จากประชาชาติธุรกิจ
หวั่นไทยซ้ำรอยอิสราเอล เจอเชื้อไวรัสสายพันธุ์รุนแรงในปลานิล เร่งไทยวิจัยสายพันธุ์โรคใหม่ TiLV เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดหนักและกระทบการส่งออก เผยประเทศเพื่อนบ้านเริ่มปิดประตูไม่นำเข้าจากไทย ด้านกรมประมงเริ่มตรวจเข้ม พร้อมตั้งห้องปฏิบัติการตรวจโรคอย่างน้อย 8 แห่ง
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดเผยว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมนิสิตเก่าสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.จักร พิชัยรณรงค์สงคราม และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดงานสัมมนาวิชาการ “สถานการณ์ TiLV ของปลานิลในประเทศไทยเป็นแพะ หรือไม่” ขึ้น หลังจากที่องค์การโรคระบาดสัตว์ (OIE ) ขึ้นบัญชีเฝ้าระวังโรค (Tilapia Lake Virus : TiLV) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการปลานิลตายในเดือนแรกที่ปล่อยลงเลี้ยงเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ร่วมกับประเทศอิสราเอล เอกวาดอร์ โคลอมเบีย อียิปต์ ว่า ในส่วนของไทยหลังจากที่ตรวจพบโรคนี้ในฟาร์มเลี้ยงปลานิลที่จังหวัดเชียงราย กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ ปทุมธานี ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา กรมประมงได้ประกาศชนิดโรคเพิ่มเติมแล้ว เพื่อควบคุมโรคตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 แต่หากมีการระบาดของโรคอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง กรมจะประกาศควบคุมโรคแบบฉุกเฉินได้ทันที
นอกจากนี้ กรมได้กำหนดให้มีใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำว่า ไม่มี TiLV ในสินค้าที่นำเข้าในประเทศ รวมทั้งกักกันปลานิลและผลิตภัณฑ์ที่จะนำเข้ามาในประเทศในสถานกักกันที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงแล้ว เพื่อสุ่มตรวจหาเชื้อ TiLV ทางด้านการส่งออก ฟาร์มส่งออกจะต้องขึ้นทะเบียนฟาร์มเพื่อการส่งออก และมีการเฝ้าระวังโรคด้วยการตรวจหาเชื้อ TiLV จะต้องไม่พบเชื้อนี้เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน เพื่อแสดงสถานะปลอดโรค และจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจเชื้อไวรัสได้อย่างน้อย 8 แห่ง
ดร.จิราพร เกษรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์น้ำ กรมประมง กล่าวว่า ล่าสุดประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย งดการนำเข้าลูกปลานิลจากไทยไปเลี้ยงแล้ว จีนเริ่มเฝ้าระวัง ในขณะที่มาเลเซีย ห้ามนำเข้าปลานิลจากไทยเป็นเวลา6 เดือนแล้ว ดังนั้นแม้ว่าผลผลิตปลานิลในไทยจะไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไทยจำเป็นต้องมีการเร่งวิจัยด้านการระบาดวิทยาของโรคนี้ถึงปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดโรค ตรวจหาคุณสมบัติของเชื้อไวรัส TiLV ทางกายภาพ การจำแนกสายพันธุ์ TiLV ซึ่งการตรวจพบโรคนี้ในอิสราเอล เป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้ปลานิลตายถึง 80% การหาวิธีการป้องกันและรักษา วิธีการกำจัดเชื้อ ทางกายภาพและสารเคมี ศึกษาความรุนแรงและความสามารถในการก่อโรคของเชื้อไวรัส TiLV ในแต่ละระดับ เพื่อหามาตรการป้องกันการเกิดโรคโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อไทยที่ส่งออกปลานิลแช่แข็งในแต่ละปีจำนวนมาก
“ผลผลิตปลานิลของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับเกิน 2 แสนตัน/ปี มีปี 2551 ที่ผลผลิตลดลงบ้างจากปัญหาโรคปลา จากการตรวจสอบเป็นเชื้อไวรัส Steptococcus agalactiae ที่เหลือมีสารพัดโรค ปี 2554 จากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในภาคกลางที่เป็นแหล่งเลี้ยงใหญ่เสียหาย 100% และในปี 2558-2559 ผลผลิตลดลงจากปัญหาแล้งจัด ไม่มีน้ำเลี้ยงปลาและความร้อนสูง”
ในขณะที่นักวิชาการหลายรายให้ความเห็นว่า โดยภาพรวมการเลี้ยงปลานิลให้รอดและเกิดโรคระบาดน้อย ต้องเลี้ยงปลาไม่หนาแน่น ต้องบริหารจัดการเลี้ยงปลาให้ดีช่วงร้อนเกิน 32 องศาเซลเซียส ช่วงฝนตกขณะมีความร้อนสูง น้ำหลาก ออกซิเจนในน้ำต่ำ สารอินทรีย์สะสมในแหล่งเพาะเลี้ยงมากเกินไป เพราะเป็นปัจจัยให้ปลาเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายหลายชนิด นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงต้องใช้ไข่และพ่อแม่พันธุ์ปลอดโรค ใช้ PCR ตรวจคัดกรองพ่อแม่พันธุ์ ลูกปลา การตรวจภูมิคุ้มกันและพัฒนาวัคซีน การเลี้ยงปลาอายุเดียวกัน เพื่อลดการแพร่เชื้อและควบคุมเชื้อในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะการเลี้ยงในกระชังที่ป้องกันเชื้อโรคได้ยาก รายงานข่าวกล่าว
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต