมีมาตรฐานสากล เช่น IFOAM รองรับ จึงส่งออกได้
“เป็นห่วงว่าการที่ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยมีราคาสูงกว่าผลผลิตปกติ 20-30% เมื่อผู้ส่งออกซื้อไปปรับปรุงและส่งออกราคาสูงถึง 300% จะแข่งขันได้อย่างไร”
นางธนมน วัฒนเรืองโกวิท รองประธานหอการค้า จ.ยโสธร กล่าวว่า จังหวัดยโสธรถือเป็นจังหวัดต้นแบบในการปลูกข้าวอินทรีย์มากที่สุดในประเทศไทย หรือ “ยโสธรโมเดล” ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมกลุ่ม 10 กลุ่ม มีพื้นที่ 46,664.75 ไร่ มีผลผลิตข้าว 16,115.5 ตัน โดยภาครัฐส่งเสริมให้โรงสีเข้าไปช่วยรับซื้อ ปีที่ผ่านมามีโรงสีเข้าร่วม 5 โรง ปีแรกให้ราคาเพิ่มจากปกติตันละ 500 บาท ปีต่อไปเพิ่มอีก 1,000 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ เหตุผลที่ตั้งราคาสูงและให้เงินอุดหนุนชาวนา เพราะการปลูกข้าวอินทรีย์ในช่วง 1-3 ปีแรก เกษตรกรจะไม่ได้ผลผลิตที่เป็นข้าวอินทรีย์ในทันที 100% ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนแปลงปีแรก ต้องยอมสูญเสียพื้นที่นาบางส่วน เพื่อนำไปปรับสภาพทำคันนา และผลผลิตข้าวต่อไร่จากนาอินทรีย์ในปีแรกจะลดต่ำกว่าปกติ จึงต้องช่วยซื้อราคาสูง
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังโรงสีหลายจังหวัดพบว่าเข้าร่วมโครงการน้อย เพราะต่างไม่เห็นด้วยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้โรงสีบวกราคารับซื้อข้าวอินทรีย์เพิ่ม ปีแรกให้ราคาเพิ่มจากปกติตันละ 500 บาท ปีต่อไปเพิ่มอีก 1,000 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับ เท่ากับว่าปีนี้หากราคาข้าวหอมมะลิตันละ 13,000-14,000 บาท โรงสีต้องรับซื้อข้าวอินทรีย์ตันละ 18,000-19,000 บาท แต่รัฐไม่ได้บังคับให้ผู้ส่งออกต้องบวกเพิ่มราคารับซื้อข้าวสารจากโรงสี ซึ่งเมื่อซื้อข้าวเปลือกแพงมาขายถูก โรงสีต้องแบกภาระขาดทุน ทั้งที่รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้เกษตรกรไปแล้ว ควรให้ราคารับซื้อเป็นไปตามกลไกตลาด
ข้าวอินทรีย์มีมอด
นายวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิตข้าวถุงหงษ์ทอง กล่าวว่า ปัญหาการส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ พบปัญหาข้าวบรรจุถุงแล้วมีมอด ทำให้ไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ตามหลักเกษตรอินทรีย์ ห้ามใช้สารเคมีตลอดทั้งกระบวนการผลิต การแก้ไขปัญหาทำได้ยากและต้องลงทุนเทคโนโลยีระดับสูง แต่เทียบกับขนาดตลาดที่มีสัดส่วนน้อยจึงไม่มีการลงทุน
นายมั่น สามสี เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มเกษตรกรนาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร กล่าวว่า การปลูกข้าวอินทรีย์ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรได้สุขภาพที่ดีขึ้น จึงทำให้มีเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ในจังหวัดยโสธรเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามยอมรับว่า เกษตรกรไม่สามารถแก้ปัญหามอดได้ แม้ว่าจะเร่งสีข้าวและบรรจุโดยเร็ว หรือหากใช้สมุนไพรมาแก้ไขมอด มีผลทำให้รสชาติและความหอมของข้าวเปลี่ยนไป
ลดนำเข้าสารเคมี
นายบู๊เฮียง รุ่งรัชกานนท์ เจ้าของ หจก.โรงสีข้าวเอกไพบูลย์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า เห็นด้วยกับการส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ เพราะไม่เพียงทำให้เกษตรกรมีสุขภาพที่ดี แต่ที่สำคัญยังช่วยลดปริมาณการนำเข้าสารเคมีและปุ๋ยอีกด้วย
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต