จากประชาชาติธุรกิจ
“การเอามื้อสามัคคี” หรือ “การลงแขก” เป็นประเพณีไทยนับแต่อดีตที่ชาวนาจะขอแรงจากเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องมาช่วยกันทํานา และเกี่ยวข้าว ที่จําเป็นจะต้องอาศัยแรงงานจํานวนมากเพื่อให้งานสําเร็จลุล่วงทันเวลา แล้วจึงเวียนกันไปลงแขกในแปลงอื่น ๆ เป็นการตอบแทน
ด้วยเห็นถึงประโยชน์ของกิจกรรมดังกล่าว โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดินปี 5 ที่มาจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงจัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 2 ณ ไร่สุขกลางใจ จ.ราชบุรี ด้วยการนำมาถ่ายทอดเพื่อเป็นกรณีศึกษา และสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นผลสําเร็จในการเดินตามรอยพ่อ
สานต่อศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น
“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่าจากจุดเริ่มต้นของโครงการในปีที่ 1 เพื่อรวมพลังร่วมกันฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ในลุ่มน้ำป่าสัก จวบจนปัจจุบันโครงการสามารถขยายผลได้ถึง 24 ลุ่มน้ำ จากลุ่มน้ำทั้งหมดของประเทศไทย 25 ลุ่มน้ำ
ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ของโครงการเราจะนําเรื่องราว และตัวอย่างความสําเร็จของเครือข่ายในลุ่มน้ำต่าง ๆ ที่มีสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน มาถ่ายทอดเพื่อให้เกิดการแตกตัวขยายไปวงกว้างมากขึ้น
“กิจกรรมเอามื้อสามัคคีครั้งนี้มีเครือข่ายคนมีใจจากทั่วประเทศ จิตอาสาเชฟรอน และสื่อมวลชนกว่า 1,000 คน เข้าร่วมกิจกรรม จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการสู่ลุ่มน้ำแม่กลอง ที่แตกตัว และขยายผลอย่างต่อเนื่องจาก 16 รายมาเป็น 30 ราย นับเป็นการพิสูจน์ว่าศาสตร์พระราชาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้จริง ทั้งยังเป็นหนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้”
“ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล” คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวเสริมว่า เราใช้แนวคิดโคก หนอง นา โมเดล เช่น สร้างหลุมขนมครกกักเก็บน้ำ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ขุดคลองไส้ไก่ และสร้างฝายชะลอน้ำ มาใช้ในการลงแขกเอามื้อสามัคคี ซึ่งสามารถแก้ปัญหาด้านเกษตกรรมในไร่สุขกลางใจได้ เพราะดินใน จ.ราชบุรี เป็นดินทราย เราจึงต้องใช้การทำนาธรรมชาติ โดยมีกิจกรรมหลักคือการหมักดองดิน การทำร่องน้ำในนาข้าว การตกกล้า หรือหลกกล้าการดำนา และลงกล้านาโยน การปั้นหัวคันนา รวมถึงการบริหารจัดการแมลงในธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้สารเคมีด้วยการหมัก 7 รสทางการเกษตร
“คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. มุ่งหวังให้แต่ละพื้นที่ที่เราลงไปทำงานสามารถเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การทำงานในโครงการนี้เราจะคำนึงถึงขนาดของพื้นที่ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพของดิน รวมถึงความต้องการ และกำลังทุนทรัพย์ของเจ้าของพื้นที่ ด้วยความสำเร็จของรูปแบบดังกล่าว ทำให้รัฐบาลของประเทศไนจีเรียชวน สจล.ไปทำงานแก้ไขปัญหาด้านเกษตรกรรมในประเทศเขาด้วย เพราะมีลักษณะเป็นดินทรายเหมือนที่ จ.ราชบุรี”
นอกจากนั้น เรายังต่อยอดทำโครงการวิจัยการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยการติดตาม และประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วมขึ้นในนามศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. (ITOKmitl) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอน เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ และเป็นมาตรฐานในทางวิชาการ ใน 3 พื้นที่คือ จังหวัดลำปาง, อุดรธานี และตาก รวม 300 ไร่
“สุขะชัย ศุภศิริ” เจ้าของไร่สุขกลางใจ จ.ราชบุรี กล่าวเสริมว่าต้องการพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่าศาสตร์พระราชาสามารถพลิกฟื้นผืนดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารได้
“ผมตั้งใจจะทำนาบนพื้นที่นี้ จึงลงมือขุดบ่อน้ำ 12 ไร่เพื่อสร้างแหล่งน้ำไว้ใช้เอง รับมือวิกฤตน้ำที่อาจมาถึงในอนาคต ซึ่งผมตั้งใจว่าหลังเกษียณอายุราชการ จะกลับมาสร้างศูนย์เรียนรู้ชีวิตให้กับชาวบ้าน และเด็ก ๆ ในชุมชน และจะขอเป็นครูตลอดชีวิตทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน”
นับว่าความสำเร็จของโครงการ ช่วยยืนยันความสำเร็จของทฤษฎีการจัดการทรัพยากรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ครบทุกมิติ
#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง,#cutting resistance glove,ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต