สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สตึงมนัม ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก กรมชลชี้ EEC น้ำพอใช้ 10 ปี

จากประชาชาติธุรกิจ

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัมส่อถูกเก็บใส่ลิ้นชัก กระทรวงพลังงานเสียงอ่อย ปริมาณน้ำภาคตะวันออกมีเพียงพอความต้องการใช้ในพื้นที่ EEC พร้อมพับแผน ด้านกรมชลประทานชง 16 โครงการ ของบฯลงทุน 1.1 หมื่นล้าน เพิ่มความจุอ่างรองรับ การันตีอีก 10 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ชะลอโครงการสตึงมนัม เพื่อผลิตไฟฟ้า กำลังผลิต 23 เมกะวัตต์ และผันน้ำจากประเทศกัมพูชารวม 300 ล้าน ลบ.ม. มารองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่าง “ทบทวน” โครงการดังกล่าว โดยเน้นพิจารณาตัวเลขปริมาณน้ำในพื้นที่ใหม่ทั้งหมด ว่าตัวเลขที่แท้จริงเป็นอย่างไร

เพราะที่ผ่านมาในการประชุมร่วมหลายหน่วยงาน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมชลประทาน, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพลังงาน รวม 5 ครั้ง มีการระบุชัดเจนทุกครั้งว่า ปริมาณน้ำ “ไม่พอ” รองรับการใช้ของภาคอุตสาหกรรมแน่นอน ทำให้มีการผลักดันความร่วมมือในโครงการสตึงมนัมขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา และกระทรวงพลังงานเองได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และนำเสนอทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ที่สุด ที่จะทำให้ทั้ง 2 ประเทศได้รับประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงได้นำเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่นายกฯเป็นประธาน ซึ่งได้พิจารณาและเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าวแล้ว

ทบทวนตัวเลขความต้องการใช้น้ำ

อย่างไรก็ตาม หากมีการทบทวนตัวเลขปริมาณน้ำชัดเจนแล้วว่า ไม่ขาดแคลนแน่นอน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงการสตึงมนัม แต่ในกรณีน้ำในพื้นที่ดังกล่าวขาดแคลน ก็สามารถพัฒนาโครงการต่อไปได้ แต่อาจต้องปรับรูปแบบให้เหมาะสมและยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ หากโครงการนี้พัฒนาร่วมกันได้จะส่งผลให้มีความร่วมมือด้านอื่น ๆ ตามมาต่อเนื่อง ตามที่ได้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ก่อนหน้านี้

“ตอนนี้ความสำคัญมันอยู่ที่น้ำ รวมถึงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมก็ต้องชัดเจนด้วยว่า ต้องการโครงการดังกล่าวหรือไม่ กลายเป็นว่าตอนนี้ต่างฝ่ายต่างพูดกันไปคนละทาง ที่สำคัญคือกระทรวงพลังงานไม่ได้เดินดุ่ม ๆ ผลักดันโครงการนี้ แต่ทั้งหมดผ่านการหารือกับทุกฝ่าย และได้ข้อสรุปไปในทางเดียวกัน”

กรมชลฯชี้น้ำมีเพียงพอ

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เบื้องต้นกรมชลฯมีแผนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุน EEC ปริมาณกว่า 600 ล้าน ลบ.ม. ในระยะ 5 ปี จะเป็นการจัดหาน้ำจากแหล่งภายในประเทศ ควบคู่กับพัฒนาภาคการเกษตร ยืนยันว่ามีน้ำเพียงพอในระยะ 8-10 ปีแน่นอน แต่ที่ต้องพัฒนาเกษตรควบคู่ไปด้วยเพราะเป็นภารกิจหลัก แต่ช่วยสนับสนุน EEC ด้วย เราเองยืนยันกับคณะกรรมการบอร์ด EEC ว่ากรมชลฯมีความพร้อม

ล่าสุดมีแผนเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. เสริมอ่างเก็บน้ำเดิม สำหรับอ่างเก็บน้ำที่จะเพิ่มความจุของอ่างที่มีอยู่ 6 แห่ง อาทิ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล คลองใหญ่ สียัด หนองค้อ บ้านบึง มาบประชัน ใช้งบฯลงทุน 1,190 ล้านบาท และสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ 4 แห่งได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ คลองหางแมว คลองวังโตนด คลองประแกดจะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้บางส่วนที่เหลือจะแล้วเสร็จปี 2563

พร้อมสนองนโยบายรัฐ

ขณะที่นายเกิดชัย ธัญวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 9 ซึ่งรับผิดชอบบริหารจัดการน้ำครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด สระแก้ว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในภาพรวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้งหมดสามารถรองรับความต้องการใช้น้ำประเภทต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอ แม้อ่างเก็บน้ำบางแห่งอาจมีปริมาณน้ำน้อยกว่าความต้องการ แต่ใช้วิธีดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพและปริมาณน้ำเพียงพอมาช่วยเสริม ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกจึงไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กรมชลประทานจึงได้สั่งการให้สำนักชลประทานที่ 9 เตรียมจัดทำแผนงานโครงการเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรม นักธุรกิจ นักลงทุน ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยเร่งด่วน

อีอีซีขอใช้น้ำ 111 ล้าน ลบ.ม.

เบื้องต้นได้รับแจ้งว่า ภาคอุตสาหกรรมใน EEC ต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 111 ล้าน ลบ.ม. กรมชลฯจึงได้สั่งการให้เตรียมจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมแล้ว ทั้งนี้ สาเหตุที่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีขอจัดสรรน้ำจากกรมชลฯ เพียงแค่ 111 ล้าน ลบ.ม. ส่วนหนึ่งมาจากมีการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รองรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ โดยขยายจากพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดเดิมเพียง 50,000 ไร่

โดยในส่วนของอีสเทิร์นซีบอร์ดเดิมนั้นปริมาณน้ำมีพอใช้อยู่แล้ว เมื่อเปิดพื้นที่ใหม่เป็น EEC ปริมาณความต้องการใช้น้ำจึงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ประกอบกับอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนใน EEC ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมหนัก หรืออุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตหรือการแปรรูป แต่เป็นอุตฯที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ความต้องการใช้น้ำจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

ผุด 16 โครงการ งบลงทุน 1.1 หมื่น ล.

นายเกิดชัยกล่าวว่า สำหรับแผนการจัดหาน้ำระยะสั้นระยะยาวที่จัดทำไว้ มีทั้งหมด 16 กิจกรรม หลัก ๆ เป็นการขยายเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สามารถรองรับน้ำได้เพิ่มขึ้น โดยกรมชลฯอยู่ระหว่างเตรียมเสนอของบประมาณจากภาครัฐลงทุนรวม 11,000 ล้านบาท รายละเอียดของแผนงาน โครงการ มีการรวมแผนงานเดิมที่กรมชลฯดำเนินการอยู่แล้ว กับแผนงานพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ที่จัดทำขึ้นเพื่อรองรับพื้นที่ EEC โดยเฉพาะ

หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ ช่วงจากนี้ไปจนถึงปี 2563 อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 350 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมและนักลงทุนใน EEC ได้อีกราว 10-20 ปี

รองรับความต้องการใช้น้ำได้ 20 ปี

ด้านแหล่งข่าวจากกรมชลประทานเปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรมชลฯมีแผนสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำต้นทุนในพื้นที่ EEC โดยอาศัยโครงข่ายปัจจุบันที่พื้นที่ จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สามารถเชื่อมโยงแหล่งน้ำด้วยระบบท่อส่งน้ำ ผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ และระหว่างจังหวัด ดังนี้ ปี 2560-2561 กรมชลฯมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำ 10 โครงการ เพิ่มน้ำใช้ประโยชน์ได้รวม 40 ล้าน ลบ.ม. ปี 2561-2562 พัฒนาแหล่งน้ำ 4 โครงการ เพิ่มน้ำใช้ประโยชน์ได้รวม 150 ล้าน ลบ.ม. และปี 2563 เป็นต้นไป มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มรวม 13 โครงการ เพิ่มน้ำใช้ประโยชน์ได้รวม 430 ล้าน ลบ.ม.ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนเดิมที่มี 2,060 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็น 2,250 ล้าน ลบ.ม. และหลังจากนั้นในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 ซึ่งมีแผนงานก่อสร้างเพิ่มอีก 13 โครงการ จะทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนเดิมที่มีอยู่ 2,250 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็น 2,681 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้น 430 ล้าน ลบ.ม. จากนั้นหลังปี 2570 จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมรองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น


eosgear,#eosgear,ไร่รักษ์ไม้,#victorinox,#อะไหล่ victorinox,#victorinox มือสอง

Tags : สตึงมนัม ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก กรมชลชี้ EEC น้ำพอใช้ 10 ปี

view