จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
“หมอเคลียร์ อย่าแตกตื่นดูมือถือมากทำเด็กตาเข ต้องห่วงจอประสาทตาเสื่อมมากกว่า”
จากกรณีโซเชียลมีการแชร์เรื่องราวของคุณแม่คนหนึ่ง ที่ต้องพาลูกสาววัย 5 ขวบ เข้าผ่าตัดตา หลังจากป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งระบุว่า เกิดจากการปล่อยให้ลูกดูแท็บเล็ตมากเกินไป (https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_580421) นี้เป็นหนึ่งในรูปแบบข่าวลวงที่เกิดจากความหวังดีอยากจะบอกต่อของคุณแม่ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นข่าวลวงที่ทำให้คนที่เข้ามาอ่านและแชร์ต่อเกิดความหวั่นวิตก
ทว่าในสังคมไทยเรานั้นยังมีข่าวลวงอีกหลายรูปแบบที่สร้างขึ้นเพื่อหลอกลวงผู้ที่ไม่รู้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเรื่องเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ อย่างสูตรสมุนไพรรักษาโรค รักษาได้แบบครอบจักรวาล เบาหวาน มะเร็ง รักษาได้หมด หรืออาหารเสริมสรรพคุณนางฟ้าที่ทานเม็ดเดียวผิวขาวใส ดีทอกซ์ลำไส้ ป้องกันโรค สิวยุบ ระเบิดไขมัน เครื่องตรวจสุขภาพที่อ้างทฤษฎีทางฟิสิกส์ในการใช้ตรวจสุขภาพ โดยการจับที่แถบแม่เหล็กของเครื่องก็สามารถวินิจฉัยความเสี่ยงโรคได้ หรือการตรวจสุขภาพด้วยเลือด 1 หยด เพื่อโยงเข้าสู่การขายอาหารเสริม เป็นต้น และยังมีข่าวลวงที่สร้างมาเพื่อทำลายคู่แข่งทางการค้าอย่างการโพสต์ภาพไก่และสุกรตายยกฟาร์มเชื่อมโยงกับข่าวไข้หวัดนกเมื่อหลายปีที่แล้ว
ในหลายๆ ข่าวลวงนั้นนำมาซึ่งความสูญเสียของบุคคลอันเป็นที่รัก เพราะสาเหตุจากความไม่รู้จากการที่หลงเชื่อข่าวที่อ้างวิทยาศาสตร์เทียม หรือบางคนเรียกว่า "ซูโดไซน์" (pseudo-science) บวกกับความโนของผู้เขียนข่าวลวงและคนอ่านเอง เลยทำให้มีผู้คนหลงเชื่อและบอกต่อกันไปมากมาย
ด้วยเหตุนี้เองจึงได้เกิดงานสัมมนา ‘รวมพลคนวิทย์..หยุดวิกฤติข่าวลวง’ เมื่อ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนคนไทยสามารถรับรู้ช่องทางที่จะทำให้เข้าถึงความจริงของข่าวลวงว่ามีที่มาอย่างไร ความจริงของข่าวนี้เป็นอย่างไร ทำอย่างไรจะหยุดข่าวลวงนั้นได้
นายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่า ข่าวลวงเหล่าที่มีการแพร่กระจายไปได้เร็วและมีผู้คนหลงเชื่อมากมาย จนเป็นที่มาของการเสียชีวิตโดยคนบางกลุ่ม นั้นเป็นเพราะว่าข่าวลวงส่วนใหญ่เป็นข่าวลวงที่เชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพ ความเชื่อและค่านิยมในสังคมโดยเฉพาะเรื่อง ขาว ผอม สูง ในบางข่าวยังได้แอบอ้างชื่อของบุคคลทางวิชาการอย่างหมอ หรือบุคคลทางการแพทย์ เพื่อทำให้ข่าวลวงนั้นดูสมจริงมากขิ่งขึ้น บ้างก็นำเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำลายความเชื่อของมนุษย์เช่นเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ชายท้องได้
ด้าน พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ผลิตและพิธีกรรายการ "ชัวร์ก่อนแชร์" สำนักข่าวไทย อสมท. กล่าวว่า ข่าวลวงที่นำมาแชร์ต่อๆ กันในปัจจุบันบางข่าวนั้น เป็นข่าวเก่าและมั่ว ซึ่งข่าวนั้นจะมาในรูปแบบของการแนะนำและเตือนเรื่องสุขภาพ หรือบางข่าวใช้เงินเป็นตัวชี้นำ โดยข่าวลวงนั้นจะมีวงจรดังนี้คือ "เกิดหวังดี แชร์ข้อมูล คนเห็นข้อมูล ตกใจกลัว เกิดความหวังดี..." วนไปอย่างนี้เรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น และจะมีคนที่ถูกหลอกจากการแชร์ในแต่ละครั้งเป็นเท่าพันทวี ก่อให้เกิดการเสียเวลา เสียหน้า เสียเงิน เสียสุขภาพและเสียชีวิต
ผศ.ดร.เอกรัฐ ศรีสุข รองประธานสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควทท.) และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือเรียนในสายวิทยาศาสตร์ทำให้สามารถเสพข่าวได้อย่างมีสติและไม่หลงเชื่อข่าวลวงง่ายๆ เพราะมีความสามารถในการใช้เครื่องมือได้หลากหลายชนิด สามารถตั้งข้อสังเกต วิจัย ตั้งโจทย์และนำไปสู่การแก้ปัญหาและหาความจริงได้
ส่วน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยนั้นมีปัญหาเรื่องการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ในห้องเรียนจะเน้นสอนแค่ตัวบท ตัวเนื้อหาแต่ไม่สอนให้นักเรียนสงสัยหรือตั้งคำถามกับสิ่งที่เจอ ทำให้คนไทยเชื่ออะไรง่ายๆ สำหรับวิธีการแก้ปัญหาเรื่องข่าวลวง
"เมื่อพบเห็นข่าวที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นข่าวลวง ให้หยุดแชร์หรือบอกคนรอบข้างให้หยุดแชร์บทความนี้ หรือนำบทความนั้นไปถามผู้รู้หรือปรึกษากับผู้รู้ และไม่แนะนำให้สำหรับบุคคลธรรมดาหรือผู้ที่ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาก ทำการทดลองเอง เพราะนั้นอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดยิ่งขึ้นไปอีก"
ขณะที่นักเทคนิคการแพทย์ ภาคภูมิ เดชหัสดิน เจ้าของเพจ “หมอแล็บแพนด้า” กล่าวย้ำว่า สำหรับนักวิทย์ฯ การออกมาแสดงความเห็นหรือความรู้ในสายวิชาที่เราไม่เชี่ยวชาญ อาจก่อให้เกิดข่าวลวงชิ้นใหม่ขึ้นมา ข้อแนะนำคือควรเช็คความถูกต้องจากผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่าข้อมูลที่เราค้นหามาหรือข้อมมูลที่เรามี เป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร แต่ถ้าหากข้อมูลที่นำไปแสดงความคิดเห็นหรือแย้งข่าวลวงนั้นผิดพลาดก็ต้องออกมา ยอมรับว่าผิดพลาดเพราะความจริงทางด้านวิทยาศาสตร์ไม่ตายตัว
"เรื่องที่เราเชื่อว่าถูกต้องในวันนี้ อาจเป็นเรื่องที่ผิดในวันหน้าเพราะเทคโนโลยีเครื่องมือต่างๆ สามารถทำให้เราเข้าถึงความจริงหลายๆ อย่างได้มากขึ้น แต่ที่สำคัญต้องมีความกล้าหาญในการแย้งสิ่งที่วิชาชีพหรือวิทยาศาสตร์เห็นว่ามันผิดและไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะการโต้แย้งจะนำไปสู่การหาความจริง"
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน